“ไพบูลย์” ทรุดกลางวง ครม. ส่งรพ.ทำบัลลูนหัวใจด่วน!

“ไพบูลย์” ทรุดกลางวง ครม. ส่งรพ.ทำบัลลูนหัวใจด่วน!


(ข่าวจากนสพ.มติชน ฉบับวันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2550 หน้า 1)

                “ไพบูลย์” หวิดน็อคกลางวง ครม. มีอาการหน้ามืด-แน่นหน้าอก ขอนายกฯออกนอกห้องประชุมกลางคัน นำตัวส่ง รพ.รามาธิบดี ตรวจพบลิ่มเลือดอุดตันหัวใจ ต้องบัลลูนเร่งด่วน ล่าสุดพ้นขีดอันตราย แต่ยังต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด ยังตีบอีก 2 เส้นที่ต้องวางแผนรักษา เผยเหตุจากกรำงานหนัก นอนดึก

                นายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เกิดอาการแน่นหน้าอกและจะเป็นลม ระหว่างการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต้องนำตัวส่งโรงพยาบาลรามาธิบดี แพทย์ตรวจพบมีอาการหลอดเลือดหัวใจอุดตัน จึงขยายหลอดเลือดหัวใจโดยใช้วิธีบัลลูน ล่าสุดอาการพ้นขีดอันตรายแล้ว แต่ยังจะต้องวางแผนเพื่อรักษาภาวะเส้นเลือดหัวใจตีบอีก 2 เส้นต่อไป

                ทั้งนี้ เมื่อเวลา 13.45 น. วันที่ 9 ตุลาคม ระหว่างการประชุม ครม. นายไพบูลย์ได้มีอาการแน่นหน้าอกและหน้ามืดจะเป็นลม จึงเดินไปแจ้ง พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ที่เป็นประธานการประชุม เพื่อขอออกจากห้องประชุม ซึ่ง พล.อ.สุรยุทธ์ได้บอกให้ นพ.มงคล ณ สงขลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ติดตามออกไปดูอาการ ก่อนนำตัวส่งโรงพยาบาลรามาธิบดี โดยระหว่างที่นั่งรถเข็นเพื่อนำส่งโรงพยาบาลนั้น ผู้สื่อข่าวถามว่า กำลังใจยังดีหรือไม่ ซึ่งนายไพบูลย์ได้พยักหน้า ก่อนที่หลับตาพิงพนักเบาะรถ

                นพ.มงคลกล่าวว่า นายไพบูลย์มีสีหน้าซีดมาก นายกฯจึงสั่งให้ตามออกมาดูอาการ โดยสาเหตุที่ทำให้นายไพบูลย์เกิดอาการหน้ามืด เนื่องจากนายไพบูลย์ทำงานหนักมาก ทราบมาว่าเมื่อคืนวันที่ 8 ตุลาคม ที่ผ่านมา นอนดึกและต้องตื่นแต่เช้าเพื่อตรวจสอบรายละเอียดของการประชุม ครม. 

                “นายไพบูลย์บอกว่า รู้สึกแน่นหน้าออก ซึ่งเป็นอาการของคนที่เป็นความดันต่ำ ซึ่งผมได้ตรวจดูความดันของนายไพบูลย์ พบว่าอยู่ที่ 90/60 ซึ่งถือว่าต่ำมาก” นพ.มงคลกล่าว

                ผู้สื่อข่าวถามว่า นายไพบูลย์มีโรคประจำตัวหรือไม่ นพ.มงคลกล่าวว่า มีโรคเล็กๆ น้อยๆ ตามปกติของคนที่อายุขนาดนี้ ไม่มีอะไรรุนแรง 

                ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อนายไพบูลย์ถูกนำตัวถึงโรงพยาบาลรามาธิบดี แพทย์ได้นำตัวไปที่ห้องสวนหัวใจ ชั้น 2 ตึกศูนย์การแพทย์สิริกิติ์ เพื่อตรวจอาการ และพบว่าหลอดเลือดหัวใจตีบตัน จึงทำการขยายหลอดเลือดโดยใช้วิธีบัลลูน ซึ่งใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมงเศษ จากนั้นได้นำนายไพบูลย์ไปพักรักษาตัวที่ห้องซีซียู (CCU) หอผู้ป่วยเฝ้าดูอาการวิกฤต ชั้น 9 อาคาร 1 โดยมี นพ.มงคล นพ.พลเดช ปิ่นประทีป รัฐมนตรีช่วยว่าการ พม. และคุณหญิงชฎา วัฒนศิริธรรม ภริยานายไพบูลย์ เฝ้าดูแลอาการอย่างใกล้ชิด

                ต่อมา ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน คณบดีคณะแพทยศาสตร์ พร้อม ศ.นพ.อร่าม โรจนสกุล รองคณบดีฝ่ายบริหาร ศ.นพ.วินิต พัวประดิษฐ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลรามาธิบดี และ รศ.นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ หัวหน้าหน่วยโรคหัวใจ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ ในฐานะแพทย์เจ้าของไข้ ร่วมกันแถลงข่าวถึงอาการป่วยของนายไพบูลย์ โดย ศ.นพ.รัชตะกล่าวว่า ก่อนที่นายไพบูลย์เข้ารักษาตัว มีอาการแน่นหน้าอก วิงเวียนศีรษะ ซึ่งหลังจากแพทย์ได้ตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติมพบว่ามีอาการของหลอดเลือดหัวใจอุดตัน จึงได้รักษาด้วยการขยายหัวใจโดยใช้วิธีบัลลูนแล้ว ขณะนี้อาการแข็งแรงดี แพทย์เจ้าของไข้ให้พักรักษาตัวระยะหนึ่ง เพื่อเฝ้าระวังอาการแทรกซ้อนเฉียบพลัน  

                ด้าน รศ.นพ.สรณกล่าวว่า นายไพบูลย์มีอาการวิงเวียนศีรษะ แน่นหน้าอก ซึ่งเป็นภาวะของหลอดเลือดหัวใจอุดตัน หรือหลอดเลือดแดงอุดตัน ซึ่งเป็นโรคที่พบบ่อยและเป็นภาวะเร่งด่วน ทำให้เลือดไปเลี้ยงหัวใจไม่ได้ เนื่องจากมีลิ่มเลือดเข้าไปอุดตัน ทำให้เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตาย หรือ “ฮาร์ท แอทแท็ค” (Heart attack) ทั้งนี้ ถือว่าโชคดีที่เข้ารักษาตัวได้ทันท่วงที โดยแพทย์ได้ตรวจพบว่ามีภาวะหลอดเลือดหัวใจ 1 เส้น ถือเป็นภาวะเร่งด่วนต้องทำบัลลูน เพื่อขยายหลอดเลือดหัวใจ ร่วมกับให้ยารักษาอาการแน่นหน้าอก ทำให้มีอาการง่วงนอน ต้องได้รับการพักผ่อนอย่างเพียงพอ 

                “แพทย์ยังตรวจพบว่า นายไพบูยย์ยังมีภาวะเส้นเลือดหัวใจตีบอีก 2 เส้น ซึ่งยังไม่น่าเป็นห่วงแต่ต้องมีการวางแผนการรักษาภาวะดังกล่าวต่อไป” รศ.นพ.สรณกล่าว

                รศ.นพ.สรณกล่าวว่า นายไพบูลย์ต้องนอนพักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลอย่างน้อย 1 สัปดาห์ โดยต้องอยู่ในการดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด เนื่องจากแม้จะได้รับการรักษาด้วยการทำบัลลูนแล้ว แต่ก็ถือเป็นภาวะเสี่ยง เพราะอาจเกิดภาวะความดันตก หัวใจแปรปรวน และอาจเสียชีวิตได้ ดังนั้น ระยะนี้จึงต้องเฝ้าดูอาการก่อน และจำเป็นต้องจำกัดผู้เยี่ยม เนื่องจากผู้ป่วยจำเป็นต้องพักผ่อนอย่างเพียงพอ โดยคาดว่าอีกประมาณ 2-3 วัน คงย้ายไปห้องธรรมดาได้

                “ผู้ป่วยกรณีนี้ หากไม่ได้รับการดูแลรักษาอย่างดีพอ อาจทำให้เสียชีวิตได้ ข้อมูลที่ผ่านมาพบประมาณ 15 คน ใน 100 คน แต่กรณีนายไพบูลย์ไม่ต้องวิตกกังวล เพราะแพทย์ได้ดูแลอย่างใกล้ชิด ซึ่งโดยปกติหลังการรักษา 1-2 สัปดาห์ ก็สามารถทำงานได้อย่างปกติ” รศ.นพ.สรณกล่าว และว่า สำหรับปัจจัยเสี่ยงมีมากมาย อาทิ อายุที่มากขึ้น การสูบบุหรี่จัด ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง เบาหวาน ความเครียดในการทำงาน ซึ่งกรณีนี้เชื่อว่ามาจากความเครียด ดังนั้น แม้จะรักษาหายแล้วก็จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ทั้งด้านอารมณ์ และอาหารการกิน

                นพ.มงคลกล่าวว่า นายไพบูลย์ไม่เคยมีอาการของภาวะหลอดเลือดมาก่อน โดยอาการที่เกิดขึ้นอาจมีส่วนมาจากการทำงานอย่างหนัก แต่เชื่อว่าหลังจากเข้ารับการรักษาและพักฟื้นอย่างเต็มที่จะสามารถทำงานได้ปกติตามเดิม

                พล.อ.สุรยุทธ์ให้สัมภาษณ์กรณีนายไพบูลย์มีอาการหลอดเลือดหัวใจตีบเพราะทำงานมากเกินไปหรือไม่ว่า คงประกอบกันหลายอย่าง ไม่สามารถบอกได้ว่าเป็นเพราะอะไร ส่วนในเรื่องงานที่ต้องดูแลได้มีการแบ่งมอบหมายกันอยู่แล้วว่าใครที่จะปรับงานที่ดูแลในแต่ละส่วนได้ 

                รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาลแจ้งว่า ได้มีการสั่งยกเลิกภารกิจทุกภารกิจของนายไพบูลย์ไปจนถึงสิ้นเดือนตุลาคม ตามคำแนะนำของแพทย์ เพื่อให้นายไพบูลย์ได้พักผ่อนอย่างเต็มที่ ส่วนจะกลับเข้ามาทำงานที่ทำเนียบรัฐบาลได้เมื่อไหร่นั้น ต้องรอดูอาการและการอนุญาตจากแพทย์เป็นหลัก 

                ทั้งนี้ มีรายงานข่าวว่า นายไพบูลย์เคยมีอาการดังกล่าวมาแล้วครั้งหนึ่ง หลังเข้าร่วมรัฐบาลใหม่ๆ โดยเกิดขึ้นระหว่างปฏิบัติราชการในต่างจังหวัด แต่แพทย์ได้เข้ารักษาบรรเทาอาการได้ทันท่วงที โดยให้ออกซิเจนถึงห้องพักภายในสนามบิน พร้อมกำชับให้ลดงานให้เหลือน้อยลงและพักผ่อนให้มากขึ้น แต่นายไพบูลย์ยังไม่ยอมลดงาน มักจะอยู่ทำงานที่ทำเนียบจนดึกดื่นเป็นประจำ

อ้างอิง

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม

เว็บไซต์เดิม  :  https://www.gotoknow.org/posts/137481

<<< กลับ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *