โรงเรียนวิถีพุทธน่าชื่นชม : โรงเรียนบ้านจ้อง อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่

โรงเรียนวิถีพุทธน่าชื่นชม : โรงเรียนบ้านจ้อง อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่


     (7 มิ.ย. 49) ร่วมกับคณะที่ประสานงานโดย “ศูนย์คุณธรรม” ไปเยี่ยมศึกษาการดำเนินงานของ โรงเรียนบ้านจ้อง ต.ตลาดใหญ่ อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ (ก่อนเดินทางต่อไปประชุม “เครือข่ายสร้างสังคมคุณธรรม ครั้งที่ 1” ที่โรงแรมวายเอ็มซีเอ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ในวันเดียวกัน ดังนั้น จึงมีเวลาเยี่ยมศึกษาโรงเรียนบ้านแม่จ้องในเวลาเพียงสั้นๆประมาณ 1 ชั่วโมงครึ่ง)

โรงเรียนบ้านแม่จ้องเป็นหนึ่งใน “โรงเรียนวิถีพุทธ” ซึ่งมีจำนวนนับหมื่นโรงเรียนทั่วประเทศ แต่ที่ทำอย่างจริงจังและทำได้ดีอย่างโรงเรียนบ้านแม่จ้องน่าจะยังมีไม่มากเท่าใด

สำหรับโรงเรียนบ้านแม่จ้อง ได้รับเลือกจาก สพฐ. (สำนักงานการศึกษาขั้นพื้นฐาน) ให้เป็น “โรงเรียนต้นแบบวิถีพุทธ” หรือ “โรงเรียนวิถีพุทธกัลยาณมิตร” ซึ่งได้แก่ โรงเรียนที่ผู้บริหารและคณะครูมีความปรารถนาที่จะนำหลักธรรมสอดแทรกเข้าไปในวิถีชีวิตของครู นักเรียน และชุมชน อย่างจริงจัง และผู้บริหารและครูมีความทุ่มเท มีความรักกับงานโรงเรียนวิถีพุทธ ตลอดจนมีศักยภาพความพร้อมที่จะพัฒนาตนเองเป็นแม่ข่ายให้กับโรงเรียนวิถีพุทธอื่นๆ เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ช่วยเหลือเกื้อกูล และก่อให้เกิดพัฒนาไปด้วยกันและร่วมกันอย่างต่อเนื่อง

จากการเยี่ยมศึกษาเพียงชั่วโมงครึ่ง ได้เห็นและได้ฟังเรื่องน่าสนใจและน่าชื่นชมมากทีเดียวเกี่ยวกับโรงเรียนบ้านแม่จ้อง ซึ่งมีอาจารย์สนธิชัย สมเกตุ เป็นผู้อำนวยการ และคุณอนันต์ ยอดยิ่ง เป็นประธานคณะกรรมการสถานศึกษา มีนักเรียนชั้นอนุบาลถึง ป.6 รวมประมาณ 120 คน

การสร้างสรรค์ที่สำคัญ คือ การบูรณาการวิถีพุทธตลอดกระบวนการตั้งแต่นักเรียนมาถึงโรงเรียนจนกลับบ้าน ใช้หลัก “ศีล – สมาธิ – ปัญญา”, “Constructionism”, และ “บ-ว-ร (บ้านวัดโรงเรียน) แบบแม่จ้อง” ในการจัดการเรียนการสอนและการบริหารจัดการ

มีวิธีการบางอย่างที่เป็นนวัตกรรมแปลกจากที่ปฏิบัติกันทั่วไป (ห้องเรียนใต้ต้นไม้ เรียกห้องเรียนว่า “บ้าน…..” โดยไม่ระบุชั้น ให้นักเรียนนั่งกับพื้นรอบโต๊ะเรียนแทนนั่งเก้าอี้ ฯลฯ) แต่วิธีเหล่านี้ก็เป็นที่ยอมรับและเป็นโรงเรียนที่มีคนมาศึกษาดูงานกันมาก

ผลงานดีเด่นที่ภาคภูมิใจ ได้แก่ การได้รับรางวัลชนะเลิศ โรงเรียนส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรมดีเด่นระดับประเทศ ประจำปี 2548 ได้รับรางวัลชนะเลิศโรงเรียนรางวัลพระราชทาน ระดับประถมศึกษาโรงเรียนขนาดเล็ก ประจำปี 2548 และอื่นๆ อีกมาก

ปัจจัยที่ช่วยให้ประสบความสำเร็จ ได้แก่ การที่คณะผู้บริหาร คณะครู และชุมชน ตลอดจนเจ้าอาวาสและพระที่วัดซึ่งอยู่ติดกับโรงเรียน มีความร่วมมือกันดี ผู้บริหารและครูเป็นคนดี ปลอดอบายมุข รวมทั้งมีความอุทิศตน มีความมุ่งมั่นพยายาม มีความสามารถ มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ และปัจจัยอื่นๆ

สรุปแล้ว เป็นการเยี่ยมศึกษาแบบสั้นๆ ที่สร้างความประทับใจ ความชื่นชมยินดี และแรงบันดาลใจ ให้แก่คณะผู้เยี่ยมศึกษาได้ดีทีเดียว

ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม

26 มิ.ย. 49

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ  https://www.gotoknow.org/posts/35689

<<< กลับ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *