เปิดวิชันรมต.ด้านสังคม“กุญแจแห่งความสำเร็จ อยู่กับผู้ที่จะเข้ามาช่วยในการขับเคลื่อน”
บทสัมภาษณ์ลงในหนังสือพิมพ์สยามรัฐ ในคอลัมน์การเมือง เปิดวิชันรมต.ด้านสังคม ‘กุญแจแห่งความสำเร็จ อยู่กับผู้ที่จะเข้ามาช่วยในการขับเคลื่อน’ ฉบับวันที่ 14 เมษายน 2550 หน้าที่ 3
หลังเข้ามาศึกษางานพบว่า ขณะนี้ได้เกิดปัญหาหลายประเด็นที่ต้องรับผิดชอบยกตัวอย่างเช่น ปัญหาหมอกควันทางภาคเหนือ ที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ร่วมมือกันแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้ จึงมีการตั้งคณะกรรมการ เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวอย่างเร่งด่วน เพราะนอกจากจะกระทบกับปัญหาด้านสุขภาพและอนามัย ต่อประชาชนเป็นจำนวนมากแล้วนั้น ก็ยังเป็นปัญหาที่จะเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า ปีแล้วปีเล่า อีกทั้งจะทวีความรุนแรงมากขึ้น จึงถือเป็นปัญหาสังคมที่สำคัญ
ขณะเดียวกันได้มีเรื่องที่หยิบยกขึ้นมา เพื่อแก้ปัญหา อาทิ ปัญหาเรื่องสื่อ ที่ไม่เหมาะสม เนื่องจากเป็นปัญหาที่กระทบต่อความปลอดภัยและความเจริญ มั่นคงของเด็กและเยาวชน อาทิเช่น สื่ออินเตอร์เน็ต คลิปวีดีโอ วีซีดี ดีวีดี หนังสือ นิตยสารต่างๆ ตลอดจนหนังสือพิมพ์ ที่มีลักษณะยั่วยุ มีการประพฤติปฏิบัติที่ไม่เหมาะสม ที่จะนำไปสู่ภัยอันตราย จากสาเหตุการนัดหมาย เพื่อให้บริการทางเพศ และอื่นๆ ที่นำไปสู่อาชญากรรม ถึงขั้นที่เด็กถูกทำร้าย ล่อลวงก็มี ซึ่งมีการตั้งคณะกรรมการเพื่อศึกษาและแก้ไขแล้ว และจะดำเนินการแก้ปัญหาโดยด่วน
อีกกรณีคือ ปัญหาโรคเอดส์ ซึ่งประเทศไทย ขึ้นชื่อว่าเป็นประเทศที่ประสบความสำเร็จในการป้องกันปัญหาในกรณีดังกล่าว แต่ในรอบ 5 ปี ที่ผ่านมาปัญหาโรคเอดส์เพิ่มมากขึ้น อยู่ในสถานการณ์น่าเป็นห่วง เนื่องจากมาตรการเชิงป้องกันของประเทศไทยน้อยลงหลังจากที่เข้มงวดมาหลายปี จึงมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมา คือ คณะกรรมการเอดส์ชาติซึ่งมีผมเป็นประธาน ซึ่งจะมีการประชุมเพื่อคัดสรรค์ผู้ที่เหมาะสมเข้ามาช่วยเหลือเนื่องจาก การแก้ปัญหา จำเป็นต้องคัดสรรผู้ที่เหมาะสม เพราะกุญแจแห่งความสำเร็จ อยู่กับผู้ที่จะเข้ามาช่วยในการขับเคลื่อน การตั้งคณะกรรมการหรือให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาช่วยนั้นไม่ยาก แต่ที่ยากคือ บุคคลที่มีความสามารถ จริงจังในการขับเคลื่อน ซึ่งขณะนี้มีอยู่ในใจแล้ว
และเรื่องสุดท้าย คือ ปัญหาเกษตรกร ที่เพิ่งได้รับมอบหมาย ให้เร่งแก้ไขปัญหาเพราะเป็นปัญหาที่กระทบต่อเกษตรกรเป็นอย่างมาก และเป็นปัญหาที่พัวพันไปถึงเรื่องคุณภาพชีวิต ทั้งการเกษตร การทำมาหากิน รวมไปถึงเรื่องการพัฒนาชุมชน การสร้างความเข้มแข็งของครอบครัว ซึ่งการพยายามแก้ไข ต้องคิดในเชิงพื้นฐานในเรื่องการปรับโครงสร้างระยะยาว เพื่อแก้ไขปัญหาให้เกิดผลสำเร็จอย่างถาวร ไม่ใช่เป็นการแก้ไขเฉพาะหน้า
ในการนี้ จะมีคณะกรรมการ เพื่อคอยประสานงานให้ครบวงจร และหากพิจารณาและศึกษาก็พบว่า เรื่องนี้มีความเกี่ยวข้องกับเรื่องการจัดการ ทั้งในระดับฟื้นที่และชุมชนซึ่งเมื่อพูดถึงเรื่องดังกล่าว จะมีองค์ประกอบที่จะเข้ามาเกี่ยวข้องมากมาย เช่น กองทุนหมู่บ้าน โครงการแก้ปัญหาความยากจน ซึ่งหากนำมาผสมผสานจะพบว่าปัญหาที่เกิดขึ้นสามารถแก้ไขได้อย่างบูรณาการครบวงจร
มั่นใจหรือไม่ว่าการแก้ปัญหาในส่วนต่างๆ ให้เกิดผลสำเร็จเป็นรูปธรรม ?
เรื่องสำคัญ หากไม่ทำอะไรก็จะเป็นปัญหาของประชาชน ถ้าแก้ไขปัญหาสำเร็จก็จะเป็นผลดีของประชาชน ของประเทศชาติ ซึ่งจุดมุ่งหมายของรัฐบาล คือต้องแก้ไขปัญหาให้ได้ ผมรับหน้าที่รับผิดชอบก็ต้องแก้ปัญหาให้สำเร็จให้ได้ เพราะอย่างไรก็เป็นหน้าที่ที่จะต้องรับผิดชอบ
ที่ผ่านมาหลายฝ่ายออกมาวิพากษ์วิจารณ์การตั้งรองนายกฯด้านสังคม รู้สึกอย่างไรบ้าง
ตามโครงสร้างของรัฐบาล จะเห็นว่า มีรองนายกรัฐมนตรี 2 คน ดูแลงานด้านต่างๆ คนหนึ่งดูเศรษฐกิจ อีกคนดูสังคม ซึ่งการดูแลด้านสังคม ไม่ได้เป็นการทำงานแทนกัน เพราะในแต่ละกระทรวงจะมีหน้าที่ออกไป ซึ่งในฐานะรองนายกรัฐมนตรี ส่วนหนึ่งคือ การช่วยประสานงาน เพื่อให้เกิดการบูรณาการ ที่เป็นเรื่องสำคัญๆ ทางยุทธศาสตร์
หนักใจหรือไม่กับการทำงาน
ตามปรัชญาการทำงานของผม คือ การพยายามทำหน้าที่ให้ดีที่สุด ตระหนักว่าปัญหาแต่ละอย่าง เป็นปัญหาที่หนักและซับซ้อน เมื่อมาเป็นรัฐบาลก็ต้องดูแลปัญหาที่เกิดขึ้น และทำให้ดีที่สุด ให้ทำงานอย่างบูรณาการมากขึ้น ผสานกำลังในแต่ละท้องถิ่น ซึ่งมีความเคลื่อนไหวที่ชัดเจนมากขึ้น
สถานการณ์บ้านเมืองที่เกิดขึ้นขณะนี้รู้สึกอย่างไร
สถานการณ์บ้านเมืองของประเทศไทยอยู่ในสภาพที่แกว่งตัว มีความผันผวน ยังไม่ปกติ ซึ่งมีเหตุปัจจัยจากหลายๆ อย่าง ในฐานะรัฐบาลต้องดูแลช่วยในการดำเนินการแก้ปัญหา ให้การแกว่งตัวและไม่ปกติทั้งหลายลดน้อยลง เพื่อให้สภาพการณ์ที่เกิดขึ้นลงตัวมากขึ้น ในการนี้ สิ่งที่เราจะทำได้ทางหนึ่งก็คือ การพยายามแก้ปัญหาที่สำคัญๆ เพื่อคลี่คลายทั้งเศรษฐกิจและสังคม พร้อมๆ กับการสร้างสรรค์ด้านสังคม ควบคู่กัน ทั้งความไม่เข้าใจ ความขัดแย้ง ขณะเดียวกัน การสร้างสรรค์ การเพิ่มพลัง การสร้างความดี และสร้างความเข้มแข็งต้องทำไปด้วย เมื่อสังคมมีอะไรที่ดีเกิดขึ้น ก็จะทำให้สังคมเกิดความรู้สึกมั่นใจ อุ่นใจ พร้อมกันนั้นเราต้องพยายามลดปัญหาของสังคมไปด้วย เพราะหากสิ่งดีๆ เพิ่มขึ้น สิ่งที่เป็นปัญหาลดลง นั้นคือ สังคมที่ดีขึ้น ผู้คนมีความพอใจ จึงจะถือว่าผลงานของรัฐบาลประสบความสำเร็จ
ระยะเวลาของรัฐบาลอีก 7 เดือน เพียงพอหรือไม่ ในการแก้ไขสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น เนื่องจากสถานการณ์ยังไม่คลี่คลายและไม่ชัดเจน
สังคมมีชีวิตที่ยาวนาน ไม่ใช่เป็นปี ไม่ใช่ร้อยปี แต่เป็นพันๆ ปี มีเวลา 1วัน ก็ต้องทำให้เสร็จ มีเวลา 7 เดือน ก็ต้องทำให้เสร็จและที่เราจะทำได้ง่ายที่สุด คือ เราต้องทำงานให้มาก เรายินดีที่จะทำงานให้หนัก ทำล่วงเวลา ทำงานอย่างขะมักเขม้น ให้ได้ทั้งคุณภาพและปริมาณ เป็นสิ่งที่เป็นไปได้ และดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ หากได้ผลแค่ไหน ก็คงแค่นั้น ภายในเวลาที่มีอยู่ อย่างไรก็ตาม เชื่อว่า หากทำดีที่สุดแล้วก็น่าจะมีความก้าวหน้ามีการพัฒนา ในที่สุดจะเกิดความพร้อมในการเดินหน้าต่อไป สามารถส่งต่อให้กับรัฐบาลชุดต่อไปได้ทันที
ทั้งนี้โครงการต่างๆ ขณะนี้เกิดขึ้นหลายอย่าง เช่น ชีวิตมั่นคงปลอดอบายมุข มีโครงการส่งเสริมการให้ เพื่อช่วยเหลือสังคม เป็นต้น โดยมีงบประมาณ ซึ่งจะเคลื่อนไหวในปีนี้สมมุติว่า หากเราดำเนินการทางกิจกรรม 1 ปี จะเกิดผลเพียง 1 ปี แต่ถ้าเราปรับโครงสร้าง ปรับกลไกต่างๆ ก็จะมีผลในระยะยาว ไปถึงรัฐบาลชุดที่จะเข้ามาใหม่
ขณะเดียวกันต้องพยายามดูแลและจัดสรรเวลาการทำงานให้ถูกต้อง และเสริมในส่วนที่ต้องเห็นว่าเป็นนโยบายสำคัญที่กระทรวงต่างๆ ต้องให้ให้เข้าไปช่วยเหลือเป็นหลัก
สถานการณ์ความไม่สงบทั้งในภาคใต้และกทม.ที่เกิดขึ้นจะเข้าไปมีส่วนร่วมอย่างไรเพื่อแก้ปัญหา
ความสมานฉันท์เป็นสิ่งที่เราปรารถนา คือการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข ซึ่งในส่วนที่ผมเกี่ยวข้องและต้องดูแลรับผิดชอบ มี 2 เรื่อง คือ 1.การส่งเสริมกระบวนการเสวนา คือการพูดคุยกันในของผู้ที่เกี่ยวข้อง อย่างไรก็ดีเร็วๆ นี้กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ มีการจัดให้มีประชาเสวนา ในแต่ละอำเภอ กว่า 900 อำเภอ ทั่วประเทศ ซึ่งเป็นหนึ่งแนวทาง 2.เน้นบทบาทของประชาชน เพื่อรวมพลังในการต่อต้านสิ่งที่ไม่ดี เพื่อให้เกิดสิ่งที่ดีต่อสังคม ซึ่งถือเป็นสิ่งที่สมานฉันท์และเราทุกคนต้องการโดยเฉพาะประชาชน เพื่อที่จะร่วมกันแก้ปัญหา ซึ่งเป็นวิธีที่ดีอีกทางหนึ่ง หากทำได้ จะทำให้ผู้ที่แตกแยกกันมาเข้าร่วม จึงถือเป็นแนวทางสร้างสรรค์ ที่เป็นเชิงบวก ในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น
มองแนวโน้มสถานการณ์ของรัฐบาลภายหลังช่วงสงกรานต์จะเป็นอย่างไรบ้าง
ที่แน่ๆ คือไม่แน่นอน ซึ่งทุกอย่างย่อมไม่แน่นอน ยิ่งสภาวะการเมืองไทยในปัจจุบัน ถือว่ายังไม่ตกผลึก ยังมีการแกว่งตัวค่อนข้างมาก ฉะนั้นความไม่แน่นอนจึงมีอยู่สูง ผมก็ตั้งสติไว้ว่า จะต้องพยายามทำหน้าที่ให้ดีที่สุด ทั้งในส่วนของตนเอง และส่วนที่ร่วมกับคณะรัฐบาล
ไพบูลย์ วัฒนศริธรรม
18 เม.ย. 50
อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/90985