เงินการพนันหวย เพื่อพัฒนาสังคม?

เงินการพนันหวย เพื่อพัฒนาสังคม?


(ข่าวลงในคอลัมน์ “กวนน้ำให้ใส เมื่อน้ำขุ่น ‘สารส้ม’ จึงมากวนให้ใส” ของนสพ.แนวหน้า วันที่ 17 พฤศจิกายน 2549 หน้า 5)

                คุณไพบูลย์  วัฒนศิริธรรม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์  ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่า จะเสนอให้มีการจัดตั้งกองทุนเพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์พัฒนาสังคม โดยดึงเอาเงินกำไรจากการขายหวย 2 ตัว 3 ตัว ของสำนักงานกองสลากฯ ซึ่งเป็นการพนัน นำมาช่วยดูแลสังคม เช่นเครื่องอำนวยความสะดวก คนพิการ ผู้สูงอายุ ดูแลปัญหาเด็กและเยาวชน

                ประเมิณว่า กำไรจากการขายหวยบนดิน ปีละมากกว่า 10,000 ล้านบาท น่าจะได้มาใส่กองทุนฯ ปีละสัก 5,000 ล้านบาท

                แนวคิดนี้ เทียบเคียงมาจากกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริสุขภาพ (สสส.) ที่นำเงินจากภาษีเหล้าและบุหรี่มาตั้งเป็นกองทุนดำเนินการด้านสุขภาพ

                วิธีคิด คือ เมื่อเหล้ากับบุหรี่เป็นตัวทำลายสุขภาพ ก็เลยต้องเอารายได้ที่ได้มาจากเหล้ากับบุหรี่นั่นแหละ มาช่วยในด้านการเสริมสร้างสุขภาพ เช่นเดียวกัน เมื่อหวยเป็นการทำลายความมั่นคงของมนุษย์และการพัฒนาสังคม ก็เลยจะต้องนำเงินรายได้จากหวยนั่นเองมาช่วยในการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

                ถามว่า วิธีคิดแบบนี้ ผิดหรือไม่ ?

                ตอบว่า ไม่ผิด

                ถามว่า เห็นด้วยหรือไม่กับแนวคิดของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ที่อยากจะให้กองทุนเพื่อการสนับสนุนการขับเคลื่อนยุทธศาตร์ทางสังคม

                ตอบว่า เห็นด้วยเพียงครึ่งเดียว เพราะเห็นว่าบ้านเราได้ละเลยงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์มานานแล้ว

                ยิ่งกว่านั้น ในขบวนการพัฒนาสังคม คนที่เข้าอกเข้าใจดีที่สุดและทำงานมาต่อเนื่องยาวนาน ก็คือคุณไพบูลย์  วัฒนศิริธรรม นี่แหละ ท่านย่อมเข้าใจดีว่า งานพัฒนาสังคมมีหลายมิติ ซึ่งบางอย่าง หากดำเนินการผ่านกลไกที่เป็นกองทุนในลักษณะดังกล่าว ก็จะเกิดประสิทธิภาพประสิทธิผลดี ยิ่งกว่าการดำเนินการผ่านกลไกราชการปกติ

                ทั้งนี้ กองทุนที่จะตั้ง ก็จะต้องมีการบริหารจัดการที่ดี โปร่งใส ตรวจสอบได้ ตามอย่างแนวคิดที่รัฐมนตรีนำเสนอไว้

                แต่…ยังมีข้อคิดที่ควรพิจารณากันสักหน่อย

               ทำอย่างไรไม่ให้เหมือนยุครัฐบาลทักษิณ ที่เอาเงินหวยบนดินไปให้เป็นทุนการศึกษาเด็กๆ

               ทำให้เกิดค่านิยมสับสน เพราะการศึกษาเป็นของดี ส่วนการเล่นพนันหวยเป็นของไม่ดี แต่การพนันหวยกลับเป็นผู้มีพระคุณต่อการศึกษา คนเล่นหวยและเจ้ามือหวยก็ทวงบุญคุณเอากับสังคมได้ว่า เป็นการพนันหวยบนดินที่มีประโยชน์ต่อสังคม

                เด็กที่ได้รับทุนการศึกษา ก็สับสน เพราะโดยจิตสำนึกและการอบรมคุณธรรม ศีลธรรม ก็ได้รับการปลูกฝังว่าการพนันเป็นของไม่ดี เป็นอบายมุขอันเป็นหนทางสู่หายนะ แต่ในชีวิตจริงตนเองกลับเป็นหนี้บุญคุณกับหวยบนดิน !

                จะทำอย่างไรไม่ให้เกิดภาพที่ว่า การเล่นพนันหวยบนดิน หรือคนเล่นพนันหวยบนดิน หรือสำนักงานกองสลากฯ เป็นผู้มีพระคุณต่องานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ?

                ไม่ให้เกิดภาพว่า ประชาชนที่ได้รับประโยชน์จากกองทุนพัฒนาสังคมฯ ต้องเป็นหนี้บุญคุณของหวยบนดิน ?

                แม้การจะออกกฎหมายฯ ผ่านสภานิติบัญญัติ ในลักษณะคล้าย ๆ กับกองทุน สสส. ก็ช่วยให้เกิดความละมุนละม่อมส่วนหนึ่ง เพราะสามารถอธิบายได้ว่าเป็นกฎหมายที่ผ่านจากฝ่ายนิติบัญญัติ อุปโลกน์ว่าเป็นตัวแทนของประชาชน ถือว่าการเอาเงินหวยบนดินมาใช้เป็นเงินกองทุนฯ เป็นการทำตามกฎหมายบ้านเมือง ไม่ตกอยู่ภายใต้อาณัติของนักการเมือง หรือนโยบายของพรรคการเมือง

                แต่ก็ยังไม่อาจหลบเลี่ยงข้อเท็จจริงได้อยู่ดีว่า เงินที่จะเอามาตั้งเป็นกองทุนพัฒนาสังคมฯ นั้น นำมาจากเงินการพนันหวยบนดิน ที่ถือว่าเป็น “เงินบาป”

                “หวยบนดิน” ก็เอาไปคุยเป็นบุญคุณได้ว่า ถ้าไม่มีฉัน ก็ไม่มีกองทุนพัฒนาสังคมฯ !

                วิธีที่ดีที่สุด งดงามที่สุด แนบเนียนที่สุด มีอยู่แล้ว และใช้กันมายาวนาน คือ วิธีการงบประมาณแผ่นดินตามปกติ นั่นเอง

                หากเห็นว่า กองทุนพัฒนาสังคมฯ เป็นเรื่องที่ดี ควรจะทำ  รัฐบาลก็น่าจะจัดสรรเงินให้ผ่านกระบวนการงบประมาณแผ่นดินรายปี โดยเงินที่จัดสรรให้กองทุนดังกล่าว  ก็คือเงินภาษีอากรของคนทั้งประเทศ ไม่ว่าจะเป็นภาษีเงินได้  ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีสรรพสามิตร ฯลฯ  และรายได้ของรัฐจากกิจการต่าง ๆ รวมถึงเงินรายได้จากหวยบนดินด้วย

                วิธีนี้ “หวยบนดิน” จะไม่มีความชอบธรรมใดๆ ไม่สามารถทวงบุญคุณเอาจากการทำงานพัฒนาสังคมดังกล่าวได้เลย เพราะเงินทุนที่นำมาใช้ในกองทุนฯ ไม่ใช่เงินหวยบนดินโดยตรง แต่เป็นเงินของประชาชนทั้งประเทศ ที่ผ่านการคลุกเคล้าผสมผสานเงินภาษีอากรและรายได้ของรัฐจากิการต่างๆ เข้าด้วยกัน

                ในอนาคต ต่อให้ไม่มี “หวยบนดิน” ซึ่งเป็นการพนัน เป็นอบายมุขแต่ก็ยังจะมี “กองทุนพัฒนาสังคม”  ซึ่งเป็นการทำเรื่องดี ๆ เป็นหนทางของการพัฒนาสังคม ได้ต่อไป

                “หวยบนดิน” จะอ้างไม่ได้ว่า ถ้าไม่มีฉัน ก็ไม่มีกองทุนพัฒนาสังคมฯ ตรงกันข้าม เราคนไทยจะได้พูดได้เต็มปากว่า ถึงไม่มีหวย ไม่มีอบายมุข ไม่มีสิ่งเสื่อมทรามทั้งหลาย เราก็ยังสามารถทำสิ่งที่ดีงามขึ้นมาได้ในสังคมของเรา

ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม

22 ธ.ค. 49

 

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/68729

<<< กลับ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *