หลักการ กระบวนการ ขั้นตอนการสร้างเป้าหมายและตัวชี้วัดการพัฒนาชุมชนท้องถิ่น (1)

หลักการ กระบวนการ ขั้นตอนการสร้างเป้าหมายและตัวชี้วัดการพัฒนาชุมชนท้องถิ่น (1)


(เอกสารประกอบการอภิปราย หัวข้อ “ Reshaping Economic Development with Gross National Progress Index ” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ An International Conference “Asia : Road to New Economy” จัดโดย The Nation และ Asia News Network ที่โรงแรม Plaza Athenee เมื่อ 21 สิงหาคม 2552)

 

หลักการสร้างเป้าหมายและตัวชี้วัดการพัฒนาชุมชนท้องถิ่น

หลักการสร้างเป้าหมายและตัวชี้วัดการพัฒนาชุมชนท้องถิ่น มีทั้งหมด 7 หลัก

  1. คิดเอง ทำเอง คือ การสร้างตัวชี้วัดที่ควรเป็นเรื่องของแต่ละชุมชนและแต่ละท้องถิ่น ตัวชี้วัดที่ราชการคิดขึ้นมาเช่น จปฐ. เป็นตัวชี้วัดที่ดี แต่ชาวบ้านไม่ได้คิดเอง การใช้ประโยชน์จึงน้อย กลายเป็นว่ากำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เก็บข้อมูลให้ราชการ แต่ถ้าเป็นเรื่องของคนในตำบล (หน่วยที่มีการจัดการอย่างเป็นระบบขั้นพื้นฐานของท้องถิ่น มี อบต. / สภาองค์กรชุมชน ที่เป็นกลไกของประชาชนในการปกครองตนเอง) ที่สามารถเชื่อมโยงกับกลไกกับระบบราชการกลาง (ราชการส่วนภูมิภาคเชื่อมต่อกับท้องถิ่น) สังคมไทยเราการทำงานส่วนท้องถิ่น + ราชการภูมิภาค ยังไม่เชื่อมโยงการทำงาน เรากำลังเน้นเรื่องการทำงานของท้องถิ่น และภาคประชาชน (อยู่ระหว่างการเปลี่ยนผ่าน) ดังนั้นตัวชี้วัดแต่ละตำบลต้องคิดเอง ทำเอง และสามารถจะเรียนรู้เชื่อมโยงกับหน่วยงานอื่น ๆได้ แต่สุดท้ายชุมชนต้องตัดสินใจเอง ในที่สุด อะไรที่ชุมชนคิดเอง ทำเองจะถูกนำมาใช้ประโยชน์
  2. ร่วมมือ รวมพลัง ในท้องถิ่นมีหลายกลุ่ม / องค์กร ขบวนชุมชนท้องถิ่นต้องมีการร่วมมือ รวมพลังกันภายใน จึงจะสามารถได้รับความร่วมมือ กับ อบต. ราชการภูมิภาค สถาบันการศึกษา NGO เอกชน พ่อค้า นักธุรกิจ ซึ่งในส่วนของภาคธุรกิจถ้าจัดการเชื่อมโยงให้ดีสามารถจะมีบทบาทได้มาก เช่นที่จังหวัดโออิตะ ประเทศญี่ปุ่น ต้นแบบ OTOP เป็นเรื่องที่มีความลึกซึ้งมาก และมีการจัดการที่ดีจนมีชื่อเสียง ในระดับจังหวัดมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นกลไกการทำงาน แต่จะต้องมีการเชื่อมโยงปรัชญา แนวคิด เป้าหมาย การเชื่อมโยงกับธุรกิจ จึงเป็นปัจจัยที่สำคัญมาก หรือแม้กระทั่งนักการเมืองหากมีบทบาทที่เหมาะสมก็จะมีความสำคัญมากเช่นกัน ดังนั้นการให้ทุกฝ่ายเข้ามาร่วมกันได้จึงเป็นการดีที่สุด คือ ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะต้องร่วมกันอย่างเป็นมิตรอย่างสร้างสรรค์ มีเป้าหมายร่วมกัน คือ ชุมชนเป็นสุข
  3. อะไรก็ได้ เมื่อมาร่วมคิด ร่วมทำตัวชี้วัด ไม่ได้มีสูตรสำเร็จที่ตายตัว อาจจะศึกษาจากพื้นที่อื่นได้ แต่ไม่ใช่การเลียนแบบ ให้พิจารณาร่วมกันว่าอะไรดี อะไรเหมาะสมและใช้ฉันทามติเป็นตัวตัดสินใจร่วมกัน เช่น เมืองชีแอตเทิล สหรัฐอเมริกา มีการกำหนดตัวชี้วัดการพัฒนาที่ประชาชนมาร่วมกันกำหนดแล้วขอให้เทศบาลนำไปดำเนินการพัฒนา ประชาชนจะคอยติดตามผล ตัวอย่างตัวชี้วัด เช่น จำนวนปลาแซลมอนที่อยู่ในแม่น้ำ แสดงถึงคุณภาพของสภาพแวดล้อม หรือในบางพื้นที่ของบ้านเราเช่นที่บ้านจำรุง จังหวัดระยอง ในการดูคุณภาพดินให้ดูจากจำนวนไส้เดือนในดิน และมีการเปรียบเทียบปีต่อปี ดังนั้นเรื่อง เป้าหมายและตัวชี้วัดจึงเป็นสิ่งที่ชุมชนต้องเลือก จะเป็นอะไรก็ได้ที่คนในชุมชนพอใจร่วมกัน โดยเป้าหมายสุดท้ายของการพัฒนาอยู่ที่ความสุข หรือ “อยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน” อยู่กันสบาย สงบ สันติ ร่มเย็น ตรงข้ามกับอยู่ร้อน นอนทุกข์ และไม่ใช่ต่างคนต่างอยู่ แต่เป็นการอยู่ร่วมกันอย่างเป็นสุข ไม่ทำให้เกิดการแย่งชิงทรัพยากรของชุมชน ดิน น้ำ ป่า เป็นความสุขที่ไม่ไปสร้างความทุกข์ให้คนอื่น มีความสุขจากการช่วยเหลือ เกื้อกูลกันอย่างพอเพียง มีการปฏิบัติธรรมทำให้จิตใจดี “ความสุขร่วมกัน” จึงสามารถเป็นเป้าหมายร่วมของคนในตำบลได้ ซึ่งการที่ผู้คน ครอบครัว ชุมชน องค์กร จังหวัด ประเทศตลอดจนสังคมโลก จะอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกันได้นั้น จะต้องมีเสาหลักคอยค้ำจุน เป็นเสาหลักของการสร้างความเจริญ มั่นคง แข็งแรง และ“อยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน” ให้กับผู้คน ครอบครัว ชุมชน องค์กร จังหวัด ประเทศ ตลอดจนสังคมโลก โดยเสาหลักนั้นประกอบด้วย 3 เสาหลักคือ ความดี ความสุข และความสามารถ

 

ความดี ความสามารถทำให้มีความสุขและมีความสามารถจึงทำอะไรให้งานสำเร็จได้ ผลการพัฒนาต้องนำไปสู่ความสุข ความสุขจะอยู่ได้ไม่นานถ้าขาดความดีและความสามารถ ดังนั้นทั้ง 3 เสาหลักจึงพึ่งพา เกื้อกูลซึ่งกันและกัน และควรต้องมีทั้ง 3 เสาหลักให้มากพอและอย่างได้ความสมดุล

เหตุการณ์วิกฤตที่เกิดขึ้นในโลก สิ่งที่ทำให้เกิดคือ ความโลภ การแก่งแย่งแข่งขัน อยากรวย อยากใหญ่โต อยากมีกำไร เกินขอบเขต การสร้างเครื่องมือที่ทำให้คนวางใจว่าจะช่วย แต่ก็เป็นเครื่องมือที่มีความเสี่ยง ธุรกิจในอเมริกาจึงได้ล้มละลายและขยายไปทั่วโลกด้วยสาเหตุว่าความดีบกพร่อง ความดีจึงเป็นเรื่องสำคัญทั้งต่อสังคมและต่อเศรษฐกิจ

  1. คิดจริง ทำจริง ต้องตั้งใจและจริงจังกับความคิด คิดได้แล้วให้ลงมือทำไปเลย ไม่ต้องห่วงกังวลว่าจะผิดพลาด หรือไม่สมบูรณ์ เพราะในโลกนี้ไม่มีความสมบูรณ์ และความผิดพลาดจะเป็นบทเรียนให้เข้าใจและพัฒนาได้ดียิ่งขึ้น
  2. เรียนรู้ และพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เป็นการเรียนรู้จากสิ่งที่ลงมือทำ อาจเทียบเคียงกับตำบลอื่น ๆด้วย ทบทวนเหตุการณ์เพื่อเรียนรู้และพัฒนาต่อไป แบบที่อาจเรียกว่า “วงจรการพัฒนา” ซึ่งได้แก่( 1) คิดหรือวางแผน (2)ลงมือปฏิบัติ (3) วัดผลหรือประเมินผล และ(4) ปรับปรุงพัฒนา   ทั้ง 4 ข้อนี้ทำให้ เป็นวงจรต่อเนื่องไปเรื่อยๆ

การเรียนรู้และพัฒนาเป็นวงจรที่ต่อเนื่อง เหมือนกับพระต้องพิจารณาตนเอง เพื่อการปรับปรุงตนเอง การสร้างเป้าหมายและตัวชี้วัดก็เช่นกัน คิดไป ทำไป วัดผลประเมินผลไป และปรับปรุงพัฒนาไป   ก็จะเกิดการปรับปรุงพัฒนาตัวชี้วัดให้ดีขึ้นเรื่อยๆแม้เมื่อตอนเริ่มต้นอาจไม่ดีนัก

  1. ร่วมสร้างขบวนการ เป็นการขยายผลให้ครอบคลุมระดับอำเภอ จังหวัด ประเทศ จึงต้องใช้พลังและความพยายาม บทบาทนักวิชาการจะมีเพิ่มขึ้น ตั้งแต่ระดับตำบล เพราะมีหน่วยงานหลายหน่วยงาน ในระดับตำบล เช่น อนามัย สาธารณสุข เกษตร การศึกษา บทบาทของหน่วยงานที่มีข้อมูลในระดับตำบลจึงเป็นเรื่องสำคัญ และมีการใช้ระบบสารสนเทศ( IT) เข้ามาช่วยสนับสนุนตัวชี้วัดของชาวบ้านได้ การสร้างขบวนการเป็นเรื่องที่ต้องทำอย่างกว้างขวาง และให้ได้ผล มีหลักสำคัญเพื่อใช้ในการสร้างขบวนการ คือ N K C P M

N = Network                    เครือข่าย การเชื่อมโยง

K = Knowledge               ความรู้ ข้อมูล การศึกษาวิจัย การจัดการความรู้

C = Communication       การสื่อสาร สื่อต่าง ๆ  สื่อท้องถิ่น วิทยุ โทรทัศน์

P = Policy                         นโยบายระดับท้องถิ่น /จังหวัด /ประเทศ กฎหมาย /ข้อบังคับ /การจัดสรรงบประมาณ ที่เอื้ออำนวยหรือไม่เป็นอุปสรรค

M = Management            การบริหารจัดการที่ดี มีคุณภาพและมีประสิทธิภาพ

  1. แข็งขัน บันเทิง ต้องคิดและทำอย่างเอาใจใส่ มีความจริงจัง พร้อมกับมีความสุข ไม่ร้อนรนและเร่งรีบ ต้องทำไปแล้วมีความสุขด้วย เช่น รูปธรรมของคุณแหลม ชาวนาที่ยโสธร ทำงานพัฒนาต้องมีความสุขเพราะทำเรื่องดี ๆ

 

 

กระบวนการ ขั้นตอนการสร้างเป้าหมายและตัวชี้วัดการพัฒนาชุมชนท้องถิ่น

 

ในการสร้างเป้าหมายและตัวชี้วัดความสำเร็จของการพัฒนาชุมชนท้องถิ่น มีกระบวนการ ขั้นตอนการดำเนินงาน เปรียบเหมือนการเดินขึ้นบันได 5 ขั้น คือ

  1. มีเป้าหมายที่ดีและชัดเจน เป้าหมายร่วมกันของขบวนองค์กรชุมชนในแต่ละพื้นที่ คือประชาชนในพื้นที่นั้นมีความอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน และเราต้องร่วมกันสร้างเป้าหมายที่ดีและชัดเจนโดยถามตนเองว่า เป้าหมายเราดีไหม ชัดเจนไหม ที่สำคัญคือเราต้องรวมพลังกันให้ได้ เรื่องที่ทำจะง่าย แต่จะยากถ้าเราเห็นไม่ตรงกันหรือมีความเห็นขัดแย้งกันก็จะเป็นปัญหาตั้งแต่ต้น
  2. มีตัวชี้วัดความสำเร็จที่ดีและชัด หมายถึง เราต้องย้อนกลับไปดูเป้าหมาย กุญแจสำคัญคืออะไร มีกุญแจอยู่ 3 ดอก เพื่อไขไปสู่ความสำเร็จหรือเสาหลัก 3 ต้น ที่จะค้ำยันให้องค์กรชุมชนมั่นคง หรือกงล้อ 3 กงล้อ ที่จะหมุนไปเรื่อย ๆ ได้แก่

1) ความดี ถ้าเราปราศจากความดี จะไม่เกิดความอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน ความดี คือการทำสิ่งที่เป็นคุณ ไม่ทำสิ่งที่เป็นโทษ     และสร้างศักยภาพที่จะทำดีในตนเองและชุมชน

2) ความสามารถ เราอาจจะดี แต่ถ้าไม่สามารถก็ไม่ดี เราต้องคิดเป็น คิดเก่ง มีความสามารถในการทำ ทำได้ ทำเป็นในเรื่องต่างๆ เช่น ทำโต๊ะ เก้าอี้ ขนม ทำนา เกษตรอินทรีย์ เกษตรผสมผสาน ทำการค้า ทำธุรกิจ

3) ความสุข ความสุขในที่นี้ คือ สุขภาวะ หรือภาวะที่เป็นสุข ทั้งทางกาย จิตใจ จิตวิญญาณหรือปัญญา และความสุขทางสังคมหรือการอยู่ร่วมกันอย่างเป็นสุข ที่เริ่มจากในครอบครัว ในหมู่บ้าน ในชุมชน ในตำบล ในองค์กร ไปจนถึงในสังคม

 

ดังนั้น ถ้าเราจะสร้างตัวชี้วัด เราต้องสร้างตามหลัก 3 ข้อนี้ ซึ่งเพื่อให้รู้ว่า ถ้าจะให้มีความดีนั้นดูได้จากอะไร มีความสามารถด้านใดบ้าง เช่น ถ้าเรามีกลุ่มออมทรัพย์ซึ่งมีการจัดการที่ดี เราก็นำมาเป็นตัวชี้วัดความสามารถได้  ส่วนความสุข ถ้าเราจะดูความสุขทางกายเราก็อาจจะดูจากการเจ็บป่วย ถ้าจะดูความสุขทางใจอาจจะดูจากคนที่มีสุขภาพจิตดี   ดูความสุขทางสังคมก็อาจดูจากความสุขของครอบครัว ซึ่งเราต้องเลือกเพียงบางตัวที่เป็นประโยชน์ เพื่อตอบเป้าหมายใหญ่ให้ได้ รวมแล้วประมาณ 10-20 ตัวก็พอ เพราะถ้าทำเรื่องหนึ่งได้ดีจะหมายถึงเรื่องอื่นๆอีกหลายเรื่องก็จะดีด้วย มันจะสะท้อนกันและกัน เราจึงไม่ต้องวัดทุกเรื่อง แต่เลือกเพียงบางเรื่องที่เห็นว่าสำคัญและสามารถวัดได้ ถ้าสำคัญแต่วัดไม่ได้หรือวัดได้ยาก ก็ไม่ควรเลือก เช่นเรื่องที่เป็นนามธรรมหลายเรื่องมีความสำคัญแต่วัดได้ยากมาก

การสร้างเป้าหมายและตัวชี้วัด นี้ แต่ละพื้นที่ แต่ละท้องถิ่นอาจแตกต่างกัน ไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน บางพื้นที่อาจจะมีคล้าย ๆ กัน แต่ไม่ต้องเหมือนกันทีเดียว

  1. มีวิธีการที่จะได้ตัวชี้วัดที่ชัดเจนและเป็นไปได้อย่างต่อเนื่อง โดยสามารถระบุได้ว่าจะมาจากแหล่งใด โดยวิธีการใด ฯลฯ
  2. มีวิธีการที่ดีและเหมาะสมที่จะบรรลุเป้าหมายให้ได้ผลตามตัวชี้วัด ซึ่งสามารถทำได้หลายวิธี เช่นวิธีการประชุมปรึกษาหารือกันเพื่อสำรวจดูสิ่งที่ดีๆที่เรามีอยู่แล้ว หรือทำได้ดีอยู่แล้ว ว่ามีอะไรบ้าง หรือจะศึกษาเพิ่มเติมเรียนรู้จากที่อื่นก็ได้ ที่เขาทำแล้วได้ผลดี เราสามารถที่จะศึกษาเรียนรู้ได้จากทั้งทางงานวิจัย การศึกษาดูงาน การเข้าร่วมเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ หรือจากการค้นคว้าทางอินเตอร์เน็ตก็ได้ และนำมาพิจารณาว่าจะใช้ประโยชน์ได้อย่างไรหรือมีวิธีการอะไรที่เราจะนำมาปรับปรุงพัฒนากันต่อให้ดียิ่งขึ้นได้

ตัวอย่างธนาคารคนจนที่ชื่อธนาคารกรามีน ( Grameen Bank) ที่บังคลาเทศ ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2526 ประชาชนเป็นเจ้าของซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง (กว่า 90%) สามารถแก้ปัญหาความยากจนได้จริง ทุกสัปดาห์เขาจะมาประชุมกัน ก่อนประชุมเขาจะมีการกล่าวปณิธาน16 ข้อ บอกว่าเราจะมุ่งมั่นทำอะไรบ้าง เราจะไม่ทำอะไรบ้าง นั่นคือเขาทำความดี เขาสร้างความสามารถ และเขามีความสุข   ธนาคารแห่งนี้ดำเนินงานมาดีมากจนผู้ก่อตั้งซึ่งเป็นกรรมการผู้จัดการมาจนถึงปัจจุบัน ได้แก่ ดร.มูฮัมหมัด ยูนุส (Dr.Muhammad Yunus) ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ เมื่อ พ.ศ. 2549

  1. มีการติดตามผลที่ดีและเหมาะสม คือ ต้องวัดผล เช่น สภาองค์กรชุมชนฯ ทำงานมา 3 เดือน หรือ 6 เดือน ผลการทำงานเป็นอย่างไร เพื่อวิเคราะห์ สังเคราะห์ ระดมความคิด หาทางทำงานให้ดีขึ้น อะไรที่ดีหรือสำเร็จก็ขยายผลต่อ อะไรไม่ดีก็หาวิธีการแก้ไขปรับปรุงหรือพัฒนาอย่างต่อเนื่อง การติดตามผลจึงเป็นการเรียนรู้และพัฒนาอย่างต่อเนื่องนั่นเอง

 

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/291505

<<< กลับ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *