นโยบายเพื่อสนับสนุนความเข้มแข็งของชุมชน

นโยบายเพื่อสนับสนุนความเข้มแข็งของชุมชน


     (คำอภิปรายในเวทีนโยบายสาธารณะ ว่าด้วยเรื่อง “นโยบายเพื่อสนับสนุนความเข้มแข็งของชุมชน” เมื่อ 26 กันยายน 2548 ณ ศูนย์ประชุมสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ กรุงเทพมหานคร จัดโดยมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ)

                มี 2 เรื่องใหญ่ที่เราได้พูดกัน เรื่องที่ 1 คือ วิธีสร้างชุมชนเข้มแข็ง เรื่องที่ 2 คือวิธีสร้างนโยบายเพื่อสนับสนุนความเข้มแข็งของชุมชน

เรื่องชุมชนเข้มแข็งเป็นอย่างไร จะเกิดขึ้นได้อย่างไร จะไปช่วยกันทำให้มากขึ้นดีขึ้นได้อย่างไร เป็นเรื่องที่พูดกันมาเยอะ และทำกันมามากแล้ว ส่วนการสร้างนโยบายเพื่อสนับสนุนความเข้มแข็งของชุมชน ผมคิดว่า เรื่องนี้น่าจะเป็นประเด็นที่ผู้จัดให้ความสำคัญในเวทีนี้เพื่อที่จะนำไปพัฒนาต่อ

                การสร้างนโยบายเพื่อสนับสนุนความเข้มแข็งของชุมชน ควรจะมีองค์ประกอบย่อยอย่างน้อย 4 องค์ประกอบ องค์ประกอบแรกคือ คำว่า “นโยบาย” เรานึกถึงอะไรบ้าง ส่วนที่ 2 ระดับของนโยบายมีแค่ไหน ส่วนที่ 3 วิธีสร้างนโยบายทำอย่างไร และส่วนที่ 4 วิธีบริหารนโยบายเพื่อให้ได้ผลดีอย่างต่อเนื่องควรเป็นอย่างไร

ส่วนแรก องค์ประกอบสำคัญๆของคำว่า นโยบายประกอบด้วยอะไรบ้าง ก็น่าจะมีตั้งแต่ปรัชญาและแนวคิด มีเรื่องทิศทางและยุทธศาสตร์การพัฒนา จากนั้นก็เป็นเรื่องกฏหมายและข้อกำหนด มาตรการและโครงการต่างๆ แล้วมาถึงเรื่องการดำเนินการรวมถึงบทบาทของหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้อง เพราะฉะนั้นคำว่า “นโยบาย” น่าจะหมายถึงสิ่งเหล่านี้ เพื่อที่เราจะได้ชัดเจน

ส่วนที่สอง ระดับของนโยบาย น่าจะมีทุกระดับตั้งแต่ระดับท้องถิ่นขึ้นมา นโยบายจะมาจากองค์กรที่มีอำนาจ องค์กรที่เป็นหลักท้องถิ่น คือ อบต. หรือ เทศบาล เป็นองค์กรที่มีอำนาจ เมื่อมีอำนาจก็ต้องมีนโยบาย

ระดับจังหวัด เป็นจุดที่เราเรียกว่า การบริหารราชการส่วนภูมิภาค มีผู้ว่าราชการจังหวัดและคณะที่เกี่ยวข้อง ขณะเดียวกันเรามี อบจ. ซึ่งเป็นองค์กรที่ดูแลจังหวัด และในอนาคตเราคาดหมายว่า อบจ. จะเป็นองค์กรที่มีความสำคัญมากขึ้นๆ เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะเป็นปัจจุบันหรืออนาคต อบจ. ต้องเป็นองค์กรที่มีบทบาทกำหนดนโยบาย

                กลุ่มจังหวัด เป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่สามารถมีนโยบายได้เพราะว่ารัฐบาลชุดนี้พยายามบริหารงานในเชิงกลุ่มจังหวัด และสุดท้ายคือ ระดับประเทศ

เรื่องชุมชนนั้น สมัยนี้ต้องถือว่าไม่ใช่เป็นประเด็นเฉพาะในประเทศ แต่เป็นเรื่องสากลด้วย ฉะนั้นถ้าสามารถมีนโยบายระดับโลกได้ก็ยิ่งดี นั่นคือนโยบายที่ผ่านกลไกขององค์กรระหว่างประเทศ เช่น สหประชาชาติ หรือองค์กรระดับโลกอื่นๆ อย่างธนาคารโลก กองทุนการเงินระหว่างประเทศ องค์การการค้าโลก เป็นต้น เพราะนโยบายระดับโลกมีผลกระทบอย่างสำคัญต่อสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศ ดังนั้นถ้านโยบายจะไปให้ถึงที่สุดก็ต้องไปถึงระดับโลกด้วย

จากองค์ประกอบของนโยบาย และระดับของนโยบาย ก็ต้องไปคิดว่า แล้วกระบวนการสร้างนโยบายที่ดีทำอย่างไร นี่คือส่วนที่สาม ในประเด็นนี้ผมเห็นว่าควรมีเวทีการมีส่วนร่วมคิดเห็นตั้งแต่ระดับท้องถิ่น ระดับจังหวัด กลุ่มจังหวัด ประเทศ และระดับโลก มีการพัฒนาร่วมกัน มีการเรียนรู้ร่วมกันของหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อว่าเมื่อได้นโยบายที่ดีแล้ว เวลาปฏิบัติก็จะต้องมีการบริหารนโยบายที่ดี ซึ่งก็คือส่วนสุดท้ายหรือส่วนที่สี่ การบริหารนโยบายที่ดี คือ การทำไป มีการวัดผลไป พัฒนาไป โดยทุกฝ่ายมีส่วนร่วม

สิ่งที่ผมได้นำเสนอมาน่าจะเป็นโครงร่างเพื่อให้โครงการพัฒนานโยบายสาธารณะนำไปพิจารณา ถ้าเป็นไปได้ควรมีการศึกษาวิจัยเพื่อให้เห็นสิ่งที่เกิดขึ้นในที่ต่างๆที่มีความพยายามจะพัฒนานโยบายทำนองนี้ว่า มีแค่ไหนอย่างไร ซึ่งอาจจะมีความสมบูรณ์มากบ้างน้อยบ้าง ซึ่งถ้าเราได้ศึกษาวิจัยส่วนนั้นก็สามารถจะนำมาเสนอแนะต่อว่าจะเพิ่มเติมตรงไหน เน้นตรงไหน เพื่อที่จะได้นำข้อคิดนั้นๆไปปฏิบัติให้ได้จริงในทุกระดับของการพัฒนานโยบาย

ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม

28 ส.ค. 49

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ  https://www.gotoknow.org/posts/47072

<<< กลับ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *