นักการธนาคาร ผู้นำขบวนการชุมชนไทย (10)
“คอลัมน์“วิถีแห่งผู้นำ” โดย นพ.พลเดช ปิ่นประทีป เรื่อง“นักการธนาคาร ผู้นำขบวนการชุมชนไทย ตอน คือผู้นำขบวนการชุมชนไทยแห่งทศวรรษ” ลงใน นสพ.สยามรัฐ ฉบับวันที่ 25 ธ.ค. 50 หน้า 25
กล่าวโดยสรุปแล้ว ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม เป็นผู้ที่เกิดและเติบโตในชนบทภาคกลางของประเทศ ได้รับการศึกษาทางด้านเศรษฐศาสตร์จากประเทศอังกฤษโดยทุนของธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นลูกศิษย์คนสำคัญคนหนึ่งของ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์.
เมื่อจบการศึกษาแล้วในปี 2510 จึงได้เข้าทำงานที่ธนาคารแห่งประเทศไทย และดำรงตำแหน่งในสถาบันด้านการเงินการธนาคารหลายแห่ง โดยตลอด 20 ปีแรกของการทำงานเขาประสบความสำเร็จและก้าวหน้าในวิชาชีพอย่างต่อเนื่อง
แต่เขาได้หันเหเส้นทางชีวิตครั้งสำคัญในปี 2531 เมื่อต้องเข้ามาดูแลมูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์อย่างเต็มเวลาแทน ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ที่ลี้ภัยทางการเมืองในต่างประเทศในระยะ 20 ปีหลังที่เขาเปลี่ยนสถานะจากนักการธนาคารมาเป็นนักพัฒนาสังคมอย่างเต็มตัวนั้น เขาเป็นผู้มีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาแนวคิดวัฒนธรรมชุมชนอันเป็นแนวคิดที่แตกต่างไปจากแนวนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติที่เป็นกระแสหลักของประเทศอยู่ในขณะนั้น
ด้วยคุณสมบัติการเป็นผู้นำแบบเชื่อมประสาน ประกอบกับทักษะในการผลักดันทางนโยบายและการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์เพื่อการเปลี่ยนแปลงของเขา มีส่วนอย่างสำคัญที่ช่วยทำให้แนวคิดวัฒนธรรมชุมชนหรือสิ่งซึ่งเขาเรียกว่าการพัฒนาที่ “ชุมชนเป็นแกนหลัก พื้นที่เป็นตัวตั้ง” ได้รับการยอมรับมากขึ้นตามลำดับ จากเดิมที่มีสถานะเป็นเพียง “แนวคิดชายขอบ” มาเป็น “ทางเลือกของการพัฒนา” และเป็น “แนวคิดเศรษฐกิจและสังคม” จนกระทั่งเป็น “อุดมการณ์ของสังคม” ในที่สุด
ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ได้ใช้ความสามารถในการบริหารสถานะทางสังคมในแต่ละห้วงเวลา และอาศัยบุคลิกเฉพาะตัวที่ดีเลิศในการสร้างเสริมเครือข่ายการพัฒนาสังคมอย่างไม่รู้เหน็ดเหนื่อย จนเกิดเป็นขบวนการชุมชนเข้มแข็งที่ขยายตัวออกไปอย่างกว้างขวางทั่วประเทศ ในการนี้กลไกขับเคลื่อนทางยุทธศาสตร์สำคัญที่เขามีส่วนผลักดัน ประดิษฐ์คิดค้น และนำมาใช้ดำเนินการได้แก่ กองทุน LDAP, สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา (LDI), คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (NGO – COD), กองทุนพัฒนาชุมชนเมือง (UCDO), กองทุนเพื่อการลงทุนทางสังคม (SIF) , และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (CODI)
ผลสะเทือนจากแนวคิดวัฒนธรรมชุมชนที่เขาและเครือข่ายดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องได้ทำให้เกิดนวัตกรรมชุมชนเข้มแข็ง และองค์กรชุมชนจำนวนมากมาย และเกิดเครือข่ายองค์กรชุมชนที่หลากหลาย จนกลายเป็นขบวนการชุมชนไทยที่นับวันยิ่งเข้มแข็งและได้รับการยอมรับจากภาครัฐอย่างกว้างขวางไปโดยปริยาย
ด้วยจุดยืนที่มั่นคง ด้วยบทบาทและผลงานเชิงประจักษ์ตลอดระยะเวลา 2 ทศวรรษดังกล่าวข้างต้น ในวันนี้เราจึงสามารถกล่าวได้อย่างเต็มภาคภูมิว่า
“ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม คือ นักการธนาคาร และผู้นำขบวนการชุมชนไทย ผู้มีผลงานโดดเด่นแห่งทศวรรษ”
อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/156242