นักการธนาคาร ผู้นำขบวนการชุมชนไทย (9)

นักการธนาคาร ผู้นำขบวนการชุมชนไทย (9)


“คอลัมน์“วิถีแห่งผู้นำ” โดย นพ.พลเดช ปิ่นประทีป เรื่อง“นักการธนาคาร ผู้นำขบวนการชุมชนไทย ตอน ผู้นำสันติวิธีในกระแสวิกฤตการเมือง” ลงใน นสพ.สยามรัฐ ฉบับวันที่ 21 ธ.ค. 50 หน้า 25

ด้วยผลงานการพัฒนาสังคมที่ต่อเนื่องยาวนาน ด้วยการดำรงตนที่เปี่ยมไปด้วยการเสียสละเพื่อผู้อื่นและส่วนรวมอย่างเสมอต้นเสมอปลาย และด้วยการแสดงความคิดเห็น และบทบาทต่อการแก้ปัญหาของบ้านเมืองด้วยความเป็นกลางและวิถีทางสายกลาง ทำให้ ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม เป็นผู้ที่สังคมไทยให้การยอมรับและได้รับความเคารพนับถือ จากผู้คนในทุกวงการ ตั้งแต่ระดับชุมชนฐานราก จนถึงระดับสังคมชั้นสูง

ในช่วงปี 2530 เป็นต้นมา การเมืองไทยเริ่มมีนักธุรกิจเข้ามาเป็นผู้เล่นสำคัญเพิ่มขึ้นจากแต่เดิมที่มีแต่ทหาร ข้าราชการ และนักการเมือง นักธุรกิจเหล่านี้เติบโตขึ้นมาจากการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจในยุคเศรษฐกิจเฟื่องฟู และความต่อเนื่องของระบบรัฐสภา.

อย่างไรก็ตาม นักธุรกิจที่เติบโตขึ้นมาในช่วงนี้เติบโตขึ้นมาท่ามกลาง “ธนกิจการเมือง” ( Money Politics) เป็นแรงผลักดันอันหนึ่งที่ทำให้เกิดการเคลื่อนไหวปฏิรูปการเมือง เป็นที่มาของการสร้างองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญเพื่อคอยตรวจสอบนักธุรกิจการเมืองเหล่านั้น.

ในเวลาเดียวกัน 2 ทศวรรษที่ผ่านมากลุ่มพลังทางการเมืองของฝ่ายประชาสังคม ( Civil Society) ก็เติบโตขึ้นเป็นการเมืองนอกระบบรัฐสภา เป็นการเมืองภาคประชาชนที่คอยตรวจสอบนักการเมือง คอยเป็นพลังถ่วงดุลต่อการเมืองของนักการเมือง เป็นการเคลื่อนไหวทางการเมืองเพื่อเรียกร้องสิทธิเสรีภาพ และผลประโยชน์สาธารณะ

ในกระแสวิกฤตการเมืองไทยในช่วงล่าสุดระหว่างปี 2548 – 2549 ที่เกิดขึ้นจากการรวมตัวกันของพลังการเมืองนอกสภาของภาคประชาสังคมเรียกร้องกดดันให้รัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่กุมอำนาจเบ็ดเสร็จต้องรับผิดชอบต่อปัญหาการแทรกแซงองค์กรอิสระ ปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อน และปัญหาทุจริตคอร์รัปชัน ความขัดแย้งนั้นยืดเยื้อ และเผชิญหน้ากันมากขึ้นทุกที จนทำให้บ้านเมืองอยู่ในภาวะเสี่ยงต่อความรุนแรงเป็นอย่างยิ่ง ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม เป็นผู้หนึ่งที่คอยให้ความคิดเห็นเตือนสติผู้คนฝ่ายต่างๆ และเสนอทางออกอย่างสร้างสรรค์ตลอดเวลา สิ่งที่เขามักเรียกร้องอยู่เสมอก็คือ “สันติวิธี” และ “การพูดจาหารือกัน” ภาพพจน์ของเขาในช่วงนั้นคือ “ผู้นำสันติวิธี” ที่โดดเด่นคนหนึ่งทีเดียว

และในที่สุดเมื่อเหตุการณ์วิกฤตทางการเมืองนำมาสู่การรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เขาจึงเป็นผู้หนึ่งที่นายกรัฐมนตรีพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ ขอเชิญเข้าร่วมแก้ปัญหาของประเทศในรัฐบาลชุดเปลี่ยนผ่านที่ได้ชื่อว่าเป็น “รัฐบาลแห่งคุณธรรม” โดยเขาได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ซึ่งในภายหลังก็ได้รับการแต่งตั้งเป็นรองนายกรัฐมนตรีด้านสังคมอีกตำแหน่งหนึ่งด้วย

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/156239

<<< กลับ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *