นักการธนาคาร ผู้นำขบวนการชุมชนไทย (8)

นักการธนาคาร ผู้นำขบวนการชุมชนไทย (8)


“คอลัมน์“วิถีแห่งผู้นำ” โดย นพ.พลเดช ปิ่นประทีป เรื่อง“นักการธนาคาร ผู้นำขบวนการชุมชนไทย ตอน กระบวนการบ้านมั่นคง : นวัตกรรมแก้จนของชุมชนสลัม” ลงใน นสพ.สยามรัฐ ฉบับวันที่ 14 ธ.ค. 50 หน้า 18

จากประสบการณ์ บทเรียน และองค์ความรู้ในการแก้ปัญหาชุมชนยากจนในเมืองอย่างยาวนานภายใต้บทบาทภารกิจของกองทุนพัฒนาชุมชนเมือง ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม และเครือข่ายของเขา โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) ได้ค้นพบและพัฒนารูปแบบในการแก้ปัญหาความไม่มั่นคงในชีวิตของชาวสลัม โดยเฉพาะเรื่องที่อยู่อาศัยและคุณภาพชีวิต โดยใช้แนวทาง “บ้านมั่นคง” ที่ได้รับการขานรับอย่างกว้างขวางและแผ่ขยายไปอย่างรวดเร็ว ทั้งจากชุมชนยากจนในเมือง เจ้าของที่ดินที่ถูกบุกรุก องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (เทศบาล) และหน่วยงานรัฐบาลส่วนกลาง

ปัญหาคนยากจนในสลัมของเมืองใหญ่ๆ เกิดขึ้นจากการอพยพแรงงานจากชนบทเข้ามาดิ้นรนหางานทำ เสี่ยงโชค และแสวงอนาคตในเมือง มีการลักลอบสร้างที่พักชั่วคราวขึ้นมาโดยบุกรุกที่ดินของรัฐ ที่ดินสาธารณประโยชน์ ที่ดินของวัด และที่ดินเอกชน นานวันเข้าจึงกลายเป็นการตั้งถิ่นฐานรกรากโดยมีสมาชิกในครอบครัวและชุมชนเพิ่มขยายจนเกิดความแออัด ขาดแคลนสาธารณูปโภคพื้นฐานเพราะอยู่อย่างผิดกฎหมาย สิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรม คุณภาพชีวิตต่ำกว่ามาตรฐาน และเป็นแหล่งมั่วสุมที่ก่อปัญหาทางสังคมต่างๆ นานา นอกจากนั้นปัญหาการบุกรุกที่ดินได้นำมาซึ่งความขัดแย้งระหว่างผู้บุกรุกกับผู้เป็นเจ้าของที่ดิน เกิดการต่อสู้แย่งชิงสิทธิการใช้ประโยชน์จากที่ดินกันอย่างยืดเยื้อยาวนาน มีการวางเพลิงเผาบ้านเพื่อไล่ที่ มีการฟ้องร้องดำเนินคดีและมีการไล่รื้อชุมชนเพื่อนำไปทำประโยชน์ทางธุรกิจ. การแก้ปัญหาของชุมชนสลัมเหล่านี้พบปัญหาอุปสรรคมากมายทั้งในด้านกฎหมาย ในด้านสังคม ในด้านเศรษฐกิจ และในด้านสิทธิมนุษยชน

จากแนวคิดในการพัฒนาที่ใช้ชุมชนเป็นแกนหลัก และการแก้ปัญหาสังคมโดยมุ่งความมั่นคงของมนุษย์เป็นตัวตั้ง พอช. ได้นำมาใช้เป็นแนวทางของโครงการบ้านมั่นคง โดยมีขั้นตอนสำคัญดังนี้

ขั้นที่ 1 การส่งเสริมให้ชุมชนและชาวบ้านที่เป็นเจ้าของปัญหา มีการรวมตัวกันเป็นกลุ่มเพื่อจัดการปัญหาของตนโดยหลักการพึ่งตนเอง และพึ่งพากันเอง

ขั้นที่ 2 กลุ่มชาวบ้านมีกระบวนการออมทรัพย์อย่างมีสัจจะ เพื่อนำเงินออมมาเป็นทุนในการแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยของกลุ่มร่วมกัน ซึ่งเมื่อรวมกลุ่มกันจนมีความเข้มแข็งและมีความพร้อมถึงระดับก็สามารถจดทะเบียนเป็น “สหกรณ์เคหสถาน” ซึ่งมีสถานภาพเป็นนิติบุคคล

ขั้นที่ 3 กระบวนการกลุ่มทำการศึกษาปัญหาที่อยู่อาศัยและสภาพการณ์ต่างๆ โดยร่วมกันตัดสินใจ

· วิเคราะห์ลักษณะความเดือดร้อน มักพบว่าชุมชนสลัมมีความเดือดร้อนด้านที่อยู่อาศัย แบ่งได้เป็น 4 ประเภทคือ 1) ความแออัด และความมั่นคงในที่ดินเดิม 2) การบุกรุกแบบกระจัดกระจาย 3) มีปัญหาไฟไหม้ ไล่ที่ น้ำท่วม ภัยพิบัติ หนี้สิน ไร้บ้าน 4) มีความต้องการพัฒนาชุมชนในที่ดินแห่งใหม่

· ด้านความมั่นคงในที่ดิน มักพบว่ามีสภาพการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดแนวทางแก้ปัญหา แบ่งได้เป็น 4 รูปแบบ ได้แก่ 1) มีความยินยอมจากเจ้าของที่ดินให้ปลูกสร้างที่อยู่อาศัย 2) ให้ทำสัญญาเช่าระยะสั้น 3) ให้ทำสัญญาเช่าระยะยาว 4) เกิดการซื้อขายได้กรรมสิทธิ์ในที่ดิน

· ตัดสินใจทางเลือกในการปรับปรุงอาคารที่อยู่อาศัยและสภาพแวดล้อม ซึ่งมักพบว่ามี 4 แนวทาง ได้แก่ 1) ปรับปรุงและสร้างใหม่ในที่ดินเดิม 2) รื้อย้ายใกล้ที่ดินเดิม 3) รื้อย้ายออกจากบริเวณเดิม 4) จัดหาที่อยู่อาศัยรวมหรือเช่าในราคาถูก

ดังรายละเอียดที่แสดงโดยแผนภูมิที่ 2, 3, และ 4 (ที่มา : สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน)

ขั้นที่ 4 “สหกรณ์เคหสถาน” ของชุมชนใช้สิทธิในการกู้ยืมเงินจาก “กองทุน พอช.” เพื่อนำไปใช้ในการลงทุนจัดหาที่ดิน และ / หรือพัฒนาที่อยู่อาศัยร่วมกันของกลุ่มสมาชิก
ขั้นที่ 5 กระบวนการกลุ่มร่วมกันออกแบบชุมชน บ้านอยู่อาศัย และสภาพแวดล้อมในที่ดินที่จะทำการปรับปรุง โดยมีสถาปนิกชุมชนและช่างชุมชนเข้าร่วมสนับสนุนทางเทคนิคจัดการเพื่อจัดทำรายละเอียด
ขั้นที่ 6 พัฒนาที่อยู่อาศัยและสิ่งแวดล้อม โดยอาศัยแรงงานและการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนและสมาชิกสหกรณ์ฯ
ขั้นที่ 7 การขนย้ายเพื่อกลับเข้าอยู่ในบ้านและสิ่งแวดล้อมใหม่
ขั้นที่ 8 ร่วมกันสร้างเสริมความเข้มแข็งของชุมชนและพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืน บนหลักการพึ่งตนเอง ด้วยแนวทางของโครงการบ้านมั่นคงดังกล่าวข้างต้นนี้ ทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีทางออกสำหรับการแก้ปัญหาของชาวบ้านที่บุกรุกและปัญหาของเจ้าของที่ดิน โดยมีสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐเป็นคนกลางในการเจรจาต่อรอง นอกจากนั้นยังได้รับการขานรับจากเทศบาลและหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องอย่างกว้างขวาง เพราะเป็นแนวทางแก้ปัญหาด้วยสันติวิธีอย่างแท้จริงและปฏิบัติได้จริง. โครงการบ้านมั่นคงจึงแตกต่างจากโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยโดยทั่วไปที่มุ่งเพียงการสร้างที่อยู่อาศัย โดยมิได้สร้างชุมชนและสังคมที่เข้มแข็งควบคู่ไปด้วย จึงทำผู้คนที่อยู่มีสภาพต่างคนต่างอยู่ ไม่รู้จัก และไม่มีความสัมพันธ์ต่อกัน โครงการบ้านมั่นคงเป็นความพยายามในการฟื้นคุณค่าการอยู่อาศัยและการจัดการร่วมกันของคนในชุมชน โดยการสร้างความสัมพันธ์ และสร้างระบบชุมชน ทั้งการจัดระบบที่ดิน การสร้างทุนสำหรับการพัฒนา สร้างระบบสวัสดิการ การอยู่ร่วมกันแบบพี่น้องและร่วมกันจัดการเรื่องต่างๆ ด้วยการมีส่วนร่วมจากสมาชิกในชุมชน เป็นการสร้างความมั่นคงทางสังคม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรมไปพร้อมๆ กับการพัฒนากายภาพของที่อยู่อาศัยและสภาพแวดล้อมชุมชน การร่วมกันทำงานและแก้ปัญหาของชุมชนและองค์กรต่างๆ ในท้องถิ่นได้ทำให้เกิดพลังการแก้ไขปัญหา และสร้างการพัฒนาร่วมกันได้มากมาย พลังเหล่านี้ทำให้การเจรจาต่อรองแก้ไขปัญหาที่ดินที่เป็นปัญหาสำคัญที่สุดของชุมชนแออัดสามารถเกิดขึ้นได้ ชุมชนสามารถเช่าที่ดินระยะยาวจากหน่วยงานรัฐและเอกชน รวมทั้งการซื้อที่ดินราคาถูกจากเอกชนเพื่อนำมาจัดทำเป็นที่อยู่อาศัยร่วมกันของชุมชน จึงอาจกล่าวได้ว่ารูปแบบโครงการบ้านมั่นคงทำให้เกิดการปฏิรูปที่ดินในเมืองเพื่อนำที่ดินของรัฐและเอกชนมาสร้างที่อยู่อาศัยที่มั่นคงพร้อมกับการมีสิทธิให้กับคนจนในเมือง รวมไปถึงการผ่อนปรนกฎหมาย และกติกาการก่อสร้างที่ยังคงมีมาตรฐานห่างไกลกับฐานะความเป็นจริงของคนในชุมชนแออัด แนวทางบ้านมั่นคงในปัจจุบันได้รับการยอมรับทั้งในประเทศ และวงการพัฒนาระหว่างประเทศอย่างกว้างขวาง มีหน่วยงานด้านการพัฒนาที่อยู่อาศัยในต่างประเทศไม่ต่ำกว่า 17 ประเทศได้มาศึกษาดูงานและแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับสถาบัน พอช. และชุมชนที่เกี่ยวข้อง ในโอกาสจัดงานมหกรรม “วันที่อยู่อาศัยโลก 2005” ระหว่างวันที่ 3 – 8 ตุลาคม 2548 Dr. Anna Kajumulo Tibaijuka ผู้อำนวยการ UN – Habitat ซึ่งมาร่วมงานด้วย ได้กล่าวไว้อย่างน่าสนใจว่า “บ้านมั่นคงเป็นการพัฒนาโดยชุมชนเป็นหลัก ชาวบ้านเป็นผู้จัดการเองทั้งเรื่องบ้าน เรื่องที่ดิน เรื่องการจัดการระบบชุมชน โดยได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานในท้องถิ่น อีกทั้งรัฐบาลไทยถือเป็นนโยบายสำคัญ ดังนั้น บ้านมั่นคงจึงเป็นทิศทางสำคัญที่ทั่วโลกควรได้เรียนรู้ เพื่อทำให้คนจน 100 ล้านคนมีที่อยู่อาศัยที่มั่นคงภายใน ค.ศ.2020” สำหรับผลการดำเนินการตามแนวทางบ้านมั่นคง เริ่มต้นอย่างจริงจังตั้งแต่ปี 2546 เป็นต้นมา จนถึงปัจจุบัน (2550) ได้ดำเนินการไปแล้ว 485 โครงการ ใน 75 จังหวัดทั่วประเทศ จำนวน 226 เทศบาล ใน 958 ชุมชน โดยมีครอบครัวที่เข้าร่วมโครงการ 52,780 ครอบครัว และรัฐบาลชุดปัจจุบันได้อนุมัติการสนับสนุนให้ดำเนินการต่อเนื่อง โดยมีเป้าหมายในปี 2554 เป็นจำนวนสะสม 200,018 หน่วยทั่วประเทศ ดังรายละเอียดในตารางที่ 3 ตารางที่ 3 : แสดงการขยายตัวของขบวนการบ้านมั่นคง ซึ่งเป็นนวัตกรรมรูปแบบการแก้ปัญหาความมั่นคงด้านที่อยู่อาศัยของชุมชนสลัมในเมือง

ที่ที่มา : สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.)

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/154933

<<< กลับ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *