ธรรมาภิบาลของสถาบันการเงินในระดับฐานราก
คำนิยมเอกสารวิจัย “ธรรมาภิบาลของสถาบันการเงินในระดับฐานราก” โดย รศ.ดร.สันติ ถิรพัฒน์ น.ส.เพียงดาว วัฒนายากร และคณะ
“ชุมชน” เป็นฐานรากสำคัญของสังคม ถ้าชุมชนเข้มแข็งมั่นคง จะช่วยให้สังคมมีความแข้มแข็งมั่นคง ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และอื่น ๆ แต่ถ้าชุมชนอ่อนแอ จะเป็นปัจจัยให้เกิดระบบอุปถัมภ์นิยม อำนาจนิยม ได้ง่าย บั่นทอน ปิดกั้นไม่ให้เกิดระบบเศรษฐกิจที่เป็นธรรมและมั่นคง บั่นทอนปิดกั้นไม่ให้สังคมมีความเท่าเทียมเป็นธรรม และบั่นทอนปิดกั้นไม่ให้เกิดประชาธิไตยแบบประชาชนร่วมไตร่ตรอง (Deliberative Democracy) รวมทั้งขาดความมั่นคงเข้มแข็งเป็นธรรมในระบบการเมืองการปกครอง
ดังนั้น อะไรก็ตามที่เอื้ออำนวยให้ชุมชนมีความเข้มแข็งมั่นคง ย่อมเป็นเรื่องพึงส่งเสริมสนับสนุนและศึกษาวิจัย เพื่อช่วยให้เกิดความเข้าใจและเพิ่มเติมองค์ความรู้ อันจะเป็นประโยชน์ในการแก้ไขป้องกันปัญหาและหรือส่งเสริมพัฒนาในเรื่องนั้น ๆ ให้เกิดสภาพที่พึงปรารถนามากยิ่งขึ้น
“ชุมชน” จะเข้มแข็งมั่นคงได้ ต้องมีระบบการบริหารจัดการที่มีคุณภาพและประสิทธิภาพ ทั้งในกรณีระบบการบริหารจัดการชุมชนโดยรวม และในกรณีระบบการบริหารจัดการองค์ประกอบใดองค์ประกอบหนึ่ง หรือมิติใดมิติหนึ่งของชุมชน
“องค์กรการเงินในระดับฐานราก” หรือ องค์กรการเงินชุมชน” เป็นองค์ประกอบที่สำคัญของชุมชน เพราะองค์กรการเงินชุมชนเป็นทั้ง “เป้าหมาย” ของการพัฒนาชุมชน (ให้สมาชิกชุมชนและชุมชนโดยรวม มีความมั่นคงทางการเงิน) ทั้งยังเป็น “เครื่องมือ” สำคัญในการนำสู่การพัฒนาชุมชนโดยรวม เพราะ “องค์กรการเงินชุมชน” ที่ดี จะหมายถึงการมีคุณธรรม จริยธรรม ซึ่งรวมถึงการมี ความซื่อสัตย์สุจริต ความพากเพียรอดทน ความรักความสามัคคีเอื้ออาทรแบ่งปัน และอื่น ๆ “องค์กรการเงินชุมชน” ที่ดี ยังหมายถึงการมีความรู้ ความสามารถที่ดี อันเป็นองค์ประกอบสำคัญข้อหนึ่งของชุมชนที่จะเข้มแข็งมั่นคงได้ และ “องค์กรการเงินชุมชนที่ดี” จะเป็นองค์กรที่มีความซื่อสัตย์ โปร่งใส รับผิดชอบ ร่วมคิดร่วมทำ และอื่น ๆ ซึ่งคือรากฐานสำคัญของการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่ดี ทั้งในระดับท้องถิ่น และในระดับชาติ นอกจากนั้น “องค์กรการเงินชุมชน” ที่ดี ยังมักจะมีมิติของการช่วยดูแลสวัสดิการและความอยู่เย็นเป็นสุขของสมาชิกชุมชน ทำให้ชุมชนโดยรวมมี “ความสุข” อันเป็นผลลัพธ์สุดท้ายข้อสำคัญของการพัฒนาหรือของการเมืองการปกครองในระดับชุมชน
“องค์กรการเงินในระดับฐานราก” หรือ “องค์กรการเงินชุมชน” มีอยู่จำนวนมากกว่า 100,000 แห่ง และกระจายตัวอย่างกว้างขวางอยู่ในทุกจังหวัดในประเทศไทย จึงนับว่ามีความสำคัญมาก และเป็นองค์ประกอบสำคัญในการพัฒนาชุมชนให้เข้มแข็งมั่นคง ตลอดจนมีความสำคัญต่อการพัฒนาระบบการเมืองการปกครองของประเทศไทย ทั้งในระดับชุมชนและในระดับชาติ การช่วยให้องค์กรการเงินชุมชนมีการพัฒนาก้าวหน้าต่อไปอย่างเข้มแข็งมั่นคงจึงเป็นเรื่องที่ดีและควรสนับสนุน ซึ่งองค์กรการเงินชุมชนจะพัฒนาก้าวหน้าอย่างเข้มแข็งมั่นคงต่อไปได้ ต้องมีองค์ประกอบสำคัญ 3 ประการ ได้แก่ (1) “มีความดี” ซึ่งรวมถึงการมี “ธรรมาภิบาล” ในการบริหารองค์กร (2) “มีความสามารถ” ซึ่งหมายถึง การบริหารองค์กรที่มีคุณภาพ มีประสิทธิภาพ มีผู้บริหารและบุคคลากรที่ดี ซึ่อสัตย์สุจริต ขยันหมั่นเพียร อุทิศตนเพื่อส่วนรวม เป็นต้น ซึ่งส่วนหนึ่งของความสามารถดังกล่าวรวมอยู่ในคำว่า “ธรรมาภิบาล” เช่นเดียวกับข้อที่ว่าด้วย “ความดี” และ (3) “มีความสุข” ซึ่งหมายถึงความสุขทั้งของสมาชิกชุมชน แต่ละคนแต่ละครอบครัว และความสุขของชุมชนโดยรวม และคำว่า “ความสุข” หมายความรวมถึง (1) ความสุขทางกาย (2) ความสุขทางใจ (3) ความสุขทางจิตวิญญาณหรือความสุขทางปัญญา และ (4) ความสุขทางสังคมหรือความสุขในการอยู่ร่วมกัน
ดังนั้น การวิจัยหัวข้อ “ธรรมาภิบาลของสถาบันการเงินในระดับฐานราก” โดยคณะผู้วิจัยจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (รศ.ดร.สันติ ถิรพัฒน์ น.ส.เพียงดาว วัฒนายากร และคณะ) จึงมีประโยชน์และมีความสำคัญ เพราะช่วยให้เกิดความเข้าใจและเพิ่มองค์ความรู้ในเรื่องที่ถือเป็น ส่วนสำคัญในการช่วยให้ “องค์กรการเงินในระดับฐานราก” หรือ “องค์กรการเงินชุมชน” มีสถานะมั่นคง และมีความเจริญก้าวหน้าในกิจการมากยิ่งขึ้น ซึ่งงานวิจัยเรื่อง “ชุมชน” ตลอดจน “องค์กรการเงินชุมชน” ในประเทศไทย ยังมีน้อยเกินไป ถ้าจะส่งเสริมสนับสนุนการพัฒนาชุมชนให้เข้มแข็งมั่นคง ซึ่งเท่ากับเป็นการปูพื้นฐานที่เข้มแข็งมั่นคงให้กับสังคมไทย จึงควรมีงานวิจัยทำนองนี้ให้มากยิ่งขึ้นและดียิ่งขึ้น ทั้งการวิจัยในมิติใดมิติหนึ่งเช่นในกรณีงานวิจัยนี้ ซึ่งจับประเด็นเรื่อง “ธรรมาภิบาล” และการวิจัยองค์กรการเงินในภาพรวมหรือในเชิงระบบ ตลอดจนการวิจัย “ชุมชน” ทั้งในมิติใดมิติหนึ่ง และในเชิงระบบหรือในภาพรวมด้วย
ต้องชื่นชมและขอบคุณคณะผู้วิจัยจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่พากเพียรพยายามทำการวิจัยเรื่อง “ธรรมาภิบาลขององค์กรการเงินในระดับฐานราก” จนเสร็จสิ้นเรียบร้อย และหวังว่าจะมีคนวิจัยทำนองนี้ในมิติอื่น ๆ ตลอดจนในระดับภาพรวมหรือในเชิงระบบมากยิ่งขึ้น โดยทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัย จากสถาบันการศึกษาอื่น ๆ จากสถาบันวิจัย และจากนักวิจัยทั่วไป ซึ่งหน่วยงานที่มีบทบาทหน้าที่ในการส่งเสริมสนับสนุนการพัฒนาชุมชน ซึ่งย่อมรวมถึง การพัฒนา “องค์กรการเงินในระดับฐานราก” หรือ “องค์กรการเงินชุมชน” ด้วยนั้น คงจะสนใจและยินดีส่งเสริมสนับสนุนงานวิจัยดังกล่าวให้มากพอ เพื่อจะได้นำองค์ความรู้และประสบการณ์จากการวิจัย โดยเฉพาะ “การวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม” (Participatory Action Research) มาช่วยเสริมหนุนการพัฒนาชุมชนโดยรวมให้ประสบความสำเร็จดียิ่งขึ้นเป็นลำดับ
ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/428997