ชุมชน พลังแห่งการเปลี่ยนแปลงสังคมจากฐานราก

ชุมชน พลังแห่งการเปลี่ยนแปลงสังคมจากฐานราก


(คำกล่าว ปาฐกถาในงาน “ สมัชชาองค์กรชุมชนภาคกลางตอนบนและตะวันตก” ณ สำนักงานพื้นที่การศึกษา เขต 1 สุพรรณบุรี เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2552)

ขอสวัสดีเพื่อนพี่น้องชาว จ .สุพรรณบุรี พี่น้องทั้ง 16 จังหวัดของภาคกลางตอนบนและตะวันตกและพี่น้องหน่วยงานภาคีทั้งหลาย ทุกครั้งที่ได้ไปร่วมงานผมจะรู้สึกดีเป็นพิเศษ วันนี้ผมก็รู้สึกเช่นนั้นเช่นกัน สำหรับวันนี้เขาก็ได้จัดให้ผมได้พูดคุยแบบเป็นกันเองกับพวกเรา ถึงแม้จะไกลไปหน่อยก็ไม่เป็นไร

 

จุดอ่อนของผม คือ ผมเป็นคนรักควาย ชอบควายเพราะเด็ก ๆ เคยเลี้ยงควายมา พอเห็นภาพแบ๊คกราวด้านหลังก็รู้สึกดี ใกล้เคียงกับที่บ้านของผมที่อยู่อยุธยา วันนี้เป็นการประชุม เรียกว่า รวมพลังสร้างชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็ง สมัชชาองค์กรชุมชนภาคกลางตอนบนและตะวันตก งานพัฒนาองค์กรชุมชนทำกันมาหลายสิบปี ทั้งจากพัฒนาชุมชน และหน่วยงานอื่น ๆ พอช . เริ่มเมื่อปี 2543 ที่ พอช. สนับสนุนถึงปัจจุบันก็ 9 ปี เกือบ 10 ปี ถ้ามองย้อนหลังจะเห็นความชัดเจนมาก ดังที่ท่านรัฐมนตรีได้พูดชัดเจนมาก ท่านพูดจากความรู้สึกที่ท่านได้เห็น ท่านอาจจะเน้นบ้านมั่นคงมากเป็นพิเศษ และที่นี่ก็มีไม่ไกลจากนี้ก็มีที่ลาดบัวหลวงเป็นบ้านมั่นคง และบ้านมั่นคงชนบท

 

ที่พูดในวันนี้ เป็นเรื่องใหญ่ ใหญ่กว่าบ้านมั่นคง และบ้านมั่นคงชนบท เพราะเราพูดกันถึงเรื่องสมัชชาองค์กรชุมชน ซึ่งเกิดขึ้นอย่างมีกฎหมายรองรับที่เกิดขึ้นเมื่อปี 2550 มาถึงนี้ก็ปีหนึ่งแล้ว สมัชชาองค์กรชุมชน คือ กลไกกลางที่ทำให้องค์กรชุมชนมารวมพลังกัน เพื่อให้ท้องถิ่น คือ ตำบล เขตเทศบาลใหญ่กว่านั้น คือจังหวัดมีความเจริญ มั่นคง มีความสันติสุขและอย่างยั่งยืนด้วย ถ้าเราจะพูดเป็นเป้าหมายร่วมกันของสมัชชาองค์กรชุมชน น่าจะเป็นคำพูดในแผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ ฉบับที่ 10 และน่าจะอยู่ในฉบับที่ 11 คือ สังคมอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน เขตเทศบาลอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน ทั้งจังหวัดอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน

 

ท่านผู้นำชุมชนได้นำเสนอหลากหลายวิธีการที่จะทำให้เกิดสำเร็จร่วมกัน แต่ผลสุดท้ายของความพยายามต้องควรจะมาจบที่ผู้คนอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน ถ้าเราเป็นสมัชชาองค์กรชุมชน ตำบล ก ตำบล ข เรามีเป้าหมายร่วมก็คือ ทำให้ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่นั้น ๆ อยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน อย่างมั่นคงยั่งยืนต่อเนื่อง ไม่ใช่ประเดี๋ยวประดาว ฉะนั้นผมจึงอยากเสนอว่า ถ้าสมัชชาองค์กรชุมชนจะขับเคลื่อนต่อไปให้สำเร็จยิ่งขึ้น ผมขอเสนอให้เดินขึ้นบันได 4 ขั้น แค่ 4 ขั้น แต่มันยาวและมันยิ่งใหญ่ แต่จะไม่ยากถ้าเรารวมพลังกันให้ได้ แล้วมุ่งสู่ทิศทางเดียวกัน ความสำเร็จร่วมกัน คือ

  1. มีเป้าหมายที่ดีและชัดเจน เป้าหมายร่วมกันของสภาองค์กรชุมชน ในแต่ละพื้นที่ คือ ประชาชน ในพื้นที่นั้นมีความอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน และเป็นเป้าหมายที่ดี เช่น ถ้าจะเป็นตำบลที่ร่ำรวยที่สุดในประเทศไทย เราก็ต้องถามตนเองว่า เป้าหมายเราชัดไหม ดีไหม ง่าย ๆ ถ้าเรารวมพลังกันได้เห็นร่วมกันได้ แต่จะยากถ้าเห็นไม่พร้อมกันมันก็จะเป็นปัญหาตั้งแต่ต้น
  2. มีตัวชี้วัดความสำเร็จที่ดี และชัด หมายถึง เราต้องย้อนกลับไปดูเป้าหมาย กุญแจสำคัญคืออะไร ผมมีกุญแจอยู่ 3 ดอก เพื่อไขไปสู่ความสำเร็จ หรือเสาหลัก 3 ต้น ที่จะค้ำยันให้องค์กรชุมชนมั่นคง หรือกงล้อ 3 กงล้อ ที่จะหมุนไปเรื่อย ๆ หรือ ตัวชี้วัดความสำเร็จนั่นเอง ผมขอเสนอ 3 ตัว คือ

1) ความดี เราจะปราศจากความดี ก็ไม่เกิดความร่มเย็นเป็นสุขร่วมกัน ความดี คือการทำสิ่งที่ดี เป็นคุณไม่เป็นโทษ แล้วสร้างศักยภาพให้กลับมาสู่ตนเองและชุมชน

2) ความสามารถ เราอาจจะดี แต่ถ้าไม่สามารถก็ไม่ดี เราต้องคิดเป็น คิดเก่ง มีความสามารถในการทำ ทำได้ ทำเป็นในทุก ๆ เรื่อง เช่น ทำโต๊ะ เก้าอี้ ทำนาเกษตรอินทรีย์เกษตรผสมผสาน หรือทำการค้า การขาย ทำขนม

3) ต้องมีความสุข สุขในที่นี้ คือ สุขภาวะ หรือภาวะที่เป็นสุขทั้งกาย จิตใจ วิญญาณและสังคม ที่อยู่ร่วมกันอย่างเป็นสุข ที่เริ่มจากครอบครัว หมู่บ้าน ตำบล

 

ดังนั้น ถ้าเราจะสร้างตัวชี้วัด เราต้องสร้างตามหลัก 3 ข้อ นี้เพื่อให้รู้ว่า ถ้าจะให้มีความดีนั้นดูได้จากอะไร มีความสามารถด้านได้บ้าง เช่น ถ้าเรามีออมทรัพย์เรามีการจัดการที่ดี เราก็นำมาเป็นตัวชี้วัดได้ ส่วนความสุข ถ้าเราจะดูความสุขทางกายเราก็อาจจะดูจากการเจ็บป่วย ถ้าจะดูความสุขทางใจอาจจะดูจากคนเป็นจิต ดูความสุขทางสังคมความสุขทางสังคมดูจากความสุขของครอบครัว ซี่งเราต้องเลือกเพียงบางตัวที่เป็นประโยชน์ เพื่อตอบเป้าหมายใหญ่ให้ได้ รวมแล้วประมาณ 10-20 ตัวก็พอ เพราะถ้าทำเรื่องที่หนึ่งเรื่องอื่น ๆ ก็จะตามมา มันจะสะท้อนกันและกัน ซึ่งแต่ละท้องถิ่นก็จะแตกต่างกันตามพื้นที่ บางพื้นที่อาจะมีคล้าย ๆ กัน แต่จะไม่เหมือนกัน

.gotoknow-responsive-middle { width: 300px; height: 250px; } @media(min-width: 260px) { .gotoknow-responsive-middle { width: 300px; height: 260px; } } @media(min-width: 350px) { .gotoknow-responsive-middle { width: 336px; height: 280px; } } @media(min-width: 740px) { .gotoknow-responsive-middle { width: 728px; height: 90px; } }

  1. มีวิธีการที่ดี และเหมาะสม ที่จะบรรลุเป้าหมายให้ได้ผลตามตัวชี้วัด ซึ่งสามารถทำได้หลายวิธี เช่น วิธีการประชุมหารือกันเพื่อสำรวจดูว่าเรามีที่ดี ๆ ที่ทำอยู่แล้วมีอะไรบ้าง หรือจะศึกษาเพิ่มเติมเรียนรู้จากที่อื่นก็ได้ ที่เขาทำแล้วทั้งทางงานวิจัย หรือทางอินเตอร์เน็ตก็ได้ เราดูว่าเขาพูดกันอย่างไร

ผมเคยยกตัวอย่างธนาคารคนจนที่บังคลาเทศ ประชาชนเป็นเจ้าของส่วนใหญ่ผู้หญิงเป็นเจ้าของประมาณ 90% สามารถแก้ปัญหาความยากจนได้จริง ทำมาเกือบ 30 ปีแล้ว ผมเคยไปร่วมประชุมกับเขามา 2 หนก็ประชุมกลางทุ่งนากันเลย ทุกสัปดาห์เขาจะมาประชุมกัน ก่อนประชุมเขาจะมีการกล่าวปณิธาน 16 ข้อ เราจะทำ เราจะไม่ทำอะไรบ้าง นี่คือความดีของเขา ความสามารถของเขา แล้วเขาก็มีความสุข

  1. มีการติดตามผลที่ดี และเหมาะสม คือ ต้องวัดผล เช่น สภาฯ ทำงานมา 3 เดือน หรือ 6 เดือน ผลการทำงานเป็นอย่างไร เพื่อวิเคราะห์ สังเคราะห์ ระดมความคิด หาทางทำงานให้ดีขึ้น อะไรที่สำเร็จขยายผลต่อ อะไรไม่ดีหาวิธีการแก้ไข การติดตามเพื่อการเรียนรู้และพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

 

เท่านี้ครับ ผมเสนอบันได 4 ขั้น ไม่ใช่ว่าเราจะทำอะไรอย่างเดียวนะ แต่เราต้องทำและถามด้วยว่า เราทำเพื่ออะไรด้วย ท่านมีเป้าหมายร่วมกัน มีตัวชี้วัดความสำเร็จร่วมกัน มีวิธีการร่วมกัน และมีการติดตามผลร่วมกัน มันก็จะส่งผลถึงกัน

 

ผมทำงานพัฒนาชุมชนมาหลายปี เป็นผู้จัดการสำนักงานพัฒนาชุมชนเมือง มาเป็นประธาน พอช . มีช่วงหนึ่งที่เป็นรองนายกฯ และรัฐมนตรีกระทรวง พม. อยู่พักหนึ่งแล้วก็ลาออกเพราะความเจ็บป่วย แต่ผมก็ยังมีความสุข เพราะสุขภาพใจของผมยังดีอยู่

 

ผมได้ไปเยี่ยม จ .ราชบุรี ผมได้เห็นความก้าวหน้าที่น่าประทับใจ มีตัวแทนจากราชบุรี ตัวแทนจากสุพรรณบุรีมาร่วมด้วย เขามีความเรื่องตัวชี้วัดคุยเรื่องตัวชี้วัดชุมชนร่วมกัน รวมถึงที่ตำบลหนองพันจันทร์ร่วมด้วย นี่คือ ความก้าวหน้าที่ไกลพอสมควร ที่จริงเรามีตัวชี้วัดที่เรียกว่า จปฐ.ที่ใช้กันมานานแล้ว ที่ทางราชการคิดไว้ให้ เราทำกันมานาน แต่ผมคิดว่า ถ้าเราได้คิดเอง ทำเอง ผมเชื่อว่าพวกเราจะมีความสุขอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน และเป็นการบูรณาการที่ครบถ้วน และพบความก้าวหน้า อีกอย่างหนึ่งที่น่าประทับใจที่ราชบุรี อ.โพธาราม บ้านโป่ง ที่บ้านมะกรูด ที่ทำสื่อชุมชน ชื่อว่า มะกรูดดอทคอม (www.magrood.com) เป็นเรื่องที่แปลกใหม่มาก นั่นแปลว่ากระบวนการพัฒนาองค์กรชุมชน เรามีความเจริญก้าวหน้ามาเป็นลำดับ เป็นความน่าพอใจ แต่ก็ยังคิดว่าไม่พอเพราะยังมีองค์กรชุมชน หรือสภาองค์กรชุมชนอีกเยอะแยะที่ยังไม่ก้าวหน้า ซึ่งผมเข้าใจว่าเป็นภารกิจของพวกเราทุกคนที่มาร่วมงานในวันนี้ ที่จะกลับไปทำให้องค์กรชุมชนที่มีอยู่ก้าวหน้าขึ้น และขยายผลงานออกไปเรื่อย ๆ นี่คือ ความดีที่พวกเราทำร่วมกัน แม้ว่าจะเป็นความดีง่าย ๆ เช่น เราร่วมกันดูแลสิ่งแวดล้อม ดูแลบ้านเรือน นี่ก็เป็นความดีแล้ว

 

ที่สังคม หรือประเทศของเราเดินมาแล้วสะดุดแล้วสะดุดอีกอยู่อย่างนี้ เพราะความดีเราไม่มากพอ หรือโลกที่กำลังมีปัญหาวิกฤติอยู่นี้ก็เพราะความดีไม่พอ เรามองว่าการอยากให้โลกดี เราก็สร้างภาพลวงตาแต่มันก็เหมือนกับปราสาททรายที่เราคิดว่าสมบูรณ์แต่มันก็ล้มครืนเมื่อเจออะไรรุนแรง ถามว่าอะไรเป็นเหตุ ก็คือความดีของเรานั่นเอง คนที่แนะนำเรื่องนี้ คือ คนที่ได้รับรางวัลโนเบลของโลกด้วย

เพราะฉะนั้น ชุมชนเราก็เหมือนกัน ถ้าความดีไม่พอ ความสามารถก็ไม่มีไม่เกิด หรือถ้าคนไม่ทำ ชอบดึงเราไม่ให้ทำไปด้วย ความดีเราก็จะหายไปด้วยเพราะฉะนั้น ผมเสนอว่าทำอย่างไรเราจะทำให้สภาองค์กรชุมชนที่มีอยู่ หรือกำลังจะมีนั้น เป็นสภาองค์กรชุมชนที่มีเป้าหมายร่วมกัน มีตัวชี้วัด มีวิธีการ และการติดตามที่ดี และเหมาะสมร่วมกัน ผมเชื่อว่า เราจะสามารถเดินหน้าไปได้ ถึงแม้ว่าเราจะเจออุปสรรคบ้าง แต่เราต้องพยายามทำต่อไป ก็ขออวยพรให้พวกเราทุกคนมีความสุข ทั้งพี่น้องขบวนชุมชน ตลอดจนประเทศเจริญก้าวหน้าต่อไป

ขอสวัสดีครับ

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/290220

<<< กลับ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *