จิตวิญญาณนักสังคมสงเคราะห์

จิตวิญญาณนักสังคมสงเคราะห์


(ลงในนสพ.มติชน โดย ภาสกร จำลองราช ฉบับวันที่ 14 ต.ค. 50 หน้า 9)

                ผมไม่รู้ว่าข้าราชการในกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) โดยเฉพาะคนของกรมประชาสงเคราะห์เดิมที่ทำหน้าที่นักสังคมสังเคราะห์ คิดกันอย่างไรเมื่อเห็นภาพนายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรี พม. หรือที่เรียกกันติดปากว่าอาจารย์ไพบูลย์ ถูกหามออกจากห้องประชุมคณะรัฐมนตรีส่งโรงพยาบาล

                แม้จะเป็นเรื่องของสังขาร แต่ต้องยอมรับว่าในช่วงของการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี อาจารย์ไพบูลย์เป็นคนที่ทำงานหนักในระดับต้นๆ ของคณะรัฐมนตรีชุดนี้ ในวันธรรมดาปฏิบัติภารกิจหน้าที่ประธานการประชุมและกิจกรรมของหน่วยงานต่างๆ แน่นเอี้ยด ส่วนเสาร์-อาทิตย์ออกต่างจังหวัดพบคุยหาทางออกร่วมกับชาวบ้านตามเครือข่ายต่างๆ ที่มีปัญหาสารพัด จนบางครั้งถูกกระแหนะกระแหนจากคนในคณะรัฐมนตรีด้วยกันเอง ว่าเป็นรัฐมนตรีเอ็นจีโอ

                จริงๆ แล้วคนในวัย 66 ปี นั่งเก้าอี้รัฐมนตรีในสถานการณ์นับถอยหลังรอวันเลือกตั้ง อยู่สบายๆ ทำแค่เรื่องที่ผู้ใต้บังคับบัญชาชงสำเร็จรูปให้ก็จบ ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกแยกสำหรับคณะรัฐมนตรีชุดนี้ แต่อาจารย์ไพบูลย์เลือกที่จะรุกเข้าไปในเนื้องานที่อยู่นอกเหนือจากกรอบของข้าราชการประจำ

            ช่วงเกือบสองสัปดาห์ที่ผ่านมา อาจารย์ไพบูลย์รุกเข้าถึงเรื่องคุณธรรมและจริยธรรมใน พม. เพราะมีเสียงร้องอื้ออึงด้วยปัญหาชู้สาวและการฉ้อราษฎร์บังหลวง ซึ่งคนภายในหน่วยงานต่างรับรู้กันดี เพราะไม่ใช่เรื่องที่เพิ่งเกิดขึ้น แต่ความเลวร้ายนี้สั่งสมกันมาหลายปี จนฉาวโฉ่ออกมาข้างนอกองค์กร

                สิ่งที่เกิดขึ้นใน พม.เป็นเรื่องที่ท้าทายจิตวิญญาณของคนที่ทำงานด้านสังคมสงเคราะห์เป็นอย่างยิ่ง 

                ภาพอาจารย์ไพบูลย์ถูกหามออกจากห้องประชุมคณะรัฐมนตรีเพราะทำงานหนัก ขณะที่คนส่วนใหญ่ในประชาคมประชาสงเคราะห์ที่เป็นเจ้าของปัญหาร่วม กลับยังสับสนในตัวเองถึงความ “กล้า”

                การชำระสะสางความมืดมนต์กลายเป็นเรื่องของอาจารย์ไพบูลย์และสื่อมวลชน แต่คนวงในที่สัมผัสข้อมูลกลับเป็นเพียงผู้ชม ซึ่งเป็นภาพสะท้อนที่ชวนเศร้าใจไม่น้อย

                เมื่อปี 2543 ผมมีโอกาสร่วมเขียนในหนังสือในวาระครบรอบ 60 ปี กรมประชาสงเคราะห์ ซึ่งจัดทำโดยกรมประชาสังเคราะห์ขณะนั้น โดยที่หน้าปกเขียนคำขวัญไว้ตัวโตเหมือนเป็นชื่อหนังสือว่า “มุ่งสร้างสรรค์สถาบันครอบครัว”

                ครั้งนั้นผมเขียนในทำนองว่า ยังรู้สึกดีเมื่อพูดถึงคำว่า “นักสังคมสงเคราะห์” เช่นเดียวกับเมื่อได้ยินชื่อของกรมประชาสงเคราะห์ เพราะทำให้เกิดความรู้สึกเอื้ออาทรและไม่ทอดทิ้งกันในสังคม แต่ก็ได้เตือนไว้ว่าด้วยระบบการตรวจสอบที่เข้มข้น หากมีคนของกรมนี้สร้างความเสียหายจนเกิดรอยด่างขึ้นมา จะทำให้ต้นทุนสั่งสมมายาวนานได้รับผลกระทบรุนแรงมากกว่าหน่วยราชการทั่วไป เพราะคุณยืนอยู่บนความเห็นใจและความศรัทธาของคนในสังคม

                นอกจากนี้ ในตอนจบผมยังได้แสดงความเป็นห่วงเรื่องการเอื้อประโยชน์ต่อนักการเมืองในทางที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งเป็นอันตรายมาก ซึ่งตอนนั้นเริ่มมีข่าวระแคะระคายเกี่ยวกับการใช้งบประมาณสนองตอบนักการเมืองในทางที่ไม่โปร่งใส

                เสียดายในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะในช่วง 5 ปี หลังจากกรมประชาสงเคราะห์แยกออกจากกระทรวงแรงงาน และยกระดับเป็นกระทรวง ต้นทุนที่สั่งสมไว้ได้ถูกกัดกร่อนอย่างหนักจากคนภายในองค์กรเอง แม้ผมเองอยู่ห่างออกมา แต่ก็ได้ยินข่าวในทางลบอยู่เรื่อยๆ 

                สังคมไทยอุดมสมบูรณ์ไปด้วยน้ำใจ แต่ถ้าสิ้นศรัทธาเสียอย่าง น้ำใจก็เกิดยาก เหมือนกับที่มีเสียงต่อต้านการให้เงินขอทาน เพราะรับรู้กันทั่วไปแล้วว่า ให้เงินไปก็เหมือนเป็นการทำร้ายคนอื่นเพราะกลุ่มมิจฉาชีพลักพาเด็กๆ และคนพิการมาบังคับให้ขอทาน การหลับหูหลับตาทำทานเช่นนี้เท่ากับเป็นการส่งเสริมคนทำผิด

                เช่นเดียวกับคนห่มเหลืองที่รับบาตรเวียนเทียนอยู่หน้าร้านข้าวแกง เพราะต้องการแปลงข้าวของที่ญาติโยมนำมาตักบาตรเป็นเงินเข้ากระเป๋า จนกลายเป็นอีกอาชีพหนึ่งที่รายได้ดี เพราะฉะนั้นการให้จึงต้องให้อย่างมีสติ

                ดังนั้น จึงไม่ควรปล่อยให้งานสังคมสงเคราะห์ ตกอยู่ในสภาพที่ชวนหวาดระแวงเช่นเดียวกับขอทานและแก๊งห่มเหลืองไปเรื่อยๆ เพราะผู้ที่รับเคราะห์ไปด้วยคือ คนด้อยโอกาส 

                ผมไม่แน่ใจว่าถ้ามีงานครบรอบ 70 ปี ของสถาบันนักสังคมสงเคราะห์แห่งนี้ ยังกล้าใช้คำว่า “มุ่งสร้างสรรค์สถาบันครอบครัว” อยู่หรือไม่ เพราะเรื่องที่ฉาวโฉ่และอื้ออึงอยู่ใน พม.จนกระเพื่อมออกมาให้สังคมได้รับรู้นั้น ล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องที่ทำลายสถาบันครอบครัวทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องปมชู้สาว เรื่องความไม่โปร่งใสของการจัดเงินสงเคราะห์ครอบครัว เรื่องทุจริตโรงรับจำนำ ฯลฯ

                การใช้เงินบริจาคในมูลนิธิต่างๆ ประจำสถานสงเคราะห์ไปในทางผิดวัตถุประสงค์ของผู้ให้ เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่บ่อนทำลายความศรัทธาอย่างใหญ่หลวง หากสังคมพบว่าเงินที่พวกเขาส่งไปให้เด็กๆ และคนด้อยโอกาสทั้งหลาย ถูกแปลงไปใช้เป็นค่าเดินทางต่างประเทศอย่างเอิกเกริก โดยอ้างเรื่องการศึกษาดูงาน หรือนำไปซื้อรถยนต์ที่อ้างเป็นภารกิจของสถานสงเคราะห์ แต่กลับกลายเป็นรถยนต์ประจำตำแหน่งของใครบางคน ผู้บริจาคจะคิดอย่างไร 

                สิ่งเหล่านี้จำเป็นต้องมีการตรวจสอบและวางระบบอย่างสมดุล

                ผมเชื่อว่าข้อมูลที่อาจารย์ไพบูลย์ได้ยินได้ฟังมานั้น คงหนาหูพอสมควร มิฉะนั้นคงไม่ตั้งคณะกรรมการสอบสวนขึ้นมาทันที แต่ปัญหาและอุปสรรคใหญ่ก็คือ คนที่มีข้อเท็จจริงอยู่ในมือยังคงลังเลเพราะเป็นห่วงผลกระทบต่อสถานภาพของตัวเอง

                วันนี้ คนในประชาคม พม.จะมัวแต่บนบานต่อองค์พระประชาบดี ซึ่งเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำหน่วยงานเพียงอย่างเดียวคงไม่พอ แต่ทุกคนควรเข้ามามีส่วนร่วมในการปลุกจิตสำนึกความเป็นนักสังคมสงเคราะห์ที่แท้จริง ซึ่งสำคัญกว่าการหาตัวคนผิดมาลงโทษอีก เพราะกรรมใดใครก่อ จะช้าหรือเร็วเขาย่อมหนีไม่พ้น ยิ่งถ้าเขาหาประโยชน์โดยใช้คนด้อยโอกาสเป็นเครื่องมือ ด้วยการแปลงน้ำใจเป็นน้ำเงินให้ตัวเอง นรกในอกเขาย่อมร้อนระอุกว่าขุมอื่น

                อย่าปล่อยให้งานด้านสังคมสงเคราะห์ต้องมัวหมองไปมากกว่านี้ อย่างน้อย ตู้ ป.ณ.10 ทำเนียบรัฐบาล ก็น่าจะเป็นช่องทางหนึ่งในการแสวงหาคำตอบร่วมกัน

 

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/141327

<<< กลับ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *