จดหมายถึงญาติมิตรพัฒนาสังคม (ฉบับที่ 1 วันที่ 20 พ.ย. 2549)

จดหมายถึงญาติมิตรพัฒนาสังคม (ฉบับที่ 1 วันที่ 20 พ.ย. 2549)


 นึกถึงญาติมิตรพัฒนาสังคม

                 เวลา 6 สัปดาห์ผ่านไปเหมือนมีปีกบิน !

ผมเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2549 โดยไม่คาดคิด คาดฝัน หรือประสงค์อยากมาเป็น แต่ด้วยสถานการณ์พิเศษและด้วยเงื่อนไขที่มีเหตุผล จึงรับมาทำหน้าที่นี้

การรับทำหน้าที่รัฐมนตรีว่าการะทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ทำให้ผมนึกถึง “ญาติมิตรพัฒนาสังคม” คือ ผู้คนทั้งหลายที่มีบทบาทและมีความเกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหาและพัฒนา พัฒนาสังคมสังคมพร้อมกับการเสริมสร้างความมั่นคงของมนุษย์หรือความมั่นคงทางชีวิต อันถือเป็นภารกิจของกระทรวงนี้

“ญาติมิตรพัฒนาสังคม” ในความคิดของผมประกอบด้วยข้าราชการและเจ้าหน้าที่ในสังกัดกระทรวงหรือในสังกัดรัฐมนตรีว่าการกระทรวงฯ นั่นคือข้าราชการและเจ้าหน้าที่ที่สังกัดสำนักงานรัฐมนตรี (สร.) สำนักงานปลัดกระทรวง (สป.) กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ (พส.) สำนักงานกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) สำนักงานส่งเสริมสวัสดิภาพและพิทักษ์เด็ก เยาวชน ผู้ด้อยโอกาส คนพิการ และผู้สูงอายุ (สท.) การเคหะแห่งชาติ (กคช.) และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.)

แต่พร้อมกันนั้น ผมยังถือว่า “ญาติมิตรพัฒนาสังคม” ย่อมรวมถึงบุคคล กลุ่มคน องค์กร หน่วยงาน เครือข่าย อีกมากมาย ที่มีบทบาทหรือมีความเกี่ยวข้องกับการพัฒนาสังคมทั้งทางตรงและทางอ้อม
นั่นคือ รวมถึง ชุมชนท้องถิ่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ราชการส่วนภูมิภาค ภาคประชาสังคมในระดับต่างๆ ภาคธุรกิจในระดับต่างๆ ภาครัฐและส่วนกลาง ฝ่ายการเมือง ฝายนิติบัญญัติ ฝ่ายตุลาการ และประชาชนทั่วไป

ดังนั้น ถ้าจะถือว่า “ญาติมิตรพัฒนาสังคม” นั้น รวมถึงทุกคนทุกฝ่ายทุกภาคส่วน ทุกระดับ ทุกพื้นที่ ในสังคมไทยก็น่าจะได้ 

                ความ “นึกถึง” ของผม หมายความว่า “อยากสื่อสารด้วย” ผมจึงเขียนจดหมายฉบับนี้ เริ่มฉบับที่ 1 และจะเขียนต่อๆ ไปเป็นระยะๆ ลงใน Weblog : paiboon.gotoknow.org และจะเปิดดูได้จาก www.m-society.go.thอีกด้วย

หาก “ญาติมิตร” ผู้ใดประสงค์จะสื่อสารกับผม ก็ทำได้ผ่าน Weblog ดังกล่าว หรือผ่านช่องทางอื่นๆ ที่สะดวก ผมจะพยายามรับรู้การสื่อสารของ “ญาติมิตร” ให้ได้ในระดับที่เหมาะควรและเป็นไปได้ แต่คงไม่สามารถสื่อสารตอบกลับเป็นรายบุคคลได้ ที่พอทำได้คือการสื่อสารตอบกลับโดยรวมๆ เป็นระยะๆ

รัฐมนตรีควรเน้นการคิดค้นและขับเคลื่อนนโยบายยุทธศาสตร์เป็นสำคัญ

ทันทีที่เข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรี ก็ได้มีผู้อาวุโสและผู้ทรงคุณวุฒิ ให้คำแนะนำว่า รัฐมนตรีต้องทำงานเชิงนโยบายและยุทธศาสตร์เป็นหลัก ไม่ควรใช้เวลาไปกับการทำพิธีต่างๆ การรับแขกส่งแขก และแม้แต่การแก้ปัญหาปลีกย่อยทั้งหลายให้มากเกินไป หรือควรทำให้เรื่องเหล่านั้นให้น้อยที่สุดนั่นเอง เพื่อจะได้มีเวลามากพอสำหรับทำเรื่องสำคัญ ซึ่งมีประโยชน์และมีคุณค่าอย่างมากและอย่างแท้จริงต่อประชาชนและต่อประเทศชาติโดยรวม (คำแนะนำนี้ตรงกันกับความคิดของผมเองโดยผมได้เคยให้ความเห็นทำนองเดียวกันหลายครั้งในช่วงเวลาที่ผมเป็นนักพัฒนาสังคมอิสระ)

เรื่องสำคัญ ที่กล่าวถึงนั้น สำหรับกระทรวงที่ผมรับผิดชอบ คือการคิดค้นและขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์เพื่อการพัฒนาสังคมและเสริมสร้างความมั่นคงของมนุษย์ นั่นเอง

                ดังนั้น นับตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีผมจึงได้ใช้ความพยายามร่วมกับทีมงานและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องตลอดจนผู้ทรงคุณวุฒิภายนอกกระทรวงฯ อีกจำนวนมาก ในการคิดค้นและขับเคลื่อนนโยบายยุทธศาสตร์

ซึ่งได้สรุปเป็น “ภารกิจสำคัญ” ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ จะมุ่งดำเนินการ ดังนี้

1.   “ภารกิจเร่งด่วน” มี 4 ด้าน

1.1 การร่วมบรรเทาความเดือดร้อนและฟื้นฟูพัฒนาอันสืบเนื่องจากอุทกภัยครั้งใหญ่

1.2 การร่วมคลี่คลายปัญหาความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้

                                1.3 การร่วมแก้ปัญหาความแตกแยกพร้อมกับการเสริมสร้างความสมานฉันท์ในสังคมไทย

1.4 การร่วมแก้ปัญหาความทุจริตพร้อมกับการเสริมสร้างธรรมาภิบาลในการบริหารงานภาครัฐ

2.   “ภารกิจหลัก” ประกอบด้วย “3 ยุทธศาสตร์สังคมแห่งชาติ” ดังนี้  

2.1 ยุทธศาสตร์สังคมไม่ทอดทิ้งกัน (ช่วยเหลือเกื้อกูลและดูแลกัน)

2.2 ยุทธศาสตร์สังคมเข้มแข็ง (ชุมชนท้องถิ่นและประชาสังคมเข้มแข็ง)

2.3 ยุทธศาสตร์สังคมคุณธรรม (มีความถูกต้องเป็นธรรมและดีงาม)

3.   “ภารกิจสนับสนุน” ได้แก่

3.1 การพัฒนาองค์กรและระบบสนับสนุนที่อยู่ในสังกัดกระทรวงและ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ

3.2 การร่วมพัฒนาองค์กรและระบบสนับสนุนที่อยู่นอกสังกัดกระทรวงและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ

แผนภารกิจและมาตรการสำคัญ (Roadmap) ของกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ

ภารกิจทั้งหมดดังกล่าวข้างต้นจะปรากฏอยู่ใน“แผนภารกิจและมาตรการสำคัญ” (Roadmap)ของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยจะมีรายละเอียดของภารกิจแต่ละหมวดในรูปของมาตรการสำคัญต่างๆ ที่ระบุลักษณะของ มาตรการ เป้าหมาย กำหนดเวลา และผู้รับผิดชอบหลัก

“แผนภารกิจและมาตรการสำคัญ ” (Roadmap) นี้จะเปิดเผยต่อผู้เกี่ยวข้องและต่อสาธารณะ เพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องและสาธารณะได้รับทราบและมีโอกาสได้ร่วมคิดร่วมดำเนินการด้วยในลักษณะ “พหุปฏิสัมพันธ์” 

                ดังนั้น เมื่อเวลาผ่านไป “แผนภารกิจและมาตรการสำคัญ” (Roadmap) ของกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ “แผนปฏิรูปสังคม” ที่ระบุในคำแถลงนโยบายของรัฐบาลเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2549 จะมีการปรับปรุงเปลี่ยน แปลงเป็นระยะๆ โดยเฉพาะในรายละเอียดตามเหตุตามผลอันเนื่องจากสถานการณ์ที่เคลื่อนตัวไปพร้อมๆกับ “พหุปฏิสัมพันธ์” ของผู้เกี่ยวข้องหลายฝ่าย

สอดคล้องกับหลักคิดของผมที่ว่า “จะปฏิรูปสังคมต้องให้สังคมร่วมปฏิรูป จะพัฒนาสังคมต้องให้สังคมร่วมพัฒนา”

                                                                                                                สวัสดีครับ

ไพบูลย์  วัฒนศิริธรรม
อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/61310

<<< กลับ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *