จดหมายถึงญาติมิตรพัฒนาสังคม ฉบับที่ 8 (19 ก.พ. 50)

จดหมายถึงญาติมิตรพัฒนาสังคม ฉบับที่ 8 (19 ก.พ. 50)


ปัญหาการบริหารเวลาของรัฐมนตรี

การเป็นรัฐมนตรีย่อมมีปัญหาในการบริหารเวลาอย่างที่ผมกำลังประสบอยู่

คือ มีเรื่องที่คิดว่าต้องทำหรือควรทำหรือยากทำเป็นอันมาก พร้อมกับมีเรื่องที่คนอื่นมาขอให้ทำ หรือแนะนำให้ทำก็มากด้วย ในขณะที่มีเวลาอยู่จำกัด

นับแต่เข้ารับหน้าที่เป็นรัฐมนตรี ผมได้ยึดหลักว่า รัฐมนตรีควรเน้นบทบาทในการบริหารนโยบายและยุทธศาสตร์เป็นสำคัญ และควรใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับเรื่องนโยบายและยุทธศาสตร์เหล่านั้น

เอาเข้าจริง ผมต้องยอมรับว่า เรื่องต่างๆที่เข้ามาให้ทำมีมากและหลากหลายที่เดียว ซึ่งจำนวนมากอาจไม่ถึงขั้นเป็นเรื่องนโยบายและยุทธศาสตร์ แต่ก็รู้สึกว่าต้องทำหรือควรทำ หรือพออนุโลมว่าเป็นเรื่องเกี่ยวพันกับนโยบายและยุทธศาสตร์ได้

ในขณะที่งานประจำ งานพิธี งานเฉพาะกิจ ตลอดจนงานเฉพาะหน้าต่างๆก็ต้องมีด้วยตามสมควร

เพื่อเป็นแบบฝึกหัดการบริหารเวลา ผมจึงลองสำรวจดูว่าในรอบ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ผมได้ทำอะไรบ้างที่ถือว่าเป็นเรื่องระดับนโยบายและยุทธศาสตร์ หรือเกี่ยวพันกับนโยบายและยุทธศาสตร์ปรากฏดังนี้ครับ

5 ก.พ. (จันทร์)

– บันทึกเทปโทรทัศน์ เรื่อง “ยุทธศาสตร์สังคม”

– ร่วมงาน “มหกรรมการจัดสวัสดิการชุมชน” ซึ่งนายกรัฐมนตรีไปเป็น ประธานพิธีปิดและกล่าวปาฐกถาพิเศษ

– ประชุมคณะทำงานรัฐมนตรี (ซึ่งกำหนดประชุมเป็นประจำสัปดาห์ละ 2 ครั้ง)

– ให้คำปรึกษาเกี่ยวกับงานของศูนย์คุณธรรม

6 ก.พ. (อังคาร)

– ประชุมเรื่อง “วาระเพื่อเด็กและเยาวชน ประจำปี 2550” โดยมีรัฐมนตรี 5 กระทรวง และรมต. ประจำสำนักนายกฯ 3 ท่านเข้าประชุม

– ประชุมคณะรัฐมนตรี

– ประชุมผู้บริหารสูงสุดของหน่วยงานในสังกัดกระทรวง พม. (เป็นประจำสัปดาห์ละ 1 ครั้ง ยกเว้นสัปดาห์ต้นเดือนซึ่งเป็นการประชุมกับผู้บริหาร ระดับ 8 ขึ้นไปที่อยู่ในส่วนกลาง)

7 ก.พ. (พุธ)

– ร่วมอภิปรายที่สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ เรื่อง ความเข้มแข็งของชุมชนกับรัฐประศาสนศาสตร์

– เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการการให้และการอาสาช่วยเหลือสังคม

8 ก.พ. (พฤหัสบดี)

– เป็นประธานเปิดโครงการ “ชุมชนน่าอยู่และปลอดภัย” (Campus Safety Zone) ของมหาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ เป็นประธานสักขีพยานการลงนามบันทึกความร่วมมือหลายฝ่าย และกล่าวปาฐกถา

– พบสนทนากับผู้จัดการโครงการ “Cities Alliance” ซึ่งสนับสนุนโดยธนาคารโลก (ผอ.สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน พามา)

– ร่วมประชุมพิจารณา ร่าง “พรบ.ส่งเสริมธรรมาภิบาล” ซึ่ง รมต. ประจำ สน. นรม. (คุณหญิงทิพาวดี) เป็นประธาน

– ประชุมคณะทำงานรัฐมนตรี

9 ก.พ. (ศุกร์)

– เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการจัดงานวันผู้สูงอายุแห่งชาติ

– ไปรับฟังผลการสัมมนาโดยใช้กระบวนการ “จัดการความรู้” เกี่ยวกับการดำเนินงานภายใต้โครงการ “หน่วยงานสุจริตใสสะอาด” ของหน่วยงานในสังกัดกระทรวง พม. และกล่าวปิดการสัมมนา (ที่ จ.นครนายก)

– ร่วมสนทนาหลังอาหารค่ำกับคณะที่จะร่วมประชุมผู้บริหารระดับสูงของกระทรวง พม. ในวันรุ่งขึ้น (ที่โรงแรมสวนสามพราน)

10 ก.พ. (เสาร์)

– ประชุมผู้บริหารระดับสูงของกระทรวง พม. (ระดับ 10 หรือเทียบเท่า ขึ้นไป) เพื่อทบทวนกลยุทธ์ (ยุทธศาสตร์) ของกระทรวงและนำไปเป็นแนวทางในการจัดทำงบประมาณประจำปี 2551 ต่อไป (ประชุมทั้งวันที่โรงแรมสวนสามพราน)

11 ก.พ. (อาทิตย์)

– ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์กับรายการวิทยุ เรื่อง แผนปฏิบัติการส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคมเพื่อชีวิตมั่นคง

12 ก.พ. (จันทร์)

– กล่าวเปิดการประชุมเครือข่ายหน่วยงานที่ดำเนินงาน “สายด่วน” เพื่อการรับแจ้งเกี่ยวกับเรื่องที่เป็นปัญหาสังคมในรูปแบบต่างๆ

– เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการคุ้มครองเด็ก

– เป็นประธานกล่าวเปิดการประชุมเพื่อขับเคลื่อนงานเกี่ยวกับการจดทะเบียนคนพิการ

– ประธานมูลนิธิสันติภาพสากลมาพบหารือเกี่ยวกับโครงการส่งเสริมสันติภาพในประเทศไทยและอาเซียน

– ประชุมคณะทำงานรัฐมนตรี

– เป็นประธานในงานครบรอบ 34 ปี การเคหะแห่งชาติ และกล่าวสุนทรพจน์ (ภาคค่ำ)

13 ก.พ. (อังคาร)

– ประชุมคณะรัฐมนตรี

– ประชุมผู้บริหารสูงสุดของหน่วยงานในสังกัดกระทรวง

– ประชุมหารือ เรื่อง ยุทธศาสตร์กระทรวง พม. เพื่อเป็นแนวทางในการจัดทำงบประมาณ ปี 2551 (พิจารณาต่อเนื่องจากการประชุมที่ โรงแรมสวนสามพราน)

– อัดเทปสัมภาษณ์ เรื่อง “จิตตปัญญาศึกษา” ของมหาวิทยาลัยมหิดล

– ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวเพื่อนำไปเขียนบทความเกี่ยวกับนโยบายและแนวการทำงานของรัฐมนตรี พม.

14 ก.พ. (พุธ)

– ร่วมงานเปิดศูนย์รับเรื่องราว “1111” 4 ช่องทาง (โทรศัพท์ อีเมล์ จดหมาย มาที่จุดบริการ) ของสำนักนายกรัฐมนตรี โดยท่านนายกรัฐมนตรีเป็นประธานในพิธี

– พบหารือกับคณะกรรมการของ Social Venture Network (SVN) เกี่ยวกับการส่งเสริมบทบาทของธุรกิจเพื่อสังคม ซึ่งรวมถึง CSR (Corporate Social Responsibility) ด้วย

– พบหารือกับคณะกรรมการการตรวจสอบประเมินผลของกระทรวง พม.

– เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการสรรหา “ผู้สูงอายุตัวอย่างแห่งชาติ”

– หารือกับคณะจากธนาคารออมสินเรื่องโครงการสินเชื่อเพื่อคนพิการ

– เยี่ยมชุมชนล็อค 1-2-3 คลองเตย ที่ถูกไฟไหม้และหารือเกี่ยวกับแนวทางการช่วยเหลือฟื้นฟู

15 ก.พ. (พฤหัสบดี)

– เป็นประธานสักขีพยานในการลงนามบันทึกข้อตกลงการให้สินเชื่อเพื่อโครงการบ้านมั่นคง ระหว่างธนาคารอาคารสงเคราะห์กับสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน

– เป็นประธานการประชุมหารือ เรื่องสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อย โดยมีผู้บริหารสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน การเคหะแห่งชาติ และธนาคารอาคารสงเคราะห์ ร่วมหารือ

– บรรยายพิเศษ เรื่อง “การพัฒนาสังคมเพื่อความมั่นคงของคนรากหญ้าโดยรัฐบาลปัจจุบัน” จัดโดย สำนักบัณฑิตอาสาสมัคร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

– ประชุมกับคณะกรรมการการเคหะแห่งชาติ (กำหนดเดือนละ 1 ครั้ง)

16 ก.พ. (ศุกร์)

– ร่วมการประชุมเชิงปฏิบัติการ “ยุทธศาสตร์ชาติเพื่อการพัฒนาที่อยู่อาศัย” จัดโดยการเคหะแห่งชาติ ร่วมกับภาคีพันธมิตร โดยมีรองนายกฯ มรว.ปรีดียาธร เทวกุล เป็นประธานกล่าวเปิด

– เป็นประธานแถลงข่าวเรื่องการดำเนินการเกี่ยวกับโครงการบ้านเอื้ออาทร ของการเคหะแห่งชาติ

– อัดเทปสัมภาษณ์ เรื่อง เกี่ยวกับการส่งเสริมสวัสดิการสังคม สำหรับออกรายการโทรทัศน์ช่อง 9

– เป็นประธานการประชุม “คณะกรรมการประสานสนับสนุนการแก้ปัญหาสังคม”

– ร่วมประชุมรับฟังและหารือเกี่ยวกับการดำเนินการสืบเนื่องจาก “สมัชชาคุณธรรมแห่งชาติและตลาดนัดคุณธรรม ครั้งที่ 2”

 

18 ก.พ. (อาทิตย์)

– ประชุมหารือกับสำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า เกี่ยวกับการใช้กระบวนการ “ประชาเสวนา” (Citizens Dialogue) และอื่นๆเพื่อเสริมสร้างสังคมสันติสมานฉันท์และเพื่อการพัฒนาสังคม

ที่บันทึกไว้ทั้งหมดข้างต้นนั้น ยังไม่นับรวมถึง การดูแฟ้มเสนองาน การมอบหมายและปรึกษางานทั่วไปทั้งโดยพบหน้าและทางโทรศัพท์ การสนทนาทางโทรศัพท์กับบุคคลต่างๆรวมถึงผู้สื่อข่าว การต้อนรับผู้มาพบทั่วไป (ซึ่งมีไม่มาก) และอื่นๆ

รวมแล้วทำให้พอมองเห็นภาพการทำงานของผมได้พอสมควรในแง่ลักษณะเนื้อหาของงานและการจัดสรรเวลา โดยพิจารณาจากการทำงานจริงในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา

จากการมองตัวเองแล้วพยายามไตร่ตรองอย่างพินิจพิเคราะห์ ผมคิดว่าผมน่าจะยังมีทางปรับปรุงพัฒนาการทำงาน ให้เน้นนโยบายและยุทธศาสตร์ได้มากยิ่งขึ้นและดียิ่งขึ้น

โดยเฉพาะให้มีความเข้มมากขึ้นไปอีก ให้เป็นเชิงรุกมากขึ้นไปอีก และให้บูรณการกับงานของหน่วยงานอื่นๆได้ดียิ่งขึ้นไปอีก

คงไม่ง่ายนัก แต่ผมจะพยายาม

สวัสดีครับ

ไพบูลย์  วัฒนศิริธรรม

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/79459

<<< กลับ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *