จดหมายถึงญาติมิตรพัฒนาสังคม ฉบับที่ 16 (21 พ.ค.50)
หัวใจสำคัญในการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ ความเป็นธรรม ความเป็นเจ้าของ และการมีส่วนร่วมที่แท้จริง
สองสัปดาห์ที่ผ่านมา ผมยังคงมีภารกิจมาก กลับบ้านดึกแบบทุกวัน หาเวลาเขียนจดหมายถึงญาติมิตรไม่ได้จนกระทั่งวันนี้ (20 พ.ค. 50 ซึ่งเป็นวันอาทิตย์ และผมไม่ได้ไปลงพื้นที่ในต่างจังหวัด)
เมื่อวันเสาร์ที่ 12 พ.ค. ผมไปจังหวัดปัตตานี ตอนเช้าไปเยี่ยมโครงการ “บ้านมั่นคง” ที่ชุมชนปูโป๊ะ ต.ตะลุโบ๊ะ อ.เมือง จ.ปัตตานี ซึ่งสร้างไปประมาณ 70 % บางบ้านก็เสร็จเรียบร้อยแล้ว แต่ยังไม่ได้ย้ายเข้าเพราะยังขาดไฟฟ้า
โครงการบ้านมั่นคงนี้ชาวบ้านพอใจมากเพราะเขาได้มีส่วนร่วมสูงมากในการคิด การตัดสินใจ และการดำเนินงานทั้งหมด และเขารู้สึกเป็น “เจ้าของ” อย่างแท้จริง นั่นคือ ชาวบ้านเห็นว่า โครงการนี้เป็น “ของเขา” ไม่ใช่ “ของรัฐ”
จากนั้นไปร่วมเวทีเครือข่ายชาวประมงพื้นบ้าน รับฟังสรุปปัญหาและข้อเสนอแนะ ภาคบ่ายประชุมพร้อมกันกับผู้นำชุมชนและผู้แทนหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องกับงานพัฒนา ซึ่งรวมถึงเรื่อง สวัสดิการชุมชน ที่ดินทำกิน การศึกษา วิทยุชุมชน การจัดตั้ง “สภาซูรอ” และความเดือดร้อนของชาวไทยพุทธ
วันอาทิตย์ที่ 13 พ.ค. พบกับบุคคลหลากหลาย จากภาคประชาสังคม รับฟังการให้ข้อมูลและความคิดเห็นในประเด็นปัญหาต่างๆ ได้แก่ เรื่องผู้สูงอายุ อุทยานทับที่ดินทำกินและที่ดินของชุมชน เยาวชนกับการพัฒนาชุมชน การช่วยเหลือครอบครัวที่ประสบภัยจากเหตุการณ์ความไม่สงบ การจัดการศึกษา ศาสนา การนำเสนอข่าวสาร และการปฏิบัติงานของหน่วยงานราชการ
จากนั้นไปร่วมกับคณะท่านนายกรัฐมนตรีซึ่งมีท่านรองนายกฯโฆษิตแ ละรัฐมนตรีหลายท่ากิจนรวมอยู่ด้วย เดินทางจากจังหวัดปัตตานีไปจังหวัดยะลา ประชุมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการต่างๆในเขต ศอ. บต. หรือเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะจังหวัดชายแดนภาคใต้ จบแล้วผมเดินทางกลับกรุงเทพฯ ในขณะที่คณะท่านนายกฯ เดินทางต่อไปยังจังหวัดกระบี่ เพื่อประชุมเกี่ยวกับการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งอันดามัน
การไปลงพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ครั้งนี้ ทำให้ผมได้สัมผัสบรรยากาศ ได้พบผู้คนหลายฝ่ายและหลากหลาย ได้ข้อมูลและได้ข้อคิดที่เป็นประโยชน์หลายประการทีเดียว
ข้อคิดที่สำคัญมากข้อหนึ่ง คือ ความตระหนักว่า หัวใจสำคัญของการแก้ปัญหาและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ไปสู่ความสันติสุขมั่นคง น่าจะประกอบด้วย
1 . “ความเป็นธรรม” ทั้งในทางกฎหมายและในทางสังคม ที่ประชาชนจะเห็นและรู้สึกได้ว่ามีอยู่จริงและมีอยู่อย่างทั่วถึง
- “ความเป็นเจ้าของ” รวมถึงความรู้สึกว่าเป็นเจ้าของวิถีชีวิต เป็นเจ้าของโครงการเป็นเจ้าของท้องถิ่น เป็นเจ้าของพื้นที่ มีส่วนเป็นเจ้าของสังคม และมีส่วนเป็นเจ้าของประเทศ อย่างไม่ด้อยไปกว่าคนในภาคอื่นๆหรือคนกลุ่มอื่นๆ
- “การมีส่วนร่วมที่แท้จริง” ซึ่งหมายถึงมีส่วนร่วมในการคิด ในการพิจารณา ในการตัดสินใจ ในการดำเนินการ ในการรับผลประโยชน์ ในการติดตามประเมินผล และในการเรียนรู้และพัฒนาต่อเนื่อง ในเรื่องต่างๆซึ่งเป็นการดำเนินการของภาครัฐและกระทบกับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน (ตัวอย่างที่ดีในข้อนี้ คือ “โครงการบ้านมั่นคง” ดังได้กล่าวข้างต้น)
สวัสดีครับ
ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/97508