จดหมายถึงญาติมิตรพัฒนาสังคม ฉบับที่ 19 (18 มิ.ย. 50)
กรณี ร่าง พรบ. สภาองค์กรชุมชน ได้สร้างปรากฏการณ์ “ความก้าวหน้า” ใน “ความไม่ก้าวหน้า” อย่างน่าสนใจและอย่างมีคุณค่ายิ่ง
เป็นเวลาเกือบ 2 สัปดาห์แล้วที่เรื่องของ “ร่าง พรบ. สภาองค์กรชุมชน” เป็นข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์ ทางโทรทัศน์ ทางวิทยุ รวมทั้งมีบทวิเคราะห์วิจารณ์ต่างๆต่อเนื่องมาทุกวัน และมีท่าทีว่าจะยังคงมีข่าวและบทวิเคราะห์วิจารณ์ต่อไปอีกระยะหนึ่งอย่างแน่นอน
เรื่องร่าง พรบ. สภาองค์กรชุมชนเริ่มเป็นข่าวหน้า 1 ครั้งแรก เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน โดยมีเนื้อข่าวว่าร่าง พรบ. นี้ถูกคัดค้านในที่ประชุม ครม. ในขณะที่ผมได้ชี้แจงต่อ ครม. ว่าร่าง พรบ. ฉบับนี้มีความสำคัญเป็นลำดับที่หนึ่งของกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ และเป็นยุทธศาสตร์สำคัญของกระทรวงฯที่สนองนโยบายด้านสังคมของรัฐบาลตามที่ได้แถลงต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ภายหลังการเข้ามารับหน้าที่บริหารราชการแผ่นดิน
เมื่อเรื่องนี้เป็นข่าวแพร่สะพัดออกไป ก็ได้มีเสียงทั้งสนับสนุนและคัดค้านจากหลายๆฝ่าย หลายๆกลุ่ม หลายๆบุคคล
สื่อมวลชนส่วนใหญ่ นักพัฒนาโดยรวม นักวิชาการโดยรวม องค์กรชุมชนโดยรวม ได้ให้ความเห็นในเชิงสนับสนุน ร่าง พรบ. สภาองค์กรชุมชน
ส่วนเสียงคัดค้านมาจากกระทรวงมหาดไทย สมาคมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทั้ง 3 สถาบัน (ได้แก่ สมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย สมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย และสมาคมสันติบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย) กับสมาคมกำนันผู้ใหญ่บ้านแห่งประเทศไทย เป็นหลัก
ในจังหวัดต่างๆหลายจังหวัด ได้มีกลุ่มองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านร่าง พรบ. สภาองค์กรชุมชน
แต่ก็มีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจำนวนหนึ่ง ตลอดจนกำนันผู้ใหญ่บ้านบางคนได้พูดสนับสนุนร่าง พรบ. ฉบับนี้
ทางด้านสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้มีสมาชิกจำนวนหนึ่งประกาศว่าจะนำเสนอร่าง พรบ. ในสาระทำนองเดียวกันเข้าสู่การพิจารณาของ สนช. ด้วยไม่ว่ารัฐบาลจะเสนอร่าง พรบ. สภาองค์กรชุมชนตามข้อเสนอของกระทรวงการพัฒนาสังคมฯหรือไม่ก็ตาม
สำหรับนักวิชาการ ได้มีการจัดสัมมนาพิจารณาร่าง พรบ. สภาองค์กรชุมชนที่จุฬาลงกรณ์มหาลัยไปแล้ว และทราบว่ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กับมหาวิทยาลัยในภูมิภาคจำนวนหนึ่งกำลังจะจัดสัมมนาในเรื่องนี้เช่นกัน
และพอจะคาดหมายได้ว่า การตื่นตัวรับรู้ การศึกษาเรียนรู้ การวิเคราะห์วิจารณ์ การพินิจพิจารณา ฯลฯ เรื่องร่าง พรบ. สภาองค์ชุมชนและประเด็นที่เกี่ยวพันกัน จะเกิดขึ้นอย่างกว้างขวางและอย่างต่อเนื่องไปอีกระยะหนึ่งเป็นอย่างน้อย
ดังนั้น แม้ว่า ครม. จะยังไม่เห็นชอบร่าง พรบ. สภาองค์กรชุมชน และได้ส่งเรื่องให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาประเด็นที่ขัดแย้งกันอยู่ก่อนนำมาให้ ครม. พิจารณาอีกครั้งหนึ่ง ในขณะที่ยังมีเสียงคัดค้านจากกระทรวงมหาดไทย และกลุ่มองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจำนวนมาก ซึ่งหมายความว่าความก้าวหน้าของร่าง พรบ. ฉบับนี้ คงต้องเกิดการสะดุดหรือชลอในช่วงเวลาหนึ่งเป็นอย่างน้อย
แต่จากปรากฏการณ์ดังที่ผมได้ลำดับมาโดยสังเขป อาจกล่าวได้ว่ากรณี ร่าง พรบ. สภาองค์กรชุมชนนี้ ได้สร้าง “ความก้าวหน้า” ใน “ความไม่ก้าวหน้า” ได้อย่างน่าสนใจและอย่างมีคุณค่าทีเดียว!
สวัสดีครับ
ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/104237