จดหมายถึงญาติมิตรพัฒนาสังคม ฉบับที่ 27 (3 ก.ย. 50)
“ละคร” กฎหมายว่าด้วยสภาองค์กรชุมชนเข้าสู่ “ฉากที่สอง” มีเสียงสนับสนุนกว้างขวาง แต่เสียงคัดค้านก็ยังอยู่
ผมได้เคยเขียนไว้แล้วว่า เรื่องการมีกฎหมายว่าด้วยสภาองค์กรชุมชน อาจเปรียบเสมือนละครเรื่องยาวที่มีหลายฉาก
ฉากแรกจบลงด้วยการรอฟังความคิดเห็นของคณะกรรมการทางกฤษฎีกาเกี่ยวกับผลกระทบของร่าง พรบ. สภาองค์กรชุมชน
ฉากที่สองเริ่มจากความเห็นที่คณะกรรมการกฤษฎีกาส่งให้ ครม. เมื่อต้นเดือนสิงหาคม สรุปความเห็นคือ ร่าง พรบ. นี้อาจมีปัญหาบางประการ ครม. จึงให้กระทรวง พม. นำร่าง พรบ.ไปพิจารณาทบทวนแล้วเสนอเข้ามาใหม่
ต่อมาได้มีการนำเสนอร่าง พรบ. สภาองค์กรชุมชนโดยสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) 60 คน เมื่อ 15 สิงหาคม 2550 ซึ่งรัฐบาล (โดยผมเป็นตัวแทน) ได้ขอรับร่าง พรบ. ดังกล่าวมาพิจารณา ภายใน 30 วัน ก่อนรับหลักการ
กระทรวง พม. ได้จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ เมื่อ 23 สิงหาคม 2550 โดยผมเป็นประธานการรับฟังความคิดเห็น และดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง มาช่วยเป็นผู้ดำเนินการ สรุปได้ดังนี้ครับ
การประชุมรับฟังความคิดเห็นต่อร่าง พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชน
“ร่วมคิดอย่างสร้างสรรค์ ร่วมมือกันเพื่อชุมชน”
วันที่ 23 สิงหาคม 2550
ณ โรงแรมแอมบาสซาเดอร์ กรุงเทพฯ
การสัมมนาครั้งนี้มีผู้เข้าร่วม 95 คน ประกอบด้วยผู้นำชุมชน ผู้แทนสมาคมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และท้องที่ 4 สมาคม นักวิชาการ สมาชิกสภานิติบัญญัติ และหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง
การสัมมนาเริ่มจากรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(นายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม) ชี้แจงที่มาของการรับฟังความเห็น ซึ่งร่าง พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชนเป็นร่างกฎหมายเสนอโดยเครือข่ายองค์กรชุมชน ซึ่งกระทรวงเห็นว่าเป็นกฎหมายที่มีเป้าหมายเพื่อมุ่งสร้างความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่น จึงได้นำมาเสนอเป็นกฎหมายที่เสนอโดยกระทรวง ซึ่งต่อมาเมื่อมีผู้คัดค้านร่าง พ.ร.บ.นี้จึงได้นำกลับมาปรึกษาหารือกันใหม่โดยเปิดรับฟังความเห็นทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง จากนั้นนายสิน สื่อสวน เลขาณุการประรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคม ได้เสนอสรุปสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ. สภาองค์กรชุมชน ฉบับที่ สภานิติบัญญัติได้นำไปปรับปรุงแก้ไข พร้อมกับประเด็นสำคัญที่ได้ปรับแก้ไปแล้ว
เวทีเปิดรับฟังความคิดเห็น โดย ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง โดยมีประเด็นสำคัญ ดังนี้
- สิ่งที่ชุมชนอยากจะเห็น และคิดว่ามีข้อดีอะไรจากการมี พ.ร.บ.ควรจะมีสภาองค์กรชุมชนหรือไม่
- รูปแบบและอำนาจหน้าที่ควรเป็นอย่างไร
- องค์ประกอบและที่มา
- วิธีการทำงานขององค์กรชุมชน
- อยากเห็นชุมชนเป็นอย่างไร
- อยากเห็นชุมชนเข้มแข็ง คือ ชุมชนรู้ศักยภาพของตนเองว่า อะไรทำได้ และอะไรทำไม่ได้ มีทรัพยากรอะไรอยู่บ้างมีจุดอ่อนอะไร ถ้าชุมชนเข้มแข็งทุกชุมชน ทุกตำบล ทุกจังหวัด จะทำให้ประเทศชาติเข้มแข็งด้วย ปลอดจากปัญหาต่างๆ ชุมชนเป็นตัวของตัวเอง ไม่ว่าใครจะมาเป็นรัฐบาล ชุมชนก็สามารถจัดการตนเองได้ พึ่งตนเองได้ พัฒนาตนเองได้อย่างมีส่วนร่วม “ชุมชนเป็นฐาน ข้าราชการเป็นครู” การที่ชุมชนรู้ศักยภาพของตนเอง ก็เท่ากับเรารู้แนวทางในการพัฒนาตนเองให้ไปสู่เป้าหมายของตนเองได้ (พลเอกสุรินทร์ พิกุลทอง)
- อยากเห็นชุมชนสนใจในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับตนเอง คิดค้นประเด็นที่เกี่ยวกับตนเอง มีพื้นที่ในการพูดคุย อยากเห็นวัฒนธรรมในการพูดคุยอย่างสร้างสรรค์ ใช้ปัญญามีการจัดระบบและวาระการพูดคุย และประเด็นเหล่านั้นนำไปสู่การพัฒนาตนเอง และนำไปสู่ความเข้มแข็งของชุมชน การจะทำอย่างนี้ ได้ไปสอดคล้องกับภารกิจที่ระบุไว้ในร่าง พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชน (คุณเอื้อจิต นักวิชาการนิเทศศาสตร์)
- อยากเห็นชุมชนเข้มแข็งไม่ถูกครอบงำจากภายนอก จากการเมือง ให้เรียนรู้และคิดเอง การมีองค์กรรองรับ จะเป็นเครื่องมือที่จะทำให้ชุมชนเข้มแข็ง และถ้ามีกฎหมายก็จะยิ่งทำให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น (สมบูรณ์ สิงกิ่ง ผูนำชุมชน)
- อยากเห็นชุมชนเข้มแข็ง และอยากเห็น อปท. เข้มแข็งด้วย หนุนเสริมกันและทำงานไปด้วยกันได้แต่ไม่ไว้ใจฝ่ายราชการ เพราะ อปท. มักถูกครอบงำจากมหาดไทย การมีโครงสร้างใหม่ที่เป็นสภาองค์กรชุมชน ที่ผลักดันโดย พม. นั้น เป็นที่กังวลว่า พม. ก็กำลังจะไปครอบงำชุมชน จะทำให้ชุมชนไม่เข้มแข็งด้วยตัวเอง (คุณมานพ ปัทมาลัยนายกเทศมนตรี)
- อยากเห็นชุมชนเข้มแข็ง และเป็นหนึ่งเดียวกันกับ อปท. รวมสภาองค์กรชุมชน และสภาท้องถิ่น เข้าด้วยกัน และไปอยู่ภายใต้สำนักนายกฯ ไม่ต้องสังกัดกระทรวงใด เพื่อปลอดจากครอบงำของกระทรวง (นายสนิท นายก อบต.ท้ายเหมือง)
- อยากเห็นชุมชนมีความภูมิใจในความเป็นชุมชน และสามารถใช้ความหลากหลายของกลุ่มกิจกรรมในชุมชนรวมถึงภูมิปัญญา เพื่อแก้ไขปัญหาต่างๆ ในชุมชน อยากเห็นกลุ่มเล็กๆ ที่มีกิจกรรมหลากหลายมีการเติบโตทางธรรมชาติ และไปเชื่อมโยงกันเอง (คุณลัดดาวัลย์ ตันติวิทยาพิทักษ์)
- ความเห็นของผมถ้าต้องการให้ชุมชนเข้มแข็งต้องมีสภาเดียว ทุกองค์กรจะเป็นสาขาของสภานั้นทั้งสิ้น และ ประชุมเดือนละครั้ง มีปัญหาเอาเข้าในที่ประชุมระดับหมู่บ้านมีสภาเดียว ระดับ ต. มีสภาฯเดียว และพูดกันรู้เรื่องทุกอย่างที่เข้าไปในหมู่บ้านสภานี้ต้องรู้ทั้งหมด ไม่ว่าจะมาจากกรม กอง กระทรวง หรือ เอกชน สภาฯ ต้องรู้ เพื่อแก้ไขและทำความเข้าใจกัน แต่บ้านเมืองของเราทำคนละครั้ง และพูดกันคนละทีความสามัคคีก็แตกแยกออกไปไม่เข้าใจกัน(คุณชำนาญภูวิลัย นายกสมาคมกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน)
- อยากเห็นชุมชนมีความสุข ไม่เป็นหนี้ มีสุขภาพดี มีความอบอุ่น มีความสามัคคี มีความเป็นตัวของตนเอง อิสระในการคิดและทำอยากเห็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน ทำอย่างไรให้อำนาจส่วนกลางลดลง และให้ท้องถิ่นมีอิสระในการบริหารจัดการมากขึ้น (คุณทิวาพร ศรีวรกุล เครือข่ายเกษตรกรรมกาญจนบุรี)
- ชุมชนต้องเข้มแข็งโดยตัวเอง เริ่มจากกิจกรรมของตัวเองและการปรึกษาหารือ เกิดจากกลุ่มเล็ก ๆ และค่อยรวมกันมาเป็นกลุ่มใหญ่ ไม่ใช่เข้มแข็งโดยกรอบและกติกาของกฎหมาย การเชื่อมโยงไปสู่ อปท. สามารถทำได้เลยโดยตรง ในขณะเดียวกัน องค์กรก็ต้องลงไปดูปัญหาเพื่อเชื่อมโยงและสนับสนุนด้วย (คุณสุเทพ นายก อบต.ตลิ่งชัน)
สรุปสิ่งที่อยากจะเห็น 2 แนวคิด
- ฝ่ายที่มาจากชุมชน หรือสนับสนุนชุมชนอยากเห็นชุมชนเข้มแข็ง มีความสุข มีอิสระในการคิดและทำ มีพื้นที่ในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และใช้ความหลากหลายของกลุ่มกิจกรรมในการพัฒนาไปสู่การแก้ปัญหาชุมชนร่วมกันโดยอาศัยกลไก “สภาองค์กรชุมชน” เป็นเครื่องมือสำคัญ
- ฝ่ายที่มาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอยากเห็นชุมชนเข้มแข็ง และ อปท.ก็เข้มแข็งด้วย โดยมองบนพื้นฐานขององค์กรและโครงสร้างว่าไม่ต้องแยกส่วนกันอยู่ ไม่ต้องอยู่ภายใต้การครอบงำของกระทรวงใด
- รูปแบบและอำนาจหน้าที่
.gotoknow-responsive-middle { width: 300px; height: 250px; } @media(min-width: 260px) { .gotoknow-responsive-middle { width: 300px; height: 260px; } } @media(min-width: 350px) { .gotoknow-responsive-middle { width: 336px; height: 280px; } } @media(min-width: 740px) { .gotoknow-responsive-middle { width: 728px; height: 90px; } }
- ไม่ควรแยกส่วนระหว่างชุมชนกับ อปท. เพราะ อปท.ก็มาจากชุมชน อยากเห็นชุมชนเป็นเจ้าของ อบต. เป็นเจ้าของท้องถิ่น โดยไม่ต้องไปตั้งใหม่เพราะหากมีการเลือกตั้งท้องถิ่น แล้วฝ่ายที่แพ้ก็จะลงใช้เวทีของสภาองค์กรชุมชน เพื่อมาคัดค้านการบริหารของ อปท. (คุณมานพ)
- มีเวทีหรือวงพูดคุยที่ชุมชนสามารถจัดการตนเองได้ มีสถานภาพที่ชุมชนได้รับการยอมรับตามกฎหมาย และกลุ่มเล็กๆ เหล่านี้จะเชื่อมโยงกันเพื่อสนับสนุน อปท. ในขณะเดียวกัน ฝ่ายที่แพ้จากการเลือกตั้งท้องถิ่น ก็จะได้มีเวทีการพูดคุยที่เป็นทางการ มีข้อเสนออย่างเป็นระบบต่อผู้บริหารท้องถิ่น ไม่ใช่มุ่งไปที่คัดค้านแบบไม่มีเหตุผล (ชาติชาย เหลืองเจริญ)
- มีรูปธรรมที่เกิดขึ้นจริงใน อบต.ศรีสว่าง ที่องค์กรชุมชนร่วมกันคิดแผนงานกิจกรรมและทำเอง อบต.เพียงแค่หนุนเสริมและอำนวยความสะดวกให้ซึ่งช่วยลดงานของ อบต. ได้มาก ดังนั้นจึงไม่มีอะไรที่จะขัดแย้งกันระหว่าง อปท. กับองค์กรชุมชน (คุณธนาทร นายก อบต.ศรีสว่าง)
- การที่จะมีกฎหมายสภาองค์กรชุมชน จะทำให้ชุมชนได้รับการยอมรับ มีความชอบธรรมทางกฎหมาย แต่ขณะเดียวกัน กฎหมายก็อาจทำให้ชุมชนอ่อนแอได้ แต่เป็นกฎหมายที่ผู้ปกครองร่างขึ้นมา แต่ฉบับนี้ เกิดจากการริเริ่มและยกร่างโดยประชาชนเอง (คุณจินดา บุญจันทร์ ผู้นำชุมชน)
5 . อยากให้มีองค์กรที่มีกฎหมายรองรับ ไม่ต้องมีอำนาจ หรืองบประมาณ หรือสถานที่ทำงานที่หรูหรา
ประเด็น อ.เจิมศักดิ์
การเชื่อมโยงระหว่างองค์กรชุมชนกับ อปท. จำเป็นหรือไม่ที่ชุมชนต้องเชื่อมโยงกันเองระหว่างกลุ่มที่ทำกิจกรรมเหมือนกัน ซึ่งจะทำให้เกิดการการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และพัฒนาตนเองขึ้นมาเป็นเครือข่ายองค์กรชุมชน ที่ใหญ่ขึ้น (หมายถึงตั้งองค์กร) แล้วจึงไปเชื่อมกับ อปท. โดย อปท. ต้องสร้างโครงสร้างไว้รองรับการเชื่อมโยง หรือว่าชุมชนไม่จำเป็นต้องเชื่อมกันเอง แต่สามารถเชื่อมโยงโดยตรงกับ อปท. ได้เลย
ประเด็น หมอชูชัย ศุภวงษ์
- พ.ร.บ.สภาฯ เป็นไปตามทิศทางในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
- อย่าทำทั่วประเทศเหมือนราชการ
- พื้นที่ภาคพลเมือง ขอให้เป็นภาคประชาชนจริงๆ ไม่ถูกแทรกแซงโดยการเมืองท้องถิ่นของกลุ่มผู้ไม่ได้รับการเลือกตั้ง ดังนั้นจะเขียนห้ามไว้ก็ดี
ประเด็นของกลุ่มที่คัดค้าน พ.ร.บ.
- ไม่ไว้วางใจ พม. โดยคิดว่า พม.จะไปครอบงำชุมชน
- การมีหลายองค์กรในท้องถิ่นทำให้เกิดความคิดเห็นที่แตกต่าง ตามจุดมุ่งหมายของตนเอง นำไปสู่การแตกแยก และเป็นเครื่องมือของการเมือง
- กลุ่มการเมืองท้องถิ่นที่ไม่ได้รับการเลือกตั้ง จะไปร่วมกับสภาองค์กรชุมชน เพื่อเข้ามาคัดค้านฝ่ายบริหาร
- ชุมชนคือท้องถิ่น เป็นเจ้าของท้องถิ่น ดังนั้น ควรนำความรู้ความสามารถของชุมชนที่มีอยู่มากมายไปเติมให้ อปท.จะดีกว่า
อ.ปาริชาติ
- มีการพูดถึงระหว่างหลักการกับปรากฎการณ์จริงในสังคม ซึ่งอาจไม่ตรงกัน
- ทำความเข้าใจว่าชุมชนมีความแตกต่างหลากหลาย ต้องเคารพความหลากหลาย เพื่อให้ชุมชนมีที่ยืน เวลาพูดถึงชุมชนอย่าเหมารวมว่าชุมชนเป็นแบบเดียวกันทั้งหมด ในชุมชนเองก็มีผู้คนที่แตกต่างหลากหลาย อำนาจแตกต่างกัน ความต้องการแตกต่างกัน ดังนั้น อย่าคิดว่าตนเองเข้าใจชุมชนจากสมมติฐานของตนเอง
- 3. พ.ร.บ.นี้ (หรือจะเรียกว่าเป็นกลไกอะไรก็ตาม) จะเป็นเวทีที่สร้างความเข้มแข็งขององค์กรชุมชน จากกิจกรรมและประสบการณ์จริงที่ชุมชนดำเนินการบนวิถีชีวิต ตอบสนองความต้องการ ทำให้คนที่เข้ามานั้นได้ฝึกฝนในด้านความคิด การยอมรับฟังผู้อื่น ยอมรับการบริหารจัดการทางการเมือง ให้มีการตรวจสอบจากสังคมได้ เรียนรู้เรื่องการบริหารจัดการและการวางแผน
- ควรมาตั้งต้นทบทวนความต้องการที่แท้จริงว่าต้องการให้มีชุมชนที่เข้มแข็ง ไม่ใช่ตั้งต้นจากกฎหมาย เพราะทุกวันนี้ชุมชนถูกรุมล้อมด้วยกฎหมาย
อ.เจิมศักดิ์
- อบต. เป็นองค์กรการเมืองในระดับท้องถิ่นที่ค่อนข้างแข็งกระด้าง ไม่แข็งขัน ไม่ต่างอะไรจากการเมืองระดับชาติ ที่สู้กันเมื่อมีฝ่ายชนะฝ่ายแพ้ก็จะทำให้ชุมชนแตกแยก ถ้าปล่อยไว้อย่างนี้ก็จะมีเสียงข้างมากเสียงข้างน้อยห้ำหั่นกัน ผลัดกันหาผลประโยชน์จากงบประมาณ ไม่ต่างจากการเมืองระดับชาติ
- อยากเห็น อบต.เป็นอิสระจากมหาดไทยและราชการ และเป็นองค์กรของชุมชนจริงๆ ปัญหาคือ ชุมชนก็มีการรวมตัวกันตามธรรมชาติอยู่แล้วหลากหลาย ที่ยึดโยงกันด้วยกิจกรรม ไม่ได้ยึดโยงด้วยรูปแบบ เหมือน อบต. ที่ยึดโยงด้วยการเลือกตั้ง ทำอย่างไรจึงจะเห็น อบต.ประสานกับกลุ่มกิจกรรม ตรงนี้จะทำให้มีการทำงานแข็งขัน มีกลุ่มกิจกรรมเป็นฐาน และในที่สุด อบต.จะทำงานแบบนักการเมือง ทำอย่างไรจึงจะหลอมรวมกัน โดยมีกลุ่มกิจกรรมเป็นผู้ช่วย ประกอบกับกลุ่มกิจกรรมในชุมชนก็อยากมีที่ยืนทางกฎหมาย มีที่รับรอง ในขณะเดียวกันไม่มีกฎหมายชุมชนก็ไปต่อ แต่ถ้ามีกฎหมายก็จะทำให้เขามีจุดยืนมากขึ้นในสังคม การปรับใหม่ที่ สนช. ปรับมาค่อนข้างอ่อนมาก เช่น มาตรา 18 เขียนเหมือนไม่ได้เขียน ไม่ต้องมีกฎหมายก็ทำได้ ซึ่งของใหม่ที่ปรับมานั้น อบต. เทศบาล ไม่น่าจะรู้สึกเดือดร้อนอะไร ดูเหมือนว่าเป็นกฎหมายรับรองสถานภาพเฉยๆ ดังนั้นทำอย่างไรให้มีการหลอมรวมกันได้
รองนายกรัฐมนตรี สรุปปิดท้ายว่า
- กระทรวงรับร่างกฎหมายฉบับนี้มาพิจารณา เมื่อมีประเด็นที่ผู้ซึ่งเกี่ยวข้องไม่เห็นด้วย ก็สามารถปรับแก้หรือตัดออกได้ เช่น การกำหนดฝ่ายเลขานุการ ไม่ระบุว่า เป็น พอช. ก็ได้ การกำหนดกระทรวงที่รักษาการตาม พ.ร.บ.ฉบับนี้ จะไม่ใช่ พม. ก็ได้ เป็นต้น
- จะจัดให้มีคณะทำงานวงเล็กไปช่วยปรับปรุงร่างกฎหมายฉบับนี้โดยนำความเห็นของวันนี้ไปประกอบ เพื่อให้ได้ข้อยุติแล้วกระทรวงจะนำเสนอเรื่องนี้ต่อคณะรัฐมนตรีต่อไปซึ่งคณะทำงานขอให้มีทั้งผู้แทนองค์กรชุมชน ผู้แทนองค์กรปกครองท้องถิ่นและท้องที่ นักวิชาการ ผู้แทนกระทรวงมหาดไทย และผู้แทนกระทรวง พม.
“ละคร” เรื่องกฎหมายว่าด้วย สภาองค์กรชุมชนในฉากที่สองนี้ ยังมีต่อแน่นอนครับ แต่วันนี้ผมขอจบการเล่าเรื่องเพียงเท่านี้ก่อน อีกไม่กี่วันจะเล่าตอนต่อไปครับ
สวัสดีครับ
ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/124687