จดหมายถึงญาติมิตรพัฒนาสังคม ฉบับที่ 28 (10 ก.ย. 50)

จดหมายถึงญาติมิตรพัฒนาสังคม ฉบับที่ 28 (10 ก.ย. 50)


“ละคร” กฎหมายสภาองค์กรชุมชน ฉากที่ 2 (ต่อ) / ร่าง พรบ. สภาองค์กรชุมชน พ.ศ. …… (ฉบับล่าสุด)/  ถาม-ตอบ สาระสำคัญของร่าง พรบ. สภาองค์กรชุมชน

“ละคร” กฎหมายสภาองค์กรชุมชน ในฉากที่ 2 นี้ คงต้องแบ่งเป็น 2 ตอน ตอนที่ 1 มีบทบาทของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เป็นหลัก ส่วนตอนที่ 2 เป็นตอนที่เกี่ยวโยงกับบทบาทของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เป็นสำคัญ

ในตอนที่ 1 ของฉากที่ 2 นี้ หลังจากนี้ หลังจากที่กระทรวง พม. เปิดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ เมื่อวันที่ 23 ส.ค. 50 แล้วตั้งคณะทำงานร่วมหลายฝ่ายขึ้นมายกร่าง พรบ. สภาองค์กรชุมชน ฉบับใหม่ โดยพยายามปรับจากร่างของ สนช. ให้สอดคล้องกับความเห็นคิดที่ได้รับฟังมา จึงได้ร่าง พรบ. สภาองค์กรชุมชน พ.ศ. … ฉบับล่าสุด ดังนี้

                                                                                บันทึกหลักการและเหตุผล

                                                                ประกอบร่างพระราชบัญญัติสภาองค์กรชุมชน

                                                                                                พ.ศ. ….

                                                                             ………………………………

                                                                                              หลักการ

ให้มีกฎหมายว่าด้วยสภาองค์กรชุมชน

                                                                                                เหตุผล

ด้วยชุมชนเป็นสังคมฐานรากที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ มีวิถีชีวิต วัฒนธรรมแตกต่างหลากหลายตามภูมินิเวศน์ การพัฒนาประเทศที่ผ่านมา ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ทั้งทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ชุมชนอ่อนแอ ประสบปัญหาความยากจน เกิดปัญหาสังคมมากขึ้น ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมของชุมชนถูกทำลายจนเสื่อมโทรม เพื่อให้ชุมชนมีความเข้มแข็ง มีสถานภาพ สามารถจัดการตนเองได้อย่างยั่งยืน รวมทั้ง มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาประเทศ การสร้างระบอบประชาธิปไตย และระบบธรรมาภิบาล ซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยได้บัญญัติรับรองสิทธิชุมชนและประชาชนให้มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาท้องถิ่นตามความหลากหลายของวิถีชีวิต วัฒนธรรมและภูมิปัญญาของท้องถิ่น จึงเห็นสมควรส่งเสริมและสนับสนุนให้ชุมชนและประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงมีความจำเป็นต้องมีพระราชบัญญัตินี้

                                                                                                     ร่าง

                                                                                        พระราชบัญญัติ

                                                                                      สภาองค์กรชุมชน

                                                                                                  พ.ศ. ….

                                                                               …………………………

                                                                         …………………………………………………………

                                                                      …………………………………………………………

                                                                      …………………………………………………………

                ………………………………………………………………………………………………………………………………………..

โดยที่เป็นการสมควรให้มีกฎหมายว่าด้วยสภาองค์กรชุมชน     

                ……………………………………………………………………………………………………………

…………………………
                มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติสภาองค์กรชุมชน พ.ศ. ….”

มาตรา ๒  พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

มาตรา ๓  ในพระราชบัญญัตินี้

“ชุมชน” หมายความว่า กลุ่มคนที่มีวิถีชีวิตเกี่ยวพันกัน และมีการติดต่อสื่อสารระหว่างกันอย่างเป็นปกติและต่อเนื่อง โดยเหตุที่อยู่ในอาณาบริเวณเดียวกัน หรือมีอาชีพเดียวกันหรือประกอบกิจกรรมที่มีวัตถุประสงค์ร่วมกัน หรือมีวัฒนธรรม ความเชื่อ หรือความสนใจร่วมกัน

“องค์กรชุมชน” หมายความว่า กลุ่มประชาชนในหมู่บ้านหรือชุมชนที่รวมตัวกันจัดตั้งเป็นองค์กรเพื่อดำเนินการร่วมกันในการพัฒนาชุมชน หรือในการช่วยเหลือหรือสนับสนุนกัน หรือทำกิจกรรมอันชอบด้วยกฎหมายและศีลธรรมอันดีร่วมกัน โดยมีระบบการบริหารจัดการตามที่ตกลงกัน ทั้งนี้ ไม่ว่าประชาชนจะจัดตั้งกันขึ้นเอง หรือโดยการแนะนำหรือสนับสนุนของหน่วยงานของรัฐ เอกชน หรือองค์กรพัฒนาเอกชน

“ผู้แทนองค์กรชุมชน” หมายความว่า ประธานกรรมการขององค์กรชุมชน หรือหัวหน้ากลุ่ม หรือผู้ดำรงตำแหน่งที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเป็นผู้นำขององค์กรชุมชนในทำนองเดียวกัน

“หมู่บ้าน” หมายความว่า หมู่บ้านตามกฎหมายว่าด้วยลักษณะการปกครองท้องที่ และให้หมายความรวมถึงชุมชนที่จัดตั้งขึ้นตามประกาศของทางราชการ

“องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น” หมายความว่า องค์การบริหารส่วนตำบล เทศบาล เขตในกรุงเทพมหานคร หรือเขตพื้นที่ที่กฎหมายเรียกชื่อเป็นอย่างอื่น

“จังหวัด” หมายความรวมถึง กรุงเทพมหานคร

“รัฐมนตรี” หมายความว่า รัฐมนตรีที่รักษาการตามพระราชบัญญัติฉบับนี้

มาตรา ๔ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์  และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

                                                                                                หมวด ๑

                                                                                     สภาองค์กรชุมชน

                                                                                      …………………………

มาตรา ๕  การจัดตั้ง สภาองค์กรชุมชนให้พิจารณาถึงความพร้อมและเห็นสอดคล้องต้องกันของกลุ่มประชาชนในหมู่บ้านหรือชุมชน เพื่อดำเนินการตามภารกิจที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัตินี้

                การจัดตั้งสภาองค์กรชุมชน ให้ผู้แทนองค์กรชุมชนที่ได้จดแจ้งการจัดตั้งไว้กับ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นซึ่งเป็นที่ทำการขององค์กรชุมชนนั้น ก่อนวันประชุมปรึกษาหารือร่วมกันตามวรรคสาม

ในการประชุมจัดตั้งสภาองค์กรชุมชน  ต้องมีผู้แทนขององค์กรชุมชนมาร่วมประชุมไม่น้อยกว่าร้อยละหกสิบขององค์กรทั้งหมดตามวรรคสอง จึงเป็นองค์ประชุม และต้องเห็นสอดคล้องต้องกันให้จัดตั้งสภาองค์กรชุมชนไม่น้อยกว่าร้อยละหกสิบของจำนวนองค์กรชุมชนทั้งหมดตามวรรคสอง

เมื่อได้จัดตั้งแล้ว ให้จดแจ้งการจัดตั้งสภาองค์ชุมชนต่อ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นซึ่งเป็นที่ทำการของ สภาองค์กรชุมชน และให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแห่งนั้นรายงานผู้ว่าราชการจังหวัดเพื่อทราบ

มาตรา ๖ เมื่อที่ประชุมปรึกษาหารือผู้แทนองค์กรชุมชนตามมาตรา ๕ เห็นสอดคล้องกันให้จัดตั้งสภาองค์กรชุมชน  ให้ที่ประชุมกำหนดหลักเกณฑ์การดำเนินงานสภาองค์กรชุมชนอย่างน้อย ดังนี้

                (1) องค์ประกอบ และจำนวนสมาชิกสภาองค์กรชุมชน

(2) คุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของสมาชิกสภาองค์กรชุมชน โดยคำนึงถึงความ หลากหลาย และการเปิดโอกาสให้ผู้แทนองค์กรชุมชนในหมู่บ้านมีส่วนร่วมอย่างทั่วถึง

(3) ตำแหน่งหน้าที่ และบทบาทความรับผิดชอบในสภาองค์กรชุมชน

(4) วาระการดำรงตำแหน่ง และการพ้นจากตำแหน่งของสมาชิกสภาองค์กรชุมชน

(5) การประชุมสมาชิกสภาองค์กรชุมชน

(6) การยุบเลิกสภาองค์กรชุมชน

โดยผู้แทนองค์กรชุมชนไม่น้อยกว่าร้อยละหกสิบขององค์กรชุมชนที่จดแจ้งเห็นชอบตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดร่วมกัน

หากหมู่บ้านหรือชุมชนใดได้มีการดำเนินงานในรูปแบบสภาองค์กรชุมชน และมีวัตถุประสงค์สอดคล้องกับสภาองค์กรชุมชน  ให้สามารถดำเนินการต่อเนื่องต่อไปได้โดยได้รับการรับรองจากที่ประชุมของสมาชิกไม่น้อยกว่าร้อยละหกสิบขององค์กรชุมชน

มาตรา ๗ ให้สภาองค์กรชุมชน มีภารกิจดังต่อไปนี้

(๑) ส่งเสริมและสนับสนุนให้องค์กรชุมชนในเกิดความเข้มแข็งและสมาชิกองค์กรชุมชนรวมตลอดทั้งประชาชนทั่วไปใน สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน

(๒) ส่งเสริมและสนับสนุน ให้สมาชิกองค์กรชุมชนอนุรักษ์หรือฟื้นฟูจารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น ศิลปะหรือวัฒนธรรมอันดีของชุมชนและของชาติ

(๓) ส่งเสริมและสนับสนุนให้สมาชิกองค์กรชุมชนร่วมกันจัดการดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่น รวมทั้งการร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและหน่วยงานของรัฐในการจัดการ การบำรุงรักษา และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ ที่จะเป็นประโยชน์ต่อชุมชนและประเทศชาติอย่างยั่งยืน

(๔) เสนอแผนชุมชนต่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อนำไปประกอบการพิจารณาในการ จัดทำแผนพัฒนาของ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

(๕) เสนอแนะปัญหาและแนวทางแก้ไข หรือความต้องการของประชาชนอันเกี่ยวกับ การจัดทำบริการสาธารณะ ของหน่วยงานของรัฐ  หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

(๖) จัดให้มีเวทีการปรึกษาหารือกันของประชาชนเพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการให้ความคิดเห็นต่อ การดำเนิน โครงการหรือกิจกรรมของหน่วยงานภาครัฐหรือเอกชนที่มีผลหรืออาจ ก่อให้เกิดผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมหรือทรัพยากรธรรมชาติ สุขภาพอนามัย คุณภาพชีวิตของประชาชนในชุมชน ทั้งนี้ หน่วยงานภาครัฐซึ่งเป็นผู้ดำเนินการหรือเป็นผู้อนุญาตให้ภาคเอกชนดำเนินการนำความเห็นดังกล่าวมาประกอบการพิจารณาด้วย

(๗) ประสานและร่วมมือกับสภาองค์กรชุมชนอื่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

(๘) วางระเบียบและข้อบังคับในการดำเนินกิจการของสภาองค์กรชุมชน

(๙) จัดทำรายงานการดำเนินงานของสภาองค์กรชุมชน รวมถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในด้านต่างๆ เพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทราบ

(๑๐)  เสนอรายชื่อสมาชิกสภาองค์กรชุมชนให้เป็นผู้แทนไปร่วมประชุมในระดับจังหวัดของสภาองค์กรชุมชน

มาตรา ๘ ในการปฏิบัติภารกิจตามมาตรา ๗ สภาองค์กรชุมชนจะตั้งคณะกรรมการขึ้นเพื่อปฏิบัติภารกิจแทนก็ได้  โดยคำนึงถึงความเหมาะสม คล่องตัว ประสิทธิผล ประสิทธิภาพ และประหยัดในการดำเนินงาน

ในการปฏิบัติภารกิจของคณะกรรมการตามวรรคหนึ่งให้เป็นไปตามระเบียบ  ข้อบังคับ และภารกิจของสภาองค์กรชุมชน

มาตรา ๙  การส่งเสริมสนับสนุนการจัดตั้ง การดำเนินงานและการพัฒนาสภาองค์กรชุมชน  ให้เป็นไปตามข้อตกลงร่วมกันของสภาองค์กรชุมชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

หมวด ๒

การประชุมในระดับจังหวัดของสภาองค์กรชุมชน

………………………….

                มาตรา ๑๐  ให้มีการประชุมสภาองค์กรชุมชนในระดับจังหวัดอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้งเมื่อ

(๑) สภาองค์กรชุมชนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสี่ของสภาองค์กรชุมชนทั้งหมดในจังหวัดเห็นควรให้มีการประชุมเพื่อพิจารณาและเสนอแนะเรื่องใดเรื่องหนึ่งอันอยู่ในภารกิจของสภาองค์กรชุมชน

(๒) ผู้ว่าราชการจังหวัดเห็นเป็นการสมควรที่จะรับฟังความคิดเห็นของสภาองค์กรชุมชน ในการจัดทำหรือแก้ไขแผนพัฒนาจังหวัด หรือความเห็นต่อเรื่องใดเรื่องหนึ่ง

มาตรา ๑๑ ในการประชุมในระดับจังหวัดของสภาองค์กรชุมชน บุคคลดังต่อไปนี้ย่อมมีสิทธิเข้าร่วมประชุม แสดงความคิดเห็น และลงมติ

(๑) ผู้แทนของสภาองค์กรชุมชน

(๒) ผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ในจังหวัดซึ่งผู้แทนของสภาองค์กรชุมชนตาม (๑) คัดเลือกให้เชิญมาร่วมประชุมมีจำนวนไม่เกินหนึ่งในห้าของผู้แทนของสภาองค์กรชุมชนตาม (๑)

หลักเกณฑ์การเสนอชื่อผู้ทรงคุณวุฒิตาม (๒) ให้เป็นไปตามระเบียบของที่ประชุมของผู้แทนตาม (๑)

 

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/126812

<<< กลับ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *