จดหมายถึงญาติมิตรพัฒนาสังคม ฉบับที่ 28 (10 ก.ย. 50) ต่อ

จดหมายถึงญาติมิตรพัฒนาสังคม ฉบับที่ 28 (10 ก.ย. 50) ต่อ


    มาตรา ๑๒  ให้ที่ประชุมในระดับจังหวัดของสภาองค์กรชุมชน ดำเนินการเรื่องต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

(๑)ส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดความร่วมมือกันระหว่างสภาองค์กรชุมชนเพื่อให้ประชาชนสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน

(๒) เสนอแนะปัญหาและแนวทางแก้ไขและการพัฒนาจังหวัดต่อผู้ว่าราชการจังหวัดและองค์การบริหารส่วนจังหวัดเพื่อนำไป ประกอบการพิจารณาในการจัดทำแผนพัฒนาจังหวัด

(๓) เสนอแนะต่อผู้ว่าราชการจังหวัดและองค์การบริหารส่วนจังหวัดเกี่ยวกับปัญหาและแนวทางแก้ไข หรือความต้องการของประชาชนในเรื่อง การจัดทำบริการสาธารณะ และการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ สังคม คุณภาพชีวิต และสิ่งแวดล้อม ของหน่วยงานของรัฐในระดับจังหวัด  หรือขององค์การบริหารส่วนจังหวัด

(๔) เสนอข้อคิดเห็นในเรื่องที่ผู้ว่าราชการจังหวัดหรือองค์การบริหารส่วนจังหวัดปรึกษา

(๕)แต่งตั้งผู้แทนที่ประชุมในระดับจังหวัดของสภาองค์กรชุมชน เพื่อไปร่วมประชุมในระดับชาติของสภาองค์กรชุมชน

มาตรา ๑๓ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาจให้การอุดหนุนค่าใช้จ่ายในการดำเนินการจัดประชุมในระดับจังหวัดของสภาองค์กรชุมชนตามเห็นสมควร

                                                                                                หมวด ๓

การประชุมในระดับชาติของสภาองค์กรชุมชน

………………………….

มาตรา ๑๔ ในปีหนึ่งให้มีการจัดประชุม ในระดับชาติของสภาองค์กรชุมชนอย่างน้อยหนึ่งครั้ง โดยให้สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหาชน)ทำหน้าที่เป็นฝ่ายเลขานุการ

                มาตรา ๑๕ ในการประชุมในระดับชาติของสภาองค์กรชุมชน บุคคลดังต่อไปนี้ย่อมมีสิทธิเข้าร่วมประชุม แสดงความคิดเห็น และลงมติ

(๑) ผู้แทนของที่ประชุมในระดับจังหวัดของสภาองค์กรชุมชนตามที่ได้รับการแต่งตั้งตามมาตรา ๑๒

(๒) ผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งผู้แทนของที่ประชุมในระดับจังหวัดของสภาองค์กรชุมชนตาม (๑) เสนอให้เชิญมาร่วมประชุมมีจำนวนไม่เกินหนึ่งในห้าของผู้แทนตาม (๑)

หลักเกณฑ์การเสนอชื่อผู้ทรงคุณวุฒิตาม (๒) ให้เป็นไปตามระเบียบของที่ประชุมของผู้แทนตาม (๑)

มาตรา ๑๖ ให้ที่ประชุมในระดับชาติของสภาองค์กรชุมชน ดำเนินการเรื่องต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

(๑) กำหนดมาตรการส่งเสริมและสนับสนุนการจัดตั้งและการพัฒนาสภาองค์กรชุมชน ในระดับให้เกิดความเข้มแข็งและพึ่งตนเองได้เพื่อเสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปประกอบการพิจารณา

(๒) ให้ความเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับ การกำหนดนโยบายและแผนพัฒนาทางเศรษฐกิจ สังคม และกฎหมาย  รวมทั้งการจัดทำบริการสาธารณะ ของหน่วยงานของรัฐ หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีผลต่อพื้นที่มากกว่าหนึ่งจังหวัดทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม คุณภาพชีวิต และสิ่งแวดล้อม

(๓) สรุปปัญหาที่ประชาชนในจังหวัดต่าง ๆ ประสบ และข้อเสนอแนะแนวทางการแก้ไข เพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาสั่งการ

(๔) ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่คณะรัฐมนตรี หรือนายกรัฐมนตรีมอบหมาย

มาตรา ๑๗ ให้สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนให้การอุดหนุนค่าใช้จ่ายในการดำเนินการจัดประชุมในระดับชาติของสภาองค์กรชุมชนเป็นเงินอุดหนุนทั่วไปตามควรแก่กรณี และจะอุดหนุนค่าใช้จ่ายในการดำเนินการจัดประชุมของสภาองค์กรชุมชนและการประชุมในระดับจังหวัดของสภาองค์กรชุมชนด้วยก็ได้

หมวด ๔

การส่งเสริมกิจการของสภาองค์กรชุมชน

………………………….

                มาตรา ๑๘  กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหาชน)ซึ่งจัดตั้งขึ้นตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหาชน) พ.ศ. ๒๕๔๓ มีอำนาจหน้าที่ดำเนินการต่าง ๆ เกี่ยวกับการส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการจัดตั้งและพัฒนากิจการของสภาองค์กรชุมชน  และให้มีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้

(๑) ประสานและดำเนินการให้มีการจัดตั้งและดำเนินการของสภาองค์กรชุมชน รวมทั้งเผยแพร่และประชาสัมพันธ์กิจการเกี่ยวกับสภาองค์กรชุมชน และผลการประชุมของการประชุมระดับจังหวัดและระดับชาติของสภาองค์กรชุมชน

(๒) รวบรวมข้อมูล ศึกษา วิจัยและพัฒนาเกี่ยวกับงานของสภาองค์กรชุมชน

(๓) ประสานและร่วมมือกับราชการส่วนกลาง ราชการส่วนภูมิภาค ราชการส่วนท้องถิ่น องค์กรภาคเอกชนและองค์กรภาคประชาสังคม ในการดำเนินการตามพระราชบัญญัตินี้

(๔) จัดทำทะเบียนกลางเกี่ยวกับสภาองค์กรชุมชน

(๕) จัดให้มีระบบการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติจัดตั้งและดำเนินการของสภาองค์กรชุมชนและผลการประชุมในทุกระดับแล้วเสนอรายงานต่อที่ประชุมสภาองค์กรชุมชนระดับชาติ และรัฐมนตรีเพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรีอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง

(๖) ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่ที่ประชุมสภาองค์กรชุมชนระดับชาติหรือรัฐมนตรีมอบหมาย

มาตรา ๑๙ เพื่อประโยชน์ในการส่งเสริมกิจการของสภาองค์กรชุมชน ให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัตินี้   นายกรัฐมนตรีโดยการเสนอแนะของที่ประชุมระดับชาติของสภาองค์กรชุมชนอาจออกระเบียบว่าด้วยการส่งเสริมสภาองค์กรชุมชน เพื่อกำหนดแนวทางการส่งเสริมกิจการของสภาองค์กรชุมชน และอาจจัดให้มีคณะกรรมการเพื่อส่งเสริมการดำเนินการตามพระราชบัญญัตินี้ได้

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

……………………………………..

นายกรัฐมนตรี

(ร่างพระราชบัญญัติสภาองค์กรชุมชน พ.ศ. ….. ฉบับปรุงปรุงเพื่อนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีวันที่ ๔ กันยายน ๒๕๕๐)

ต่อมา เมื่อวันอังคารที่ 4 ก.ย. 50 ท่านรองนายกฯขอให้ผมนำเรื่องร่าง พรบ. สภาองค์กรชุมชน เข้าหารือในช่วงประชุม ครม. “นอกรอบ” (ก่อนประชุมตามวาระปกติ และไม่มีข้าราชการร่วมประชุมด้วย)

ในการนี้ กะทรวง พม. ได้ทำ “ถาม-ตอบ สาระสำคัญของ ร่าง พรบ. สภาองค์กรชุมชน” เพื่อประกอบการพิจารณาด้วย ดังนี้ครับ

                                                            ถาม – ตอบ

                                                สาระสำคัญของสภาองค์กรชุมชน

  1. สภาองค์กรชุมชนคืออะไร ?

                สภาองค์กรชุมชน หมายถึง เวทีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพื่อกำหนดแนวทางการพัฒนาชุมชนของคนในชุมชนท้องถิ่น โดยคนในชุมชนท้องถิ่น และเพื่อคนในชุมชนท้องถิ่น เวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ดังกล่าวประกอบด้วย ตัวแทนของสถาบันในชุมชนท้องถิ่น เช่น วัด โรงเรียน สถานีอนามัย เป็นต้น ตัวแทนของกลุ่มองค์กรชุมชนต่างๆ เช่น กลุ่มออมทรัพย์ กลุ่มแม่บ้าน กลุ่มโรงสี กลุ่มอนุรักษ์ป่า และกลุ่มกิจกรรมพัฒนาอื่นๆ ที่มีอยู่ในแต่ละชุมชน โดยมีผู้นำชุมชนที่ไม่เป็นทางการ เช่น ผู้รู้ภูมิปัญญา ปราชญ์ชาวบ้าน  และผู้นำทางการได้แก่ กำนัน ผู้ใหญ่บ้านในชุมชนท้องถิ่น เข้ามาร่วมใช้เวทีพูดคุยเพื่อแก้ไขปัญหาของชุมชนท้องถิ่นร่วมกัน เป็นระบบการจัดการตนเองของชุมชนท้องถิ่นที่มีมาตั้งแต่อดีตแล้ว ตัวอย่างของจัดการตนเองในรูปแบบของสภาองค์กรชุมชน เช่น สภาผู้นำตำบลไม้เรียง อำเภอฉวาง จังหวัดนครศรีธรรมราช สภาผู้นำของตำบลเสียว กิ่งอำเภอโพธิ์ศรีสุวรรณ จังหวัดศรีสะเกษ สภาซูรอของชุมชนมุสลิม เป็นต้น

  1. หลักการสำคัญของสภาองค์กรชุมชนคืออะไร

                ( 1) จุดมุ่งหมายของ สภาองค์กรชุมชนเป็นกระบวนการเสริมสร้างองค์กรชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็งที่ให้องค์กรชุมชนมีสถานภาพที่ชัดเจนในการดำเนินงานพัฒนาชุมชนท้องถิ่น ร่วมกับ สถาบันต่าง ๆ ในท้องถิ่น

                (2) การจัดตั้งสภาองค์กรชุมชน ให้เป็นไปตามความพร้อมของชุมชนท้องถิ่น ตามธรรมชาติสอดคล้องกับวิถีวัฒนธรรมภูมิปัญญาของชุมชน และความเห็นพ้องต้องกันของผู้ที่เกี่ยวข้อง

                (3) ภารกิจหน้าที่ของสภาองค์กรชุมชน เน้นการดำเนินงานตามภารกิจหน้าที่ด้านการพัฒนาและการจัดกระบวนการเรียนรู้ ที่ชุมชนสามารถดำเนินการได้ตามรัฐธรรมนูญ และ ไม่มีอำนาจทางกฎหมาย

                (4) กระบวนการทำงานสำคัญของสภาองค์กรชุมชน เน้นการสร้างประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือและการเมืองสมานฉันท์ที่สร้างการมีส่วนร่วม ความร่วมมือผนึกกำลัง และการเรียนรู้ร่วมกันของสมาชิกองค์กรชุม กับ สถาบันต่าง ๆ ในท้องถิ่น เช่น บ้าน วัด โรงเรียน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และ ส่วนราชการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง

                (5) ให้ความสำคัญกับสภาองค์กรชุมชนในระดับพื้นที่ และส่งเสริมการเชื่อมโยงสภาองค์กรชุมชน ในระดับจังหวัดและระดับชาติ

  1. มี พรบ. สภาองค์กรชุมชน แล้วเกิดประโยชน์อย่างไร

                (1) ทำให้ชุมชนท้องถิ่น มีเวทีกลางของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ในการพัฒนาชุมชนท้องถิ่น ที่เปิดพื้นที่ให้กลุ่มกิจกรรมต่าง ๆ  คนที่มีความตั้งใจทำสิ่งดี ๆ เพื่อชุมชน หรือคนที่ประสบปัญหาความเดือดร้อนได้มาพูดคุยแลกเปลี่ยน เพื่อหาทางแก้ปัญหาและสร้างสรรค์สิ่งดี ๆ เพื่อชุมชนท้องถิ่น ร่วมกัน

                (2) ทำให้เกิดความร่วมมือ และลดปัญหาความขัดแย้ง การแบ่งฝ่ายในชุมชน เพราะสภาองค์กรชุมชนเป็นกระบวนการที่ให้ความสำคัญกับการปรึกษาหารือของทุกฝ่ายร่วมกัน ไม่กับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งออกไป รวมทั้งการแก้ไขปัญหาระบบอุปถัมป์ ของผู้อิทธิพลเนื่องจากกระบวนการตัดสินใจใช้มาจากข้อมูล และความเห็นพ้องต้องกันของคนส่วนใหญ่

                (3) ทำให้ชุมชนเกิดการจัดการความรู้เกี่ยวกับการจัดการตนเองของชุมชนที่เกิดจากการปฏิบัติจริง และเกิดการขยายผลออกไปสู่วงกว้างอย่างเป็นกระบวนการ นั่นหมายถึงรูปแบบ ทิศทาง การพัฒนาชุมชนท้องถิ่นจะเปลี่ยนจากการรอคอยให้คนอื่นทำให้ มาเป็นคนในชุมชนท้องถิ่นเป็นคนคิดริเริ่ม และดำเนินการกันเองเป็นหลัก เป็นรูปแบบการพัฒนาที่ยึดเอาชุมชนเป็นแกนกลาง ชุมชนชาวบ้านมีบทบาทสำคัญแต่ยังคงร่วมมือกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

                (4) ทำให้เกิดประชาธิปไตยชุมชนที่เข้มแข็ง เพราะสภาองค์กรชุมชนมีกระบวนการประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือทำให้คน กลุ่มคน เข้ามาร่วมกันทำโดยผ่านระบบตัวแทนน้อยที่สุด

  1. ภารกิจหน้าที่ของสภาองค์กรชุมชนคืออะไร ซ้ำซ้อนกับอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือไม่

                (1) สภาองค์กรชุมชนมีภารกิจที่สำคัญ คือ การสร้างความเข้มแข็งของสมาชิกและองค์กรชุมชนในตำบลให้สามารถพึ่งพาตนเองได้  มีหน้าที่เกี่ยวกับการดูแลอนุรักษ์ วัฒนธรรมภูมิปัญญา ทรัพยากรธรรมชาติของชุมชนท้องถิ่น รวมทั้งการจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และให้ข้อคิดเห็น กับโครงการต่างที่อาจส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ที่ดีของคนในชุมชนท้องถิ่น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นภาระหน้าที่ที่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ

และในส่วนที่เกี่ยวข้องกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สภาองค์กรชุมชนมีหน้าที่ให้ข้อมูล การเสนอปัญหา ความต้องการ ตลอดจนแนวทางการพัฒนา แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น นำไปพิจารณา  โดยไม่มีอำนาจที่จะไปดำเนินการใด ๆ ที่ซ้ำซ้อนกับอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในอีกด้านหนึ่งเท่ากับสภาองค์กรชุมชนเป็นกลไกที่เกื้อหนุนต่อการทำงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้ดียิ่งขึ้น

5 สภาองค์กรชุมชนเป็นหน่วยงานราชการหรือไม่ และถ้ามี พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชน จะทำให้ชุมชนเสียความเป็นอิสระตามธรรมชาติได้หรือไม่ 

สภาองค์กรชุมชนไม่เป็นหน่วยราชการเพราะกฎหมายไม่ได้บังคับว่าต้องมีสภาองค์กรชุมชน และไม่ได้กำหนดรายละเอียดของสภาองค์กรชุมชนว่าจะต้องเป็นอย่างไร  เพียงแต่ส่งเสริมการมี และให้สถานภาพกับองค์กรชุมชนที่เกิดจากการรวมตัวกันของคนในท้องถิ่นด้วยจิตอาสา ด้วยความเคารพนับถือกัน ด้วยความสมัครใจ ไม่มีการให้คุณให้โทษ มารวมกันตามกำหนดนัดเมื่อเสร็จสิ้นภารกิจก็แยกย้ายกันไป การจัดประชุมสภาองค์กรชุมชนอาจใช้สถานที่ของวัด โรงเรียน หรือที่ที่เหมาะสมตามสภาพของแต่ละชุมชนท้องถิ่น จึงไม่มีสำนักงาน ไม่มีสายบังคับบัญชาเชิงอำนาจเหมือนระบบราชการ ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่าสภาองค์กรชุมชนไม่ใช่การตั้งหน่วยราชการใหม่เพื่อลงไปดำเนินงานในพื้นที่ แต่เป็นการรวมกัน และวางระบบการบริหารจัดการกันเองของคนในชุมชนท้องถิ่น โดยมีหน่วยงานราชการและหน่วยงานภายนอกเข้าไปหนุนเสริมมากกว่า  

                ดังนั้นการมีสภาองค์ชุมชนจึงไม่ไปทำให้ชุมชนต้องสูญเสียความเป็นธรรมชาติและความเป็นอิสระแต่อย่างไร ซึ่งถ้าหากชุมชนท้องถิ่นใดที่มีการดำเนินงานที่สอดคล้องกับสภาองค์กรชุมชนอยู่แล้ว ก็สามารถจะดำเนินการต่อไปได้ โดยไม่ต้องตั้งสภาองค์กรชุมชนขึ้นมาใหม่

  1. สภาองค์กรชุมชนจะก่อให้เกิดความขัดแข้งแตกแยกขึ้นในพื้นที่หรือไม่ 

                สภาองค์กรชุมชน มีบทบาทและหน้าที่หนุนเสริมกลไกการทำงานที่มีอยู่แล้วให้สมบูรณ์มากขึ้น จึงไม่มีความซ้ำซ้อน ไม่มีการแย่งชิงบทบาทหน้าที่ แต่มีกระบวนการทำงานที่เน้นความร่วมมือของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง มิได้ทำงานแบบแยกส่วนจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สภาฯ เป็นกลไกแห่งความร่วมมือและการใช้ปัญญามิใช่กลไกแห่งอำนาจและผลประโยชน์ เป็นการทำงานแบบจิตอาสา ตรงกันข้ามจะมีส่วนช่วยทำให้ความขัดแย้งแตกแยกในชุมชน (ที่เกิดจากการเลือกตั้งแบบการแข่งขัน และสาเหตุอื่น ๆ ) ลดลงเสียด้วยซ้ำ

  1. ถ้าไม่มีสภาองค์กรชุมชน ชุมชนจะยังคงสร้างความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่นได้หรือไม่

การสร้างความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่น องค์กรและหน่วยงานต่างๆ ได้กำหนดเป็นเป้าหมายการทำงานร่วมกัน และ มีการดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหากไม่มี พรบ. สภาองค์กรชุมชน ก็ยังสามารถดำเนินการต่อไปได้ตามสภาพ แต่อาจไม่ได้ผลเท่าที่ควร จะมีแนวโน้มของการพัฒนาที่คนภายนอกมีความสำคัญมากกว่าคนภายใน และปัญหาต่าง ๆ ของการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นจะยังคงอยู่ รวมถึงปัญหาความอ่อนแอของชุมชน การจัดงบประมาณซ้ำซ้อนสิ้นเปลือง การเกิดความขัดแย้งแตกแยกในชุมชน การเกิดช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจน การประพฤติมิชอบทุจริตคอรัปชั่น และอื่นๆ

แต่ถ้าหากมี พรบ. สภาองค์กรชุมชน จะทำให้องค์กรชุมชนมีสถานภาพที่ชัดเจนและมีบทบาท เป็นแกนหลัก เกิดการปรับเปลี่ยนบทบาทในการทำงานพัฒนาใหม่ โดยให้ความสำคัญกับบทบาทของชาวบ้าน ซึ่งเป็นเจ้าของเรื่องที่แท้จริงจำนวนมากขึ้น การแก้ไขปัญหาจึงมีความแตกต่างหลากหลายกันไปตามสภาพของแต่ละชุมชนท้องถิ่น และจะทำให้เกิดการเรียนรู้ขององค์กรชุมชนอย่างกว้างขวาง อันนำไปสู่การขยายผลสู่พื้นที่อื่น ๆ ได้อย่างรวดเร็วมีประสิทธิภาพบนฐานของความรู้เกิดจากปฏิบัติการจริง ซึ่งในปัจจุบันมีกรณีตัวอย่างรูปธรรมความร่วมมือกันพัฒนาชุมชนท้องถิ่นที่เกิดผลดีอยู่แล้วจำนวนหนึ่ง (ซึ่งใช้เวลาในการพัฒนามายาวนาน)  การมีกฎหมายจะช่วยให้เกิดการขยายไปสู่พื้นที่ที่กำลังเริ่มทำมีความมั่นใจและขยายได้เร็วขึ้น ทันต่อกระแสภายนอกที่ส่งผลกระทบต่อชุมชน ให้การร่วมกันพัฒนาจัดการตนเองของชุมชนท้องถิ่นขยายกว้างขวางขึ้น

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/126815

<<< กลับ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *