จดหมายถึงญาติมิตรพัฒนาสังคม ฉบับที่ 29 (17 ก.ย. 50)
“ละคร” กฎหมายสภาองค์กรชุมชน (ฉากที่ 2 ตอนที่ 2)
เรื่องร่าง พรบ. สภาองค์กรชุมชน พ.ศ. ….. เมื่อท่านนายกฯตัดสินว่าให้ปรับเป็นออกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีแทนการเสนอ ร่าง พรบ. สู่ สนช. ทางกระทรวง พม. และ พอช. (สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน) จึงกลับไปพิจารณาร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี โดยจะใช้ชื่อว่าระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการส่งเสริมสภาองค์กรชุมชน
ผมได้แนะว่าให้ยังคงใช้กระบวนการมีส่วนร่วมในการยกร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีฉบับนี้ โดยเฉพาะให้มีผู้แทนเครือข่ายองค์กรชุมชน ผู้แทนสมาคมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและสมาคมกำนันผู้ใหญ่บ้าน ผู้แทนกระทรวงมหาดไทย นักวิชาการ และผู้แทนกระทรวง พม./พอช. มาร่วมหารือกัน
ในส่วนของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) หลังจากที่สมาชิก 60 คน ได้นำเสนอร่าง พรบ. สภาองค์กรชุมชน พ.ศ. ….. เมื่อวันที่ 15 ส.ค. 50 และรัฐบาลได้ขอรับมาพิจารณาภายใน 30 วัน ก่อนรับหลักการแล้ว ก็ได้จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ เมื่อวันที่ 27 ส.ค. 50 มีผู้ไปร่วมประชุมประมาณ 200 คน หลายคนคือผู้ที่ไปร่วมประชุมเมื่อกระทรวง พม. เปิดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ เมื่อวันที่ 23 ส.ค. 50 ด้วย
ความเห็นของผู้ไปร่วมประชุมรับฟังความคิดเห็นสาธารณะที่ สนช. จัด ส่วนใหญ่สนับสนุนร่าง พรบ. ที่กลุ่มสมาชิก สนช. เสนอ ส่วนผู้คัดค้านหรือไม่เห็นด้วย ก็ยังคงเป็นผู้แทนสมาคมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยเฉพาะสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย และกระทรวงมหาดไทย
ต่อมาเมื่อวันอังคารที่ 11 ก.ย. ครม. ต้องพิจารณาว่าจะตอบ สนช. อย่างไร เกี่ยวกับร่าง พรบ. สภาองค์กรชุมชน พ.ศ. …. เพราะจะครบ 30 วัน ในวันที่ 13 ก.ย. 50 ซึ่ง ครม. ได้ลงมติให้ตอบไปว่ารัฐบาลเห็นว่า การรวมตัวขององค์กรชุมชนเป็นสภาองค์กรชุมชนเป็นเรื่องที่มีความสำคัญและควรได้รับการสนับสนุน แต่การตราเป็นกฎหมายในช่วงเวลานี้ ซึ่งยังมีความคิดเห็นที่ขัดแย้งกันอยู่ น่าจะยังไม่สมควร ในชั้นนี้รัฐบาลจึงเห็นควรออกเป็นระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีเพื่อรองรับการดำเนินการไปพลางก่อน ในอนาคตเมื่อได้มีพัฒนาการและความเห็นที่สอดคล้องกันอย่างเพียงพอแล้ว ก็จะสามารถพิจารณาออกเป็น พรบ. ได้ ซึ่งคำตอบนี้ของรัฐบาลน่าจะไปถึง สนช. ในวันที่ 12 หรือ 13 ก.ย. 50
และเป็นที่คาดหมายว่า ในต้นสัปดาห์เริ่มวันที่ 17 ก.ย. นี้ คณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (ปนช. หรือ “วิปรัฐบาล”) และคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภา (นิติบัญญัติแห่งชาติ) (หรือ “วิปสภา”) น่าจะมีการพิจารณาเกี่ยวกับ ร่าง พรบ. สภาองค์กรชุมชน พ.ศ. …. ว่าจะเห็นควรดำเนินการอย่างไร
เช่น อาจเห็นควรให้ผู้เสนอร่าง พรบ. นี้ขอถอนร่างไปก่อน หรือปล่อยให้ดำเนินการตามกระบวนการต่อไป นั่นคือนำเข้าสู่การพิจารณา วาระที่ 1 (ขั้นรับหลักการ) หรือให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมาศึกษาพิจารณาเพิ่มเติมก่อนรับหลักการ (ภายในเวลา 30 วัน)
อะไรจะเกิดขึ้นเกี่ยวกับร่าง พรบ. สภาองค์กรชุมชน จึงเป็นเรื่องที่ต้องจับตามอง และถือเป็นปรากฏการณ์ที่น่าสนใจมากทีเดียว
สวัสดีครับ
ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/128970