จดหมายถึงญาติมิตรพัฒนาสังคม ฉบับที่ 30 (1 ต.ค. 50)
ช่วงเวลาที่มีความเข้มข้นมากอีกครั้งหนึ่งในชีวิต
แล้วผมก็ได้พบกับช่วงเวลาที่มีความเข้มข้นมากอีกครั้งหนึ่งในชีวิต !
นั่นคือ ช่วงเวลาที่ท่านนายกฯไม่อยู่ในประเทศ ตั้งแต่วันที่ 21 ถึง 29 กันยายน และท่านรองนายกฯโฆษิต ก็ไม่อยู่ด้วยตั้งแต่วันที่ 23 ถึง 29 กันยายน เป็นการไปร่วมประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติที่นิวยอร์ค สหรัฐอเมริกา และปฏิบัติภารกิจอื่นๆ
ผมจึงต้องรักษาราชการแทนทั้งท่านนายกฯและท่านรองนายกฯโฆษิต ในช่วงเวลาดังกล่าว
รวมถึงการเป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรีในวันอังคารที่ 25 กันยายน
ครั้งนี้ การประชุม ครม. ดูเป็นไปด้วยดี ราบรื่น และเรียบร้อยไม่มีเรื่องที่เป็นข้อขัดข้อง
แต่ก็มีเรื่องใหญ่เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ท่านนายกฯไม่อยู่ในประเทศ
นั่นคือประเด็นการมีหุ้นเกินร้อยละ 5 ของรัฐมนตรี 3 คน ได้แก่ รมต.สิทธิชัย โภไคยอุดม รมต.อารีย์ วงศ์อารยะ และรมช.อรนุช โอสถานนท์
เป็นผลให้ รมต.สิทธิชัย ประกาศลาออก เมื่อ 21 กันยายน รมช.อรนุช ประกาศลาออกเมื่อ 23 กันยายน และรมต.อารีย์ ประกาศลาออกเมื่อ 26 กันยายน
วันที่ 27 กันยายน มีการสร้างกระแสกดดันให้นายกฯลาออก รวมทั้งมีการสร้างข่าวลือว่านายกฯลาออก
ทีมงานของนายกฯ และทีมงานของผมได้หารือกันแล้ว เห็นควรให้ผมพูดกับผู้สื่อข่าวเพื่อสยบข่าวลือนั้น ซึ่งผมได้ดำเนินการในค่ำวันนั้นและปรากฏว่าได้ผลดี
หลังจากพูดกับผู้สื่อข่าวแล้วผมได้ติดต่อพูดทางโทรศัพท์กับท่านนายกรัฐมนตรี รายงานให้ท่านทราบสถานการณ์และรายงานว่าได้ทำอะไรไป รวมทั้งขอคำแนะนำจากท่านด้วย
วันรุ่งขึ้น 28 กันยายน ผมพูดกับผู้สื่อข่าวและถูกผู้สื่อข่าวถามเพิ่มเติม ในประเด็นเรื่องการปรับ ครม. รวมถึงการพิจารณาผู้จะมาดำรงตำแหน่ง รมว.มหาดไทย และอื่นๆ
วันที่ 29 กันยายน (วันเสาร์) ผมไปรับท่านนายกฯ ซึ่งเดินทางกลับจากการประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติพร้อมท่านรองฯโฆษิต และคนอื่นๆ
ได้สนทนากับท่านนายกฯในประเด็นการปรับคณะรัฐมนตรีและเรื่องอื่นๆก่อนที่ท่านนายกฯจะไปเข้าห้องแถลงข่าวต่อผู้สื่อข่าวจำนวนมากที่มารออยู่
ในวันที่ 29 กันยายนนี้ หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจลงข่าวว่า ยังมีรัฐมนตรีอีก 4 คน ที่มีหุ้นเกินร้อยละ 5 ได้แก่ รมต.เกษม สนิทวงศ์ ณ อยุธยา รมต.มงคล ณ สงขลา รมช.สวนิต คงสิริ และรมช.สมหมาย ภาษี
เรื่องจึงยุ่งขึ้นไปอีก
ผมใช้เวลา วันอาทิตย์ที่ 30 กันยายน ส่วนใหญ่พูดโทรศัพท์กับหลายคนเกี่ยวกับ เรื่องการถือหุ้นเกินร้อยละ 5 ของรัฐมนตรี รวมถึงการทำความเข้าใจในเรื่องทั้งหมด ในแง่กฎหมายและอื่นๆ ตลอดจนการหารือถึงทางเลือกที่จะดำเนินการ
ทั้งนี้ เพื่อใช้ประกอบการประชุมหารือกับท่านนายกฯในเช้าวันจันทร์ที่ 1 ตุลาคม (โดยจะมีท่านรองฯโฆษิต และรมต.ที่เกี่ยวข้องร่วมประชุมหารือด้วย) และเพื่อใช้ประโยชน์ในการพิจารณาและดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องนี้
สรุปแล้ว ช่วง 9 วันที่ท่านนายกฯไม่อยู่ในประเทศและผมต้องรักษาราชการแทนนั้น เป็นช่วงเวลาที่มีความเข้มข้น คร่ำเคร่ง และเคร่งเครียด มากทีเดียว
ผมจึงรู้สึกผ่อนคลายอย่างชัดเจน เมื่อท่านนายกฯกลับมาแล้ว !
สวัสดีครับ
ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ