จดหมายถึงญาติมิตรพัฒนาสังคม ฉบับที่ 31 (8 ต.ค. 50)

จดหมายถึงญาติมิตรพัฒนาสังคม ฉบับที่ 31 (8 ต.ค. 50)


“ละคร” กฎหมายสภาองค์กรชุมชน (ฉากที่ 2 ตอนที่ 2 (ต่อ) และสัปดาห์ที่ไม่มีวันหยุด (ต่อ))

                เรื่องร่าง พรบ. สภาองค์กรชุมชน ที่เปรียบเสมือน “ละครเรื่องยาว” และมีความไม่แน่นอนค่อนข้างมากนั้น ปรากฎว่าได้ดำเนินมาดีกว่าที่ผมคาดคิด 

                นั่นคือ แม้ว่า “วิปรัฐบาล”  จะยืนตามมติคณะรัฐมนตรี ได้แก่ การแจ้ง สนช. ว่ารัฐบาลคงจะไม่เสนอร่าง พรบ. ประกบโดยจะออกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีมารองรับการดำเนินงานของสภาองค์กรชุมชนไปพลางก่อน แต่ “วิปสภา” กลับเห็นควรรับร่าง พรบ. ที่สมาชิกสภาฯ (ครูมุกดาและคณะ) เสนอ ! 

                เข้าใจว่าเป็นผลจากความพยายามของ “ครูหยุย”  (วัลลภ ตังคณานุรักษ์) และครูมุกดา (อินต๊ะสาร) เป็นหลัก ที่พยายามอธิบายสร้างความเข้าใจและขอรับการสนับสนุนจากสมาชิก สนช. จำนวนมากโดยเฉพาะผู้ที่เป็นกรรมาธิการใน “วิปสภา” 

                ต่อมาเมื่อ ร่าง พรบ. สภาองค์กรชุมชนเข้าสู่การพิจารณาของ สนช. เมื่อ 27 ก.ย. 50 ปรากฎว่ามีผู้อภิปรายสนับสนุน 10 กว่าคน และผู้อภิปรายคัดค้านเพียง 1 คน

                ผลการลงคะแนน คือ รับหลักการ 61 คน ไม่รับหลักการ 32 คน งดออกเสียง 5 คน

                สภาฯ ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ 22 คน เสนอโดยสภาฯ 18 คน เสนอโดยรัฐบาล (โดยกระทรวง พม.) 4 คน (ซึ่งกระทรวง พม. ได้ให้ ก.มหาดไทยเสนอมา 2 คน และกระทรวง พม. เสนอเอง 2 คน) และให้สมาชิกแปรญัตติใน 7 วัน 

                ถือเป็นความก้าวหน้าอย่างสำคัญ ที่ สนช. รับหลักการของร่าง พรบ. ฉบับนี้ และเป็นจุดพลิกผันที่ผมเองไม่กล้าที่จะคาดหวังไว้แต่ได้กลายเป็นจริงขึ้นมาแล้ว

                ได้ทราบด้วยว่าคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พรบ.สภาองค์กรชุมชน ได้ประชุมนัดแรกแล้วเมื่อวันศุกร์ที่ 5 ต.ค.50 ได้เลือกครูหยุยเป็นประธานและครูมุกดาเป็นเลขานุการ โดยมีคุณสมสุข บุญญะบัญชา เป็นรองเลขานุการ และจะประชุมต่อไปทุกวันศุกร์จนกว่าจะพิจารณาเสร็จ

            เป็น “ละครเรื่องยาว” ที่น่าติดตามดูตอนต่อๆ ไปใช่ไหมครับ ! ?

                สัปดาห์ที่ผ่านมาของผม เป็นสัปดาห์ที่ 3 ติดต่อกันแล้วที่ผมไม่ได้ “หยุด” (ทำงาน) ทั้งในวันเสาร์และวัน      อาทิตย์ รวมถึงเป็นสัปดาห์ที่ยังคงมีเรื่องประเภท “เข้มข้น” อยู่พอสมควรทีเดียว

                 เริ่มต้นสัปดาห์ วันที่ 1 ต.ค. ท่านนายกฯ เชิญหารือพร้อมรองนายกฯโฆษิต และ รมต. 4 คน ที่มีประเด็นการถือหุ้นเกินร้อยละ 5 กับอีก 1 รมต. ที่มีประเด็นการเป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัยเอกชน

                ผลการหารือ ท่านนายกฯ เห็นว่า รมต. ทั้ง 5ท่าน ไม่จำเป็นต้องลาออกโดยมีเหตุผลชัดเจนว่าไม่มีความผิดหรือความด่างพร้อยใดๆ เนื่องจากไม่มีผู้ใดมีเจตนาและไม่มีผู้ใดรับทราบว่ามีกฎหมายห้ามเนื่องจากมีการเลิกใช้รัฐธรรมนูญปี 2540 และในรัฐธรรมนูญ ปี 2549 ไม่มีการระบุเรื่องการถือหุ้นของรัฐมนตรี ในขณะที่รัฐธรรมนูญปี 2550 มีข้อยกเว้นให้กับคณะรัฐมนตรีชุดปัจจุบันซึ่งเข้ามาในลักษณะพิเศษโดยจะทำหน้าที่ระยะสั้นเพียงชั่วคราว

                อย่างไรก็ดี รมต. 2 ท่าน คือ คุณเกษม  (สนิทวงศ์ ณ อยุธยา) และคุณสวนิต (คงสิริ) ได้ยืนยันขอลาออกเพื่อจะสบายใจกว่า ส่วนรมต. อีก 3 ท่าน (คุณหมอมงคล ณ สงขลา คุณสมหมาย ภาษี และท่านอาจารย์วิจิตร ศรีสอ้าน) ยอมคงอยู่ในตำแหน่งตามที่ท่านนายกฯร้องขอ ซึ่งกรณีของทั้ง 3 ท่านนี้ สามารถอธิบายได้ชัดเจนว่าไม่มีข้อขัดข้องทั้งทางกฎหมายและทางจริยธรรม

                เป็นอันว่ารัฐบาลต้องสูญเสีย รมต. ไป 5 คน อย่างไม่คาดคิด ด้วยเหตุซึ่งไม่น่าจะเป็นเหตุเลย !

                แต่จะทำอย่างไรได้ล่ะครับ ในเมื่อมันได้เป็นไปอย่างนั้นแล้ว

                ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ยังมีเรื่อง “ยุ่ง” และ “วุ่น” สำหรับกระทรวง พม. และ สำหรับผม นั่นคือการมีหนังสือ         ร้องเรียนและกล่าวหาข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ของกระทรวง พม. ว่ามีพฤติกรรมทุจริตและชู้สาว โดยส่งหนังสือมาถึงผมและส่งให้สมาชิก สนช. กับสื่อมวลชนหลายแห่ง เป็นผลให้สื่อสิ่งพิมพ์หลายฉบับนำไปลง เป็นข่าวสำคัญในวันพฤหัสบดีที่ 4 ต.ค. 

                ผมปรึกษาหมอพลเดช (รมช.พม.) และทีมงานแล้ว เห็นร่วมกันว่าควรตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมต่อทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งเพื่อพิทักษ์ชื่อเสียงของกระทรวง พม. กับข้าราชการ พม. โดยรวม โดยให้ได้มาซึ่งความจริงอันจะช่วยให้สามารถพิจารณาได้ว่าควรดำเนินการอย่างไรต่อไปจึงจะเป็นธรรมและเหมาะสม

                เย็นวันศุกร์ที่ 5 ต.ค. ผมกับหมอพลเดชและทีมงาน สรุปความเห็นร่วมกันได้ว่าควรเชิญผู้ใดเป็นประธานคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง ซึ่งผมได้ทาบทามท่าน และท่านได้ตอบรับแล้ว ดังนั้นคงจะออกคำสั่งแต่งตั้ง  คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงได้ในวันจันทร์ที่ 8 ต.ค. 

                วันเสาร์ที่ 6 ต.ค. ผมไปจังหวัดอุบลราชธานี สุรินทร์ และศรีสะเกษ เพื่อทำหน้าที่ เนื่องใน “สัปดาห์ที่อยู่อาศัย สร้างถิ่นฐานมั่นคง ด้วยวิถีชุมชนไทย – 80,000 ครอบครัว 800 ชุมชน” โดยไปเยี่ยมและประกอบพิธี ฯลฯ เกี่ยวกับ “โครงการบ้านมั่นคง” ในเขตอำเภอเมืองของทั้ง 3 จังหวัด 

                วันอาทิตย์ที่ 7 ต.ค. ไปจังหวัดพิษณุโลก ประชุมหารือกับผู้ว่าราชการจังหวัด (คุณสมบูรณ์  ศรีพัฒนาวัฒน์) และคณะ  เรื่องการบูรณาการแผนงานและงบประมาณในระดับท้องถิ่นและจังหวัด สำหรับปีงบประมาณ 2551 และการตั้งงบประมาณของจังหวัดที่จะต้องเตรียมการในช่วงปี 2551 เพื่อมีผลปฏิบัติในปีงบประมาณ 2552 ประชุมเพียง 1 ชั่วโมง แต่ได้สาระดีและควรจะเป็นประโยชน์มาก ทั้งนี้ เลขาธิการ กพร. และผู้แทน สน.งบประมาณ ได้เดินทางไปร่วมในการประชุมหารือด้วย 

                จากนั้น ผมเดินทางไปเยี่ยมราษฎรซึ่งประสบอุทกภัย ที่ ต.วังทอง (อ.วังทอง) ต.ชมพู (อ.เนินมะปราง) และ ต.ชุมแสงสงคราม (อ.บางระกำ) โดยใช้โอกาสนี้ศึกษาเรื่องระบบการป้องกัน การเตรียมความพร้อม การเผชิญเหตุ การช่วยเหลือ และการฟื้นฟูพัฒนา อันเนื่องมาจากภัยพิบัติ ด้วย

                ตอนบ่าย ไปร่วมกิจกรรมและประกอบพิธีปิด “สมัชชาคุณธรรมและตลาดนัดคุณธรรม ภาคเหนือ ก่อนเดินทางกลับกรุงเทพฯ โดยไปขึ้นเครื่องบินที่ จ.สุโขทัย 

                เป็นอีกสัปดาห์หนึ่งที่ผมไม่มีวันหยุด แต่ก็ได้งานได้สาระน่าพอใจครับ

                                                                                                สวัสดีครับ

                                                                            ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม

 

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/136282

<<< กลับ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *