จดหมายถึงญาติมิตรพัฒนาสังคม ฉบับที่ 32 (17 ต.ค. 50)

จดหมายถึงญาติมิตรพัฒนาสังคม ฉบับที่ 32 (17 ต.ค. 50)


ความพลิกผันในชีวิตที่เกิดขึ้นอย่างไม่คาดคิด

                ความพลิกผันในชีวิตเกิดขึ้นได้เสมอ! โดยเฉพาะในเรื่องสุขภาพ!

                เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2550 เวลาประมาณ 12.00 น. ผมนั่งประชุมอยู่ใน ครม. เริ่มรู้สึกแน่นหน่อยๆในหน้าอกส่วนบน อาการแน่นดังกล่าวค่อยๆเพิ่มมากขึ้น ประมาณ 13.00 น. ใกล้จะเลิกประชุม (เหลือ 2 วาระ) รู้สึกแน่นเกินปกติจนรู้สึกไม่สบายชัดเจน ดูเหมือนจะตาลายหน่อยๆด้วยจึงตัดสินใจลุกขึ้นไปลาท่านนายกฯว่าขอออกไปก่อนเพราะไม่สบายแล้วเดินอ้อมโต๊ะ ครม. ตั้งใจจะไปปรึกษาหมอมงคลว่าควรทำอย่างไรดี โดยคิดในใจว่าจะต้องไปโรงพยาบาล พอดีเดินผ่านหมอพลเดชก่อนเลยบอกหมอพลเดชว่าไม่สบายให้ช่วยดูหน่อย ระหว่างหมอพลเดชพาออกจากห้องประชุม ท่านนายกฯก็ตะโกนว่า “หน้าท่านซีดมากเลย หมอมงคลช่วยไปดูด้วย”

                หมอมงคลและหมอพลเดชจึงพาผมมาที่ห้องรับรองข้างห้องประชุม ครม. เรียกแพทย์ประจำ ครม. มาตรวจอาการพบว่าความดันต่ำกว่าปกติ คือ 90/60 (ระยะหลังๆนี้ความดันโลหิตของผมขึ้นไปค่อนข้างสูง คือประมาณ 140 หรือ 150ในบางวัน สำหรับตัวบน) หมอมงคลจึงแนะนำให้รีบพาตัวส่งโรงพยาบาล (รามาธิบดี) ด้วยรถพยาบาลฉุกเฉิน (ซึ่งทราบว่าเตรียมไว้ระหว่างการประชุม ครม. เสมอแต่ไม่เคยต้องใช้เลยตลอดเวลานับสิบปีหรือกว่าที่ผ่านมา)

                ระหว่างถูกหามด้วยเปลคนไข้ลงบันไดไปขึ้นรถพยาบาล ผมยกศีรษะขึ้นเพื่อยิ้มให้กับผู้สื่อข่าวและกล้องทีวี/กล้องถ่ายรูปจำนวนมาก แล้วลดศีรษะกลับไปราบกับเตียง จากนั้นหลับตาด้วยความรู้สึกอ่อนเพลียผสมความง่วง มาลืมตาอีกครั้งเมื่อรถไปถึงโรงพยาบาลรามาธิบดี มีแพทย์ พยาบาล มาดูแลอย่างขะมักเขม้น ผมเริ่มไม่ค่อยรู้ว่าอะไรเกิดขึ้นบ้าง ที่พอจำได้คือการโกนเส้นขนบริเวณขาหนีบ การฉีดอะไรเข้าไปในร่างกาย จากนั้นรู้สึกสะลึมสะลือพร่าๆมัวๆ มารู้สึกตัวชัดหน่อยอีกทีเมื่อแพทย์ชี้ให้ดูการเต้นของหัวใจและการทำงานของหลอดเลือดแดงด้านขวาของหัวใจที่มีสภาพอุดตันแล้วได้รับการถ่างขยายด้วยบอลลูน (ตะแกรงขยายหลอดเลือด) ทำให้เห็นชัดเจนว่าเลือดแดงฉีดไปตามเส้นเลือดได้ตามปกติ ขณะเดียวกันก็ชี้ให้ดูด้วยว่ายังมีหลอดเลือดแดงด้านซ้ายที่แยกเป็นสองสายซึ่งมีลักษณะตีบทั้งคู่และจะต้องทำการรักษาด้วยวิธีบอลลูนเช่นกัน (ในภายหลัง)

                ผมยังคงรู้สึกสะลึมสะลือ ดูภาพไม่ค่อยชัดเพราะระดับศีรษะยังราบอยู่ พยายามผงกศีรษะขึ้นดูจึงพอเห็นภาพลางๆ จากนั้นผมไม่ค่อยรู้อะไร มารู้ตัวอีกทีก็อยู่ในห้อง CCU (“ห้องบำบัดผู้ป่วยวิกฤต” หรือ “หออภิบาลผู้ป่วยวิกฤตโรคหัวใจและหลอดเลือด” – “ Coronary Care Unit ” – ซึ่งอยู่ชั้น 9 ของอาคารโรงพยาบาล / อาคาร 1) และได้ยินใครต่อใครมาพูดอย่างนั้นอย่างนี้แต่จำไม่ค่อยได้ว่าเป็นใครบ้างและพูดว่าอย่างไรบ้าง

                มาลำดับความภายหลังจึงพอประมวลได้ว่า มี นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน (คณบดีคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี) นพ.วินิต พัวประดิษฐ์ (ผู้อำนวยการโรงพยาบาล) นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ (แพทย์เจ้าของไข้ ผู้ทำการ “สวนหัวใจ” หรือ “ทำบอลลูน” ให้) นพ.ภาวิทย์ เพียรวิจิตร (แพทย์ผู้ร่วมปฏิบัติการสวนหัวใจ) และคนอื่นๆ

                การพาผมจากที่ประชุม ครม. มาโรงพยาบาลรามาธิบดีใช้เวลา 10 นาทีเศษ และการ “สวนหัวใจ” ใช้เวลารวมทั้งสิ้น ประมาณครึ่งชั่วโมง ซึ่งเป็นปฏิบัติการที่เร็วมาก และเร็วพอที่ทำให้หัวใจของผมไม่เกิดสภาพเสียหายอย่างสำคัญ

                ผมจึงรอดตายและรอดจากความพิการรุนแรงมาได้อย่างหวุดหวิด!

                หากมาถึงโรงพยาบาลช้าไปอีก 2-3 ชั่วโมง คงไม่มีโอกาสได้มาเขียนบันทึกนี้ !

                นี่คือความพลิกผันในชีวิตของคนเรา!

                นี่คืออนิจจัง (ไม่เที่ยง)!

                นี่คือสัจธรรม (ความจริงแท้)!

                นี่คือชีวิต!

                เราจึงควรดำเนินชีวิตอย่างมีสติ ใช้ปัญญา หมั่นทำความดี หมั่นทำคุณประโยชน์ที่เหมาะสมแก่ผู้อื่น ให้แก่หมู่คณะ ให้แก่ส่วนรวม ให้แก่สังคม ให้แก่ประเทศ ให้แก่โลก ให้แก่มนุษยชาติ เท่าที่พึงทำได้อยู่เสมอ

                เมื่อถึงเวลาต้องอำลาชีวิต ก็จะรู้สึกพร้อมเพราะเห็นว่าได้ทำหน้าที่ของคนคนหนึ่งมาอย่างเพียงพอและพอสมควรแล้ว

                การที่ผมถูกหามจากที่ประชุม ครม. ขึ้นรถพยาบาลฉุกเฉินต่อหน้าสื่อมวลชนจำนวนมาก ทำให้ข่าวการเจ็บป่วยของผมได้รับการแพร่กระจายอย่างรวดเร็วและกว้างขวาง และมีข่าวเกี่ยวข้องต่อเนื่องหลายวันดังตัวอย่างข้อความพาดหัวข่าวใน นสพ. “มติชนรายวัน” ดังนี้

                * ‘ไพบูลย์’ ทรุดกลางวง ครม. หามส่ง รพ.บัลลูนหัวใจด่วน (10 ต.ค. 50 หน้า 1)

                * ‘ในหลวง-ราชินี’ พระราชทานดอกไม้ ‘ไพบูลย์’ (11 ต.ค. 50 หน้า 14)

                * ‘เลื่อนทำบัลลูน ‘ไพบูลย์’ (12 ต.ค. 50 หน้า 15)

                * ทำบัลลูนหัวใจ ‘ไพบูลย์’ อีก 2 เส้น หมอแนะให้พัก-กลับบ้าน 15 ต.ค. (13 ต.ค. 50 หน้า 14)

                * หมอให้ ‘ไพบูลย์’ ทำงานได้แต่อย่าหนัก (14 ต.ค. 50 หน้า 13)

                * ภริยาเตือน ‘ไพบูลย์’ ที่สุดชีวิตเป็นเรื่องสำคัญ (15 ต.ค. 50 หน้า 14)

                * ‘ไพบูลย์’ อาการดีขึ้นกลับบ้านแล้ว (16 ต.ค. 50 หน้า 13)

                ก็คงจะจบเรื่องราวความเจ็บป่วยของผมในขั้นนี้เพียงเท่านี้ อันที่จริงผมไม่อยากให้เรื่องความเจ็บป่วยของตัวเองกลายเป็นข่าวหรือเป็นเรื่องสาธารณะเลย แต่ด้วยเหตุที่มีตำแหน่งดังที่ผมเป็นอยู่ในปัจจุบัน จึงถือเป็นเรื่องจำเป็นกระมังครับ

                                                                                                                สวัสดีครับ

                                                                                          ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม

 

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/139402

<<< กลับ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *