จดหมายถึงญาติมิตรพัฒนาสังคม ฉบับที่ 34 (29 ต.ค. 50)

จดหมายถึงญาติมิตรพัฒนาสังคม ฉบับที่ 34 (29 ต.ค. 50)


กลับสู่ชีวิตปกติที่ต่างจากเดิม

                หลังจากได้รับการ “สวนหัวใจ” หรือ “ทำบอลลูน” สำหรับหลอดเลือดหัวใจ 1 เส้นที่อุดตัน เมื่อบ่ายวันอังคารที่ 9 ต.ค. 50 แล้ว ผมต้องอยู่ในห้อง ซีซียู (“หออภิบาลผู้ป่วยวิกฤตโรคหัวใจและหลอดเลือด”) จนถึงวันศุกร์ที่ 12 ต.ค. 50 เพื่อ “ทำบอลลูน” หลอดเลือดหัวใจอีก 2 เส้นที่ตีบ (ยังไม่ตัน) โดยต้องใช้ “ขดลวด” (Stent) ช่วย “ถ่างขยาย” หลอดเลือด รวม 4 ขดด้วยกัน

                เช้าวันเสาร์ที่ 13 ต.ค. 50 ผมย้ายจากห้อง ซีซียู ไปอยู่ห้องพักผู้ป่วยพิเศษ และออกจากโรงพยาบาล (รามาธิบดี) กลับบ้านในวันจันทร์ที่ 15 ต.ค. 50

                พักฟื้นอยู่ที่บ้านจนถึงวันอาทิตย์ที่ 21 ต.ค. 50

                วันจันทร์ที่ 22 ต.ค. 50 เริ่มกลับทำงานตามปกติ ซึ่งเป็นวันประชุมคณะรัฐมนตรีพอดี (เลื่อนจากวันอังคารที่ 23 ต.ค. ซึ่งเป็นวันหยุดราชการ)

                การประชุม ครม. วันนี้ยาวนานเป็นพิเศษ เริ่ม 9.00 น. พักรับประทานอาหารกลางวันระหว่าง 12.30 – 13.00 น. แล้วประชุมต่อจน 16.00 น. ได้ให้ความเห็นชอบเรื่องสำคัญๆหลายเรื่อง

                เรื่องสำคัญที่ผมเกี่ยวข้องโดยตรงและ ครม. เห็นชอบ คือ ร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการส่งเสริมสภาองค์กรชุมชน ร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการส่งเสริมและประสานงานครอบครัว และร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการส่งเสริมและประสานงานสตรี

                ผมจึงได้กลับเข้าสู่การทำงานและการใช้ชีวิตตามปกติ แต่ก็ต้องมีแบบแผนที่ต่างไปจากเดิมพอสมควร

                การทำงานไม่ให้คร่ำเคร่งเร่งรัด สมบุกสมบัน หรือใช้เวลาต่อเนื่องยาวนานจนเกินไปหรือจนไม่ได้พักผ่อนให้เพียงพอ

                ชีวิตประจำวันโดยเฉพาะการรับประทานอาหาร การออกกำลังกาย การพักผ่อน ฯลฯ ต้องเปลี่ยนไปจากเดิมที่มีวินัยไม่มากพอ เป็นมีวินัยให้มากพอและสม่ำเสมอต่อเนื่อง

                ในส่วนของการทำหน้าที่ในฐานะเป็นรัฐบาล เมื่อได้มีพระราชกฤษฎีกา (พรฎ.) กำหนดวันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) เป็นการทั่วไป (คือวันที่ 23 ธันวาคม 2550) ลงในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 24 ต.ค. 50 โดยมีผลใช้บังคับในวันที่ 25 ต.ค. 50 แล้ว รัฐบาลก็จะทำหน้าที่ต่อไปคล้ายๆกับ “รัฐบาลรักษาการ” จนกว่าจะมีรัฐบาลใหม่จากการเลือกตั้งเข้ามารับหน้าที่แทน ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นช่วงปลาย ม.ค. – ต้น ก.พ. 2551

                ช่วงเวลานี้ จึงเป็นการดูแลการบริหารราชการแผ่นดินตามปกติให้เป็นไปด้วยดีเท่าที่สามารถทำได้ และดูแลจัดการเรื่องสำคัญที่ริเริ่มไว้หรือดำเนินการอยู่ให้มีสภาพดีที่สุดสำหรับการส่งมอบต่อรัฐบาลหน้า

                ส่วนการเสนอนโยบายใหม่ กฎหมายใหม่ มาตรการสำคัญที่จะผูกพันรัฐบาลหน้า เหล่านี้จะไม่มี เว้นเสียแต่ว่าเป็นการดำเนินการสืบเนื่องจากเรื่องที่ได้ดำเนินการอยู่แล้ว

                ชีวิตของผมจึงกลับเข้าสู่สภาพปกติที่ต่างไปจากเดิมพอสมควร ทั้งในชีวิตส่วนตัวและในด้านหน้าที่การงาน

                หมายเหตุ หนังสือพิมพ์ 5-6 ฉบับรายงานการกลับเข้าทำงานของผมดังตัวอย่าง นสพ.ไทยรัฐ ฉบับวันที่ 23 ตุลาคม 2550 หน้า 17 รายงานดังนี้ครับ

                “ ‘ไพบูลย์’ หายป่วยร่วมประชุม ครม.

                ผู้สื่อข่าวรายงานจากทำเนียบรัฐบาลว่า ในการประชุม ครม. เมื่อวันที่ 22 ต.ค. นี้ นายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม รองนายกฯและรมว.การพัฒนาสังคมฯ ได้เดินทางมาร่วมประชุม ครม. โดยเป็นการกลับเข้ามาทำงานเป็นวันแรกภายหลังจากที่มีอาการป่วยจนต้องเข้ารับการทำบอลลูนหัวใจเมื่อวันที่ 9 ต.ค. ที่ผ่านมา โดยนายไพบูลย์ยังมีสีหน้าซีดอิดโรยอยู่เล็กน้อย แต่ยังให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวอย่างอารมณ์ดีว่า โดยทั่วไปขณะนี้สุขภาพดีแล้ว แต่ยังต้องพักผ่อนบ้าง ที่ผ่านมา นพ.พลเดช ปิ่นประทีป รมช.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ก็ช่วยดูแลงานในกระทรวงเต็มที่อยู่แล้ว ระยะเวลา 3 เดือนหลังจากนี้น่าจะทำงานได้ตามปกติ แต่ต้องไม่หักโหมมากเกินไป สัปดาห์หนึ่งก็ควรจะหยุดพักบ้าง ต้องขอขอบคุณผู้สื่อข่าวและทุกคนที่ห่วงใยและส่งความปรารถนาดีมาให้ การป่วยครั้งนี้ได้ธรรมะ 3 ข้อคือ 1. ไม่พึงประมาทในเรื่องสุขภาพ 2. หมั่นสร้างสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง รู้จักออกกำลังกาย กินอาหารและพักผ่อน 3. หมั่นทำความดี เพราะชีวิตอาจไปเมื่อไรก็ได้  

                                                                                                            สวัสดีครับ

                                                                                      ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม 

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/142724

<<< กลับ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *