ควรคุยโรดแมพเพื่อแก้วิกฤติ

ควรคุยโรดแมพเพื่อแก้วิกฤติ


(บทความลงในหนังสือกรุงเทพธุรกิจ  ฉบับวันศุกร์ที่  2  เมษายน  2553  หน้าที่ 2)

สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย  จัดราชดำเนินเสวนา  ในหัวข้อ “เนื้อหาที่ควรคุยในวิกฤติความขัดแย้ง”  โดยนายไพบูลย์  วัฒนศิริธรรม  อดีตรองนายกรัฐมนตรี  กล่าวตอนหนึ่งว่าผู้ที่ถนัดกับการจัดการปัญหายากๆรู้ดีว่าวิกฤติเป็นโอกาสเช่นเดียวกับญี่ปุ่น เยอรมนี  ที่เผชิญกับวิกฤติสงครามโลกแต่พัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้ามาได้

สำหรับประเทศไทยได้เผชิญวิกฤติมาหลายครั้งเป็นวิกฤติที่ให้กำไรกับสังคมไทยการเจรจาระหว่างรัฐบาลกับ นปช.  2 ครั้งที่ผ่านมาถือว่าเป็นมือใหม่พอใช้ได้  กระบวนการยังไม่ดี  ควรวางกติกาก่อนเจรจา  เช่น  ไม่ด่าว่ากัน  ไม่เอาเรื่องอดีตมาพูด  ไม่ค้นหาว่าใครผิดใครถูก  ตั้งประเด็นในการเจรจาโดยเริ่มจากเรื่องง่ายๆถ้ามีกระบวนการปรับทัศนคติที่ดีจะเอื้ออำนวยให้เจรจาประสบความสำเร็จ

สิ่งที่ควรพูดคุยกันในวิกฤติความขัดแย้ง คือ โรดแมพเพื่อแก้วิกฤติและใช้โอกาสของวิกฤติ  เป็นยุทธศาสตร์ 3 ด้านเพื่อ  1. แก้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง  สร้างการเมืองแบบร่วมคิดร่วมทำการเจรจาเพื่อยุติสงครามต้องชนะด้วยกัน  ถ้าตั้งสติให้ดีคงไม่มีใครคิดว่าการที่เราชนะแล้วอีกฝ่ายแพ้เป็นเรื่องดี  ถ้าคิดอย่างนั้นเป็นเพียงความคิดครึ่งทาง  คิดสุดทางคือ  ต้องชนะด้วยกัน

จึงหวังว่าสิ่งที่จะพูดจากันต่อไปคือการหาข้อสรุปที่พอใจร่วมกันแม้ว่าจะมีการแก้รัฐธรรมนูญก็ยังไม่สมบูรณ์เราต้องร่วมกันสร้างการเมืองประชาธิปไตยที่ประชาชนร่วมคิดร่วมทำจึงขอให้ใช้วิกฤติครั้งนี้เป็นโอกาสในการสร้างการเมืองที่ดี

ยุทธศาสตร์ที่ 2  คือ  การร่วมกันแก้ปัญหาเศรษฐกิจหนี้สินและความยากจนแบบบูรณาการ  ส่วนยุทธศาสตร์ที่ 3  คือ  แก้ปัญหาความไม่เป็นธรรม  สร้างความเป็นมิตรไมตรีในสังคม

                “ขณะนี้หลายเวทีจัดสัมมนาหาทางออกให้ประเทศพูดกันมากว่ายุบหรือไม่ยุบสภาเปรียบเหมือนบ้านหลังใหญ่ที่อยู่มานาน  ปลวกกินจนชำรุดพี่น้อง  2  คนทะเลาะกันให้รื้อบ้าน  คนหนึ่งให้รื้อใน 15 วัน  อีกคนขอรื้อใน 9 เดือน  ทั้งที่การรื้อบ้านเป็นเรื่องของคนทั้งครอบครัว  จะรื้อหรือปรับปรุงสร้างใหม่เป็นประเด็นที่คนทั้งครอบครัวต้องช่วยกันคิด  เช่นเดียวกับการฟื้นฟูประเทศที่เป็นเรื่องของคนไทยทั้งหมดไม่ว่าไพรหรืออำมาตย์”

 

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/351023

<<< กลับ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *