ขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียง ระดับชาติ – ชุมชน – ครัวเรือน

ขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียง ระดับชาติ – ชุมชน – ครัวเรือน


    (บทสัมภาษณ์พิเศษโดย กิ่งอ้อ เล่าฮง , ปกรณ์ พึ่งเนตร ลงใน นสพ. กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 8 ตุลาคม 2549)

                “เรื่องเศรษฐกิจพอเพียงเรามีอยู่แล้ว เพียงแต่ต้องส่งเสริมให้มากขึ้น เพื่อลดความเร่าร้อนรุนแรงของเศรษฐกิจในแบบมุ่งรายได้ มุ่งเติบโต และมุ่งเอาชนะ คือเราต้องพยายามเดินสายกลางให้มากขึ้น เพื่อดึงพวกสุดโต่งให้กลับมา”

ในขณะที่ทุกภาคส่วนของประเทศไทย หรืออาจจะเป็นทั่วโลก กำลังตื่นเต้นกับ จีเอ็นเอช (GNH – Gross National Happiness) หรือความสุขมวลรวมประชาชาติ ที่ประเทศภูฏานใช้เป็น “ธงนำ” ในการพัฒนาชาติ แต่หลายคนอาจจะยังไม่รู้ว่า ประเทศไทยของเราก็พูดเรื่องราวลักษณะเดียวกันนี้มาหลายปีดีดักแล้ว

ที่สำคัญเรายังมี “เศรษฐกิจพอเพียง” อันเป็นพระบรมราโชบายที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานให้กับปวงชนชาวไทย เพื่อเป็นปรัชญานำพาชาติให้พัฒนาอย่างยั่งยืนในยุคโลกาภิวัตน์ ซึ่งนับว่ามีคุณูปการและกำลังได้รับความสนใจจากนานาประเทศไม่ยิ่งหย่อนไปกว่า จีเอ็นเอช  เช่นกัน

ยิ่ง พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรีคนใหม่ ประกาศใช้ “เศรษฐกิจพอเพียง” เป็นหลักในการพัฒนาประเทศ ยิ่งทำให้ปรัชญานี้ถูกพูดถึงอย่างกว้างขวาง

แต่การขับเคลื่อน “เศรษฐกิจพอเพียง” ให้เห็นผลเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะในรัฐบาลชั่วคราวที่มีเวลาจำกัดเพียง 1 ปีนั้น ย่อมต้องใช้บุคคลที่มีความรู้ความเข้าใจอย่างสูง รวมทั้งทำงานด้านนี้มาอย่างต่อเนื่องยาวนาน

และชื่อที่มีการเอ่ยถึง จนกลายเป็น “แคนดิเดท” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงด้านสังคมกระทรวงใดกระทรวงหนึ่งอยู่ในขณะนี้ ก็คือ ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม

กล่าวสำหรับไพบูลย์ ชื่อของเขาปรากฏอยู่ในตำแหน่งสำคัญๆ ต่างๆ มากมาย อาทิเช่น ประธานสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน ทว่าตำแหน่งล่าสุดที่เขาได้รับมอบหมายจากคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) นอกเหนือจากตำแหน่งรัฐมนตรีที่กำลังลุ้นกันอยู่ในขณะนี้ ก็คือประธานคณะที่ปรึกษาฝ่ายการเสริมสร้างสมานฉันท์และความเป็นธรรมในสังคม

และนี่คือสายธารความคิดของเขาเกี่ยวกับ จีเอ็นเอช กับเศรษฐกิจพอเพียง ที่กำลังจะเป็น “เป้าหมายใหม่” ของประเทศไทย ที่น่าจะเรียกได้ว่าสวนทางแบบ 180 องศา กับรัฐบาลก่อนหน้าที่มีผู้นำชื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร !

                “จริงๆ เรื่อง จีเอ็นเอช ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่มีการคิดและทำกันมาตลอด” ไพบูลย์ เอ่ยขึ้นในเบื้องแรก และว่า การจะบริหารประเทศและสังคมท้องถิ่นให้ได้ผลอย่างไรนั้น โดยทั่วไปย่อมต้องการให้ประชาชนอยู่เย็นเป็นสุข หรืออยู่ดีมีสุข หรือมีความผาสุก แบบที่เรียกว่า Well being  ไม่ว่าประเทศไทยหรือประเทศอื่นๆ ก็จะเห็นตรงกันเช่นนี้

อย่างไรก็ดี ในช่วง 100 ปีที่ผ่านมา โลกของเรามีพัฒนาการความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจสูงมาก ทำให้นักเศรษฐศาสตร์คิด “ตัวชี้วัด” รายได้ประชาชาติเป็น จีดีพี ( GDP – Gross Domestic Product) หรือผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศขึ้นมา ซึ่งเชื่อมโยงกับการจ้างงาน  การผลิต และการใช้จ่ายของประชาชน

                “ต้องยอมรับว่า จีดีพี มีจุดเด่นตรงที่วัดได้ด้วยตัวเงิน ทำให้เห็นภาพชัด และโลกของเราทุกวันนี้ก็มีเงินเป็นสื่อกลาง ทำให้นโยบายของรัฐบาลต่างๆ หันไปผูกโยงกับเรื่องเศรษฐกิจมากขึ้น ส่วนความผาสุกหรือความสุขมวลรวมประชาชาติ ที่เรียกว่า จีเอ็นเอช นั้น วัดได้ยากกว่า” 

ไพบูลย์ อธิบายว่า หลักการของ จีเอ็นเอช นั้นตั้งอยู่บนเสาหลัก 4 ประการ คือ 1.การพัฒนาเศรษฐกิจสังคมให้ยั่งยืน เท่าเทียม และพึ่งพาตนเองได้ 2.การอนุรักษ์ดูแลทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 3.การอนุรักษ์ส่งเสริมคุณค่าทางวัฒนธรรม และ 4.การมีธรรมาภิบาล หรือการบริหารจัดการบ้านเมืองที่ดี

ด้วยหลักการดังกล่าวนี้ ไพบูลย์ บอกว่า ประเทศไทยเองก็ให้ความสำคัญ เพราะในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 8  (ปี 2540-2544) ก็พูดถึงการพัฒนาที่ทำให้เกิดเป้าหมาย “ชีวิตที่เป็นสุข” โดยมีคนเป็นศูนย์กลาง ซึ่งในแผนฯ 8 ใช้คำว่า “การพัฒนาเพื่อให้คนมีความสุข ครอบครัวอบอุ่น ชุมชนเข้มแข็ง สังคมสันติ และสิ่งแวดล้อมยั่งยืน” 

ต่อมาในแผนฯ 9 (2545-2549)  ก็ยังเน้นเรื่อง “อยู่ดีมีสุข” อย่างต่อเนื่อง โดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ ได้พัฒนาตัวชี้วัดขึ้นมา เพื่อวัดความอยู่ดีมีสุขของประชาชน ซึ่งการวัดแบบนี้ซับซ้อนและยากกว่าการวัดด้วย จีดีพี

กระทั่งในแผนฯ 10 (2550 เป็นต้นไป) ก็มุ่งการพัฒนาเพื่อให้คนอยู่อย่างเป็นสุข โดยมีวิสัยทัศน์ให้ประเทศไทยมี “สังคมที่อยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน” ซึ่งแสดงถึงความเป็นปึกแผ่น โดยใช้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเป็นปรัชญานำทาง

                “นี่เป็นการชี้ให้เห็นว่าประเทศไทยก็คิดเรื่องนี้มาตั้งแต่แผนฯ 8 กระทั่งถึงแผนฯ 10 ก็พูดเรื่องสังคมอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน โดยมีเศรษฐกิจพอเพียงเป็นเสาหลัก” ไพบูลย์ ระบุ

เขาอธิบายว่า ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มีหลักอยู่ 5 ประการคือ 1.ความพอประมาณ 2.ความมีเหตุผล  3.ความมีภูมิคุ้มกัน 4.ความรอบรู้รอบคอบ และ 5.คุณธรรมความดี ซึ่งเมื่อพิจารณาแล้วก็มีหลักการในทางเดียวกันกับ จีเอ็นเอช จึงเป็นเรื่องที่น่ายินดีที่รัฐบาลชุดใหม่ประกาศเดินหน้าเรื่องความผาสุกของประชาชนโดยใช้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเป็นหลักการสำคัญ

อย่างไรก็ดี คำว่า “เศรษฐกิจพอเพียง” ดูจะยังมีความสับสนในแง่ของความหมาย แต่ ไพบูลย์ บอกว่า จริงๆ แล้วคนไทยที่ใช้ชีวิตอย่างพอเพียงก็มีไม่น้อย ซึ่งไม่เฉพาะแต่เพียงชาวบ้านเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงคนที่มีฐานะดี มีหน้าที่การงานในระดับสูง และข้าราชการอีกเป็นจำนวนมาก เพราะแท้ที่จริงแล้วการใช้ชีวิตอย่างพอเพียงก็คือไม่โลภ ใช้ชีวิตแต่พอดี ไม่ฟุ้งเฟ้อ และมีความสุขตามอัตภาพ

                “เพราะฉะนั้นเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงเรามีอยู่แล้ว เพียงแต่ต้องส่งเสริมให้มากขึ้น เพื่อลดความเร่าร้อนรุนแรงของเศรษฐกิจในแบบมุ่งรายได้ มุ่งการเติบโต และมุ่งเอาชนะ คือเราต้องพยายามเดินสายกลางให้มากขึ้น เพื่อดึงพวกสุดโต่งให้กลับมา” 

ไพบูลย์ ย้ำว่า เศรษฐกิจพอเพียงไม่ได้หมายความว่าเราจะไม่ค้าขายกับใคร แต่อยู่ที่เจตนาของการทำธุรกิจมากกว่า

                “เราต้องดูที่เจตนา ถ้าหวังร่ำรวยกว่าคนอื่น ใหญ่โตกว่าคนอื่น ก็ไม่ใช่เศรษฐกิจพอเพียง แต่ถ้าเจตนาอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข มองคนอื่นเป็นมิตร ไม่ใช่คู่แข่ง หรือถ้าจะแข่งขันก็แข่งกันแบบเป็นมิตร และอนุรักษ์สิ่งที่มีคุณค่าไว้ เช่น สิ่งแวดล้อม หรือวัฒนธรรมอันดีงาม แบบนี้ก็ถือเป็นเศรษฐกิจพอเพียงได้” 

ไพบูลย์ บอกว่า จริงๆ แล้วเศรษฐกิจพอเพียงต้องถือเป็นปรัชญาของโลก เพราะโลกกำลังหาทางออกจากภยันตรายของมวลมนุษยชาติอันเกิดจากความโลภ อาทิเช่น ปัญหาโลกร้อน ซึ่งเศรษฐกิจพอเพียงคือทางออก

                “พอดีก็คือสมดุล เมื่อสมดุลก็จะยั่งยืน แต่เรื่องเศรษฐกิจก็ยังคงอยู่ การค้าขายก็ยังคงอยู่ เพียงแต่เราต้องรู้ว่าเราผลิตเพื่อบริโภคและจำหน่าย ดังนั้นถ้าเราบริโภคแต่พอดี ก็จะผลิตและจำหน่ายอย่างพอดี แต่ถ้าเราบริโภคมาก เราก็ต้องผลิตมากและส่งออกมากเพื่อนำเงินเข้ามาบริโภค ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือการบริโภคน้ำมันของบ้านเรา ถ้าบริโภคมาก จะต้องนำข้าวกี่เกวียนไปแลก ” เขายกตัวอย่างพร้อมตั้งคำถาม และว่า

                “ผมมองว่าประเทศไทยกำลังก้าวหน้า ล้ำหน้าประเทศอื่นด้วยซ้ำ ที่ยกเอาเรื่องความผาสุก การอยู่ร่วมกันอย่างเป็นสุข และเศรษฐกิจพอเพียงขึ้นมาเป็นปรัชญาในการพัฒนาประเทศ” 

ไพบูลย์ บอกอีกว่า กระบวนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงดำเนินมาอย่างเงียบๆ ตั้งแต่แผนฯ 9 ที่อัญเชิญแนวคิด “เศรษฐกิจพอเพียง” มาเป็นปรัชญาในการพัฒนาประเทศ โดยมีการตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งมี ดร.จิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา เป็นประธาน มีสำนักงานอยู่ที่สภาพัฒน์ และพยายามเผยแพร่ให้ความรู้กระจายออกไปยังวงการต่างๆรวมถึงสถานศึกษาและธุรกิจ

                “ปีนี้พลังเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงเกิดขึ้นมาก เนื่องจากเป็นปีมหามงคล มีการเฉลิมฉลองในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ทำให้มีกระแสและมีความตื่นตัวสูง แต่ต้องยอมรับว่าในเชิงปฏิบัติยังน้อยอยู่ ถือว่าเพิ่งเริ่มต้น เพราะฉะนั้นต้องขับเคลื่อนต่อไป โดยยกระดับให้เป็นองค์ความรู้มากขึ้น รวมถีงการทำให้เป็นหลักสูตรสอนในสถานศึกษา และการดำเนินการอื่นๆ”

ไพบูลย์ บอกว่า หากจะเปรียบสิ่งที่กำลังทำในเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง ก็ไม่ต่างจากหยดน้ำเล็กๆ มากมายไหลมารวมกันเป็นแม่น้ำสายใหญ่ ซึ่งต้องพยายามให้เกิดเป็นแม่น้ำสายหลักให้ได้ เพราะในแง่ปฏิบัติแล้ว วันนี้เศรษฐกิจพอเพียงยังเปรียบเสมือนลำธารเท่านั้น

                “ผมคิดว่า 1 ปีนับจากนี้น่าจะเป็นโอกาสอันดีที่เศรษฐกิจพอเพียงจะก้าวหน้าต่อไป และถ้าไปได้ดี ย่อมมีพลังขับเคลื่อนหลังจากนั้น ไม่ว่าใครจะเข้ามาเป็นรัฐบาลบริหารประเทศต่อไปก็ตาม” 

ไพบูลย์ บอกด้วยว่า การดำเนินนโยบายเศรษฐกิจพอเพียง ไม่ใช่แค่การขับเคลื่อนระดับชาติ แต่ต้องทำในระดับชุมชนไปพร้อมกันด้วย เช่น การเสริมความรู้ให้คนในท้องถิ่นรู้จักทำแผนชุมชน กระตุ้นให้คนในหมู่บ้านมานั่งพูดคุยกันเพื่อแก้ปัญหาของตัวเอง เป็นต้น เพราะเมื่อแต่ละชุมชนรู้ปัญหา ก็จะคิดหาทางออกร่วมกัน โดยอาจจะตั้งวิสาหกิจชุมชนขึ้นมา เพื่อร่วมกันคลี่คลายปัญหาอย่างมีเหตุผล

นอกจากนั้น ยังต้องปลูกฝังแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงลงไปถึงระดับครัวเรือน เพื่อให้รู้จักคิดวิเคราะห์ว่าแต่ละครัวเรือนมีปัญหาอะไร มีรายจ่ายเท่าไหร่ ทำไมถึงมีหนี้สิน

                “ถ้าแต่ละครัวเรือนรู้ความจริงของตัวเองว่าในแต่ละเดือนเราหมดเงินไปกับการดื่มเหล้าเท่าไหร่ สูบบุหรี่เท่าไหร่ เมื่อความจริงเกิดขึ้น ความดีงามก็จะตามมา ความคิดดีๆ ก็จะเกิดขึ้น” ไพบูลย์ บอก

เขายังเห็นว่า ความเข้าใจและการประยุกต์ใช้ปรัชญาของเศรษฐกิจเพียงจะสามารถช่วยแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้อีกด้วย เพราะความต้องการดำรงอยู่ในอัตลักษณ์ของชาวมลายูมุสลิมภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์ ซึ่งสอดคล้องกับแนวเศรษฐกิจพอเพียง เป็นเรื่องที่ฝ่ายรัฐในอดีต คงจะยังไม่เข้าใจและให้ความสำคัญมากพอ จึงกลายเป็นต้นตอหนึ่งของปัญหาอันนำไปสู่ความรุนแรงในภาคใต้

                “ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเรื่อง จีเอ็นเอช และเศรษฐกิจพอเพียงในปีหน้านี้ ซึ่งจะมีนักคิด นักพัฒนา และบุคคลระดับชั้นนำจากหลายๆ ประเทศเข้าร่วม ซึ่งผมเชื่อว่าจะสามารถผลักดันแนวคิดนี้ให้เป็นเป้าหมายหลักของชาติและของสังคมโลกเพื่อแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้อย่างยั่งยืนต่อไป”

(ล้อมกรอบ)

เห็นด้วย คปค.ตั้งคณะที่ปรึกษา

เปิดช่องทางสื่อสารภาคประชาสังคม

ภายหลังการยึดอำนาจการปกครองของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ได้เพียงไม่กี่วัน คปค.ก็ออกคำสั่งที่ 17/2549 แต่งตั้งคณะที่ปรึกษา 4 ชุด ซึ่งประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิด้านต่างๆ เป็นจำนวนมาก

และชื่อ ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ก็ปรากฏเป็นหนึ่งในนั้น ในฐานะประธานคณะที่ปรึกษาฝ่ายการเสริมสร้างสมานฉันท์และความเป็นธรรมในสังคม

ไพบูลย์ เล่าให้ฟังว่า หลังได้รับแต่งตั้ง ก็ได้เรียกประชุมคณะที่ปรึกษาไปแล้ว 1 ครั้ง แต่ประเด็นการหารือยังไม่ได้ลงรายละเอียดมากนัก เพียงแต่หารือกันเพื่อกำหนดกรอบงานกว้างๆ

                “ผมว่าก็ดีที่ คปค.คิดในเรื่องแบบนี้ ถือว่าจับประเด็นได้ดี การมีคณะที่ปรึกษาเป็นช่องทางหนึ่งที่จะได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน และสื่อสารกับประชาชนได้มากขึ้น โดยภาคประชาสังคมเองก็สามารถเคลื่อนไหวในประเด็นต่างๆ ผ่านกลไกของคณะที่ปรึกษาได้ ถือเป็นช่องทางที่เสริมเข้ามาเพื่อให้แนวทางดำเนินการมีความหลากหลายมากขึ้น และน่าจะเป็นประโยชน์กับสังคมและประชาชนในภาพรวม”

ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม

24 ต.ค. 49

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ  https://www.gotoknow.org/posts/55563

<<< กลับ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *