การสร้างองค์การแห่งคุณธรรมและจริยธรรม
สรุปสาระสำคัญ ปาฐกถาพิเศษ เรื่อง การสร้างองค์การแห่งคุณธรรมและจริยธรรม เมื่อวันจันทร์ที่ ๒ เมษายน พ.ศ.๒๕๕๐ หอประชุมบุรฉัตร ธนาคารออมสิน สำนักงานใหญ่
เมื่อพูดถึงคำว่า คุณธรรม จริยธรรม หลายคนอาจจะมองว่าเป็นเรื่องนามธรรม ยากแก่การปฏิบัติให้เกิดผลอย่างจริงจัง แต่จริง ๆ เรื่องนี้มีหลักในการพิจารณาง่ายๆ อยู่ 3 ประการ คือ หนึ่ง ความดี สอง ความถูกต้อง และ สาม คือ ความเป็นธรรม ทั้งสามสิ่งนี้เป็นเกณฑ์วัดพื้นฐานที่สามารถนำไปเป็นหลักคิดพิจารณาในเรื่องต่าง ๆ เพื่อประโยชน์ต่อตนเอง องค์กร และประเทศชาติ ได้ โดยในการนำไปปฏิบัติ ให้ยึดหลักว่า เรื่องความดี เป็นเรื่องที่ควรกระทำ และสังคมควรช่วยกันสร้างค่านิยมในการทำความดี ส่งเสริมการทำความดีให้แพร่หลาย เรื่องของความถูกต้อง เป็นเรื่องที่ต้องกระทำ และประการสุดท้ายคือ ความเป็นธรรม เป็นสิ่งที่ควรต้องกระทำ ฉะนั้นในการประพฤติปฏิบัติก็จะมีด้วยกัน ๓ ระดับ คือ ควรทำ ต้องทำ และควรต้องทำ
สำหรับแนวทางในการกระทำให้ทั้งสามประการเกิดผลที่น่าพึงพอใจ ต้องเริ่มทำทุกส่วน ทำในระดับบริหาร และระดับพนักงาน ควบคู่กันไป โดยในระดับบริหารจะเป็นแนวทางนำไปสู่การประพฤติปฏิบัติอย่างเหมาะสมให้แก่พนักงาน แล้วถ่ายทอดให้พนักงานได้เห็นแนวทาง เป็นวิธีง่าย ๆ ไม่ต้องไปบอกว่าควรจะทำอะไร ให้เขาไปคิดไปพิจารณาเอง เป็นการถอดแบบแนวคิด อาจจะจัดเป็นการประชุมเชิงปฏิบัติการ ( workshop) ที่สำคัญคือทำแล้วก็ต้องมีการติดตามผล เพื่อเรียนรู้จากสิ่งที่ทำ รวมถึงการใช้เครื่องมือที่เรียกว่า “การจัดการความรู้”(Knowledge Management)
ในระดับพนักงาน อาจทำเป็นหน่วยงาน คือให้โอกาสไปคิด ไปดำเนินการกันเองว่า ความดี ความถูกต้อง ความเป็นธรรม คุณจะทำอย่างไร ให้พนักงานร่วมกันคิด ร่วมกันวางกติกาว่า ทำอย่างไรจึงจะเกิดสามสิ่งข้างต้น ไม่จำกัดวงว่าต้องเป็นเรื่องในภาระหน้าที่ที่ปฏิบัติ อาจเป็นกิจกรรมเพื่อช่วยเหลือสังคม กิจกรรมเพื่อสร้างความแข็งแกร่งของฐานคุณธรรม
หลักปฏิบัติในเรื่องความดี ความถูกต้อง ความเป็นธรรม
เรื่องของความดี อาจจะทำหรือไม่ทำก็ไม่มีใครมาว่า แต่เป็นเรื่องสำคัญที่ขอใช้คำว่าควรทำอย่างยิ่ง เช่น การรวมกลุ่มเป็นอาสาสมัครไปช่วยเหลือสังคมในด้านต่าง ๆ ดูแลสิ่งแวดล้อม ช่วยสอนช่วยแนะนำชาวบ้านในด้านการทำบัญชี เป็นต้น ซึ่งเรื่องเหล่านี้ ผู้บริหารต้องช่วยส่งเสริมให้เกิดการขับเคลื่อนเป็นขบวนการในการทำความดีอย่างต่อเนื่องและจริงจัง
ในเรื่องของการทำความถูกต้อง กล่าวอย่างสั้นและตรงที่สุดคือไม่ทุจริต เป็นหลักธรรมาภิบาล ( good governance) พื้นฐาน เรื่องของความถูกต้องจะเกี่ยวพันกับระเบียบ ข้อบังคับ หลักการที่ยึดโยงให้กลไกต่าง ๆ ดำเนินไปอย่างสมบูรณ์ เปรียบเป็นศีล ที่ต้องยึดถือและปฏิบัติ ฉะนั้นหลักในการปฏิบัติจึงเข้มข้นเพราะเป็นสิ่งที่ต้องทำ ไม่ว่าจะอยู่ในตำแหน่งระดับใด ก็ต้องมีความระมัดระวังรอบคอบในการทำงานให้เกิดความถูกต้องเป็นเบื้องแรก ถูกต้องในที่นี้ หมายถึงการกระทำที่สุจริตจริงใจ ไม่ผ่อนปรนกับความไม่ถูกต้อง
ส่วนเรื่องของความเป็นธรรม คือเรื่องของความเสมอภาค การประพฤติปฏิบัติที่เข้าหลักการเสมอภาค จะส่งผลให้เกิดสิ่งที่เป็นธรรมขึ้น ซึ่งความเสมอภาคนี้ เป็นเรื่องที่สำคัญของสังคม การอยู่ร่วมกันในสังคมไม่ว่าจะระดับประเทศ ระดับหน่วยงาน หรือแม้แต่ระดับบุคคล ต้องพึงระวังให้มาก เพราะมักนำไปสู่สาเหตุของการไม่เข้าใจและความขัดแย้งซึ่งกันและกัน ดังนั้นเรื่องของความเป็นธรรมจึงต้องร่วมมือกันทุกฝ่าย ด้วยการไม่เลือกปฏิบัติ ไม่เลือกที่รัก มักที่ชัง ไม่ว่าจะเป็นการปฏิบัติต่อลูกค้า เพื่อนร่วมงาน ผู้บังคับบัญชา และผู้ใต้บังคับบัญชา
การสร้างองค์การแห่งคุณธรรม จึงต้องเริ่มทุกระดับ แล้วประสานความร่วมมือระหว่างกันให้ขยายวงกว้างออกไป ระดับผู้ใหญ่ก็ต้องเป็นแบบอย่างในการส่งเสริมคุณธรรม ความดี ความถูกต้องและความเป็นธรรม ระดับผู้น้อยก็ต้องร่วมกันสร้างแนวทางการพัฒนาให้เกิดการเรียนรู้และมีการจัดการความรู้ในเรื่องดังกล่าวอย่างถ่องแท้ แล้วนำไปปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง
เมื่อทุกคนทำ ทุกคนปฏิบัติบนฐานของคุณธรรม ความเข้มแข็งของสังคมก็จะตามมา ซึ่งตรงนี้จะเป็นประโยชน์มหาศาล สังคมที่มีคุณธรรมนำการเรียนรู้ ใช้ความดีนำความรู้ จะเดินไปในทิศทางที่ดี เมื่อคนทำความดี ความดีก็จะก่อให้เกิดความสุข และในวันที่สังคมไทยมีความเข้มแข็ง มีฐานของคุณธรรมความดี เรื่องที่ไม่ดี ไม่งามต่าง ๆ ก็จะลดน้อยลง ปัญหาในเรื่องจริยธรรมที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ปัญหาเรื่องการทุจริตคอรัปชัน การทะเลาะเบาะแว้ง การแตกแยกของสังคมก็จะค่อย ๆ ลดลงและคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น
ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
4 เม.ย. 50
อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/88532