การพัฒนาประเทศสู่การเป็นสังคมอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน

การพัฒนาประเทศสู่การเป็นสังคมอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน


โดย นายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม

ประธานกรรมการมูลนิธิหัวใจอาสา

อดีตรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

 แนวคิดการพัฒนา: ยึดพื้นที่เป็นหลัก โดยให้ประชาชนเป็นศูนย์กลาง       

ในการพัฒนาประเทศนั้น ต้องเน้นที่การพัฒนาในประเทศก่อน เพราะการพัฒนาต้องมุ่งหวังให้คนอยู่เย็นเป็นสุข โดยเฉพาะอย่างยิ่งอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน นี่เป็นเป้าหมายที่ระบุไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 10

การที่จะทำให้ประชาชนอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกันแปลว่าต้องทำหลายอย่างที่ไปด้วยกันและบูรณาการ ไม่ใช่เลือกทำเพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น เน้นแต่เรื่องเศรษฐกิจ เพราะถ้าทำแต่เรื่องเศรษฐกิจ แต่เรื่องของสังคม เรื่องของการเมือง เรื่องของสิ่งแวดล้อมไม่ได้ไปด้วยกัน เศรษฐกิจก็พัฒนาไม่ได้ ฉะนั้นการพัฒนาที่ดี ต้องเป็นการพัฒนาแบบบูรณาการ คือ ต้องผสมผสานหลายๆอย่างเข้าด้วยกัน เหมือนชีวิตคนเราที่ไม่ได้แยกทำเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ต้องทำไปพร้อมๆกัน ทั้งกิน ทั้งทำงาน ทั้งพักผ่อน ดูแลสุขภาพ อยู่กับครอบครัว รวมทั้งเรื่องจิตใจด้วย สังคมและประชาชนก็เช่นเดียวกัน

หลักการพัฒนาที่ดีคือ การพัฒนาที่เน้นประชาชนเป็นศูนย์กลาง ประชาชนต้องเป็นคนที่มีบทบาทสำคัญในการกำหนดนโยบาย กำหนดวิธีการ และลงมือปฏิบัติ นอกจากนั้น ประชาชนต้องเรียนรู้ผลของการปฏิบัติ โดยนำมาปรับปรุง และพัฒนา นี่คือบทบาทของประชาชนสำคัญที่สุด ซึ่งก็สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของพระราชกฤษฎีกาที่เกี่ยวกับการบริหารจัดการเชิงพื้นที่ ที่ระบุให้จังหวัดและกลุ่มจังหวัดเป็นตัวตั้ง ซึ่งเป็นแนวคิดที่ดีมาก เพราะหลักการพัฒนาที่ดีนอกจากประชาชนเป็นศูนย์กลางแล้ว ก็ต้องมีพื้นที่เป็นตัวตั้ง ทั้งนี้ พื้นที่อาจเป็นพื้นที่ขนาดเล็ก เช่น หมู่บ้าน ตำบล พื้นที่ขนาดกลาง ได้แก่ อำเภอ จังหวัด พื้นที่ระดับใหญ่ คือ กลุ่มจังหวัด และพื้นที่ที่ใหญ่ที่สุด คือทั้งประเทศ การแบ่งเป็นจังหวัดและกลุ่มจังหวัดเป็นเรื่องที่ดี แต่ต้องไม่ลืมว่าจังหวัดและกลุ่มจังหวัดประกอบด้วยพื้นที่เล็กลงกว่านั้น คือ อำเภอ  ตำบล หมู่บ้าน หรือตามเขตการปกครองส่วนท้องถิ่น ประกอบไปด้วยองค์การบริหารส่วนจังหวัด ซึ่งบริหารระดับจังหวัด เทศบาลดูแลในเมือง และองค์การบริหารส่วนตำบลดูแลชนบท

การเอาพื้นที่เป็นตัวตั้งแบบนี้จะทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้อง ได้มามองสถานการณ์ร่วมกัน ตลอดจนศึกษาความเป็นไปได้ แล้วก็วางแผนร่วมกันหลายๆฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นราชการส่วนภูมิภาค ราชการส่วนท้องถิ่น ภาคประชาชน ประชาสังคม วิชาการ ศาสนา วัฒนธรรม ตลอดจนภาคเอกชน และภาคธุรกิจ โดยเอาพื้นที่เป็นตัวตั้ง ให้ประชาชนเป็นศูนย์กลาง มาศึกษาสถานการณ์และวางแผนร่วมกัน และปฏิบัติร่วมกันตามบทบาทที่เหมาะสมของแต่ละฝ่าย จากนั้นก็ติดตามผล วัดผล เรียนรู้จากผลที่เกิดขึ้น และนำมาเป็นข้อคิดในการพัฒนาปรับปรุงต่อไป

เป้าหมายการพัฒนา จะเน้นเป้าหมายสูงสุดว่า ประชาชนหรือสังคมต้องอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน เมื่อมีการตั้งเป้าหมายชัดเจนแล้วก็จะสามารถกำหนดแผนงาน กำหนดนโยบาย กำหนดยุทธศาสตร์ แยกออกมาเป็นโครงการต่างๆ แล้วลงมือทำได้ ขณะเดียวกันถ้าจะให้การบริหารการพัฒนาเหล่านี้มีประสิทธิภาพ ได้ประสิทธิผล วิธีหนึ่งที่ดีมากๆ คือ การกำหนดตัวชี้วัด ซึ่งก็ควรจะมีตัวชี้วัดวัดผลของการพัฒนา นั่นคือ ความอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน อาจเรียกว่า ตัวชี้วัดความอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน”  การอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกันควรให้ประชาชนหลายๆฝ่ายที่อยู่ในแต่ละพื้นที่ร่วมกันกำหนดตัวชี้วัด ตั้งแต่หน่วยที่เล็กที่สุด คือ หมู่บ้าน ตำบล เทศบาล จังหวัด รวมทั้งผู้เกี่ยวข้องจากฝ่ายต่างๆ ด้วย ได้แก่ ประชาชน ประชาสังคม ธุรกิจ หน่วยงานราชการในส่วนท้องถิ่น ตลอดจนในส่วนภูมิภาค โดยในแต่ละพื้นที่ ตัวชี้วัดไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน แต่แนวโน้มออกมาคล้ายๆ กัน หัวข้อใหญ่ๆ หมวดใหญ่ๆ จะคล้ายกัน แต่หมวดย่อยอาจจะต่างกันที่น้ำหนัก เช่น พื้นที่นี้อาจจะให้น้ำหนักเรื่องสุขภาพ พื้นที่นี้อาจจะให้น้ำหนักเรื่องความปลอดภัย พื้นที่นี้อาจจะให้น้ำหนักเรื่องรายได้ พื้นที่นี้อาจจะให้น้ำหนักเรื่องอิสระเสรีภาพ เป็นต้น แต่จริงๆ แล้ว ความอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกันต้องประกอบด้วยหลายๆอย่างที่ผสมกลมกลืนกัน แล้วนำมาซึ่งความอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน ผู้เกี่ยวข้องและประชาชนในพื้นที่ควรมีส่วนร่วมในการกำหนดตัวชี้วัด มีส่วนร่วมในการกำหนดยุทธศาสตร์ แผนงาน มีส่วนร่วมในการปฏิบัติในขอบเขตที่เหมาะสม มีส่วนร่วมในการเรียนรู้ และพัฒนาต่อเนื่อง ถ้าทำได้ดังนี้เราสามารถทำให้ทุกพื้นที่ที่สามารถจะพัฒนาในลักษณะที่ทุกฝ่ายร่วมมือกัน แล้วนำมาซึ่งความอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกันของคนในพื้นที่ นี่คือผลของการพัฒนาและไม่จำเป็นต้องเน้นว่าการพัฒนาในประเทศหรือนอกประเทศ เพราะว่าเมื่อเราให้ประชาชนเป็นศูนย์กลาง พื้นที่เป็นตัวตั้ง กำหนดยุทธศาสตร์ แผนงาน วิธีการออกมาแล้ว ยุทธศาสตร์และแผนงานจะเป็นตัวกำหนดว่า อะไรเป็นอะไร เช่น สมมติว่าเราพัฒนาเกี่ยวกับเกษตรอินทรีย์ เพราะว่าดีต่อผลผลิต ดีต่อการบริโภค ดีต่อผู้ผลิต และยังสามารถส่งออกได้อีก ฉะนั้นอาจเป็นไปได้ว่า เรื่องในประเทศและเรื่องต่างประเทศมีความเชื่อมโยงสัมพันธ์กัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับเนื้อหาสาระและสถานการณ์

ขณะนี้มีวิกฤติเศรษฐกิจ วิกฤติการเงิน แต่เมืองไทยเรามีวิกฤตทางการเมืองและสังคมเพิ่มมาด้วย วิกฤตเหล่านี้เกี่ยวพันกันหมด เมื่อดูสถานการณ์แล้ว ควรมีการกำหนดยุทธศาสตร์ แผนงาน วิธีการ ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ ต้องเปลี่ยนแปลง ปรับปรุง พัฒนาไปเรื่อยๆ ไม่อยู่กับที่ การดำเนินงานเช่นนี้จะช่วยให้เราสามารถดำเนินการพัฒนาที่ประชาชนเป็นศูนย์กลาง มีพื้นที่เป็นตัวตั้ง มียุทธศาสตร์ แผนงาน วิธีการสอดคล้องกับสถานการณ์ ปัจจัยต่างๆที่เกี่ยวข้อง พัฒนาไป เรียนรู้ ปรับปรุงไปเรื่อยๆ

บทบาทของผู้ว่าราชการจังหวัดในการพัฒนาประเทศสู่สังคมอยู่เย็นเป็นสุข

การบริหารจัดการประเทศในขณะนี้ มีผู้ที่เกี่ยวข้องหลายฝ่าย ทั้งราชการส่วนกลาง ราชการส่วนภูมิภาค ราชการส่วนท้องถิ่น และองค์กรภาคประชาชน ซึ่งก็แยกเป็นชุมชน ประชาสังคม ธุรกิจและอื่นๆ ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นตัวแทนของราชการส่วนกลางที่ไปอยู่ภูมิภาค ช่วยส่งเสริม สนับสนุน ประสานกับราชการส่วนท้องถิ่น กับภาคประชาชน กับภาคส่วนต่างๆในพื้นที่ ฉะนั้นต้องให้ความสำคัญกับฐานราก หรือฐานล่าง ซึ่งก็คือประชาชน ชุมชน องค์กรภาคประชาชน ราชการส่วนท้องถิ่น นอกจากนี้ ต้องประสานเชื่อมโยงกับราชการส่วนภูมิภาค ราชการส่วนกลาง ตลอดจน หน่วยงานหรือองค์กรที่ไปจากส่วนกลางด้วย

ผู้ว่าราชการจังหวัดควรเป็นแกนประสานที่ดี เป็นจุดกลางระหว่างราชการส่วนท้องถิ่น และราชการส่วนกลาง เป็นผู้ประสานระหว่างหลายภาคส่วนในพื้นที่ ฉะนั้นบทบาทของผู้ว่าราชการจังหวัดจึงถือเป็นบทบาทที่สำคัญ ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาเห็นว่า ผู้ว่าราชการจังหวัดมีบทบาทที่ดี และเหมาะสมมากขึ้นเป็นลำดับ บุคคลที่เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดก็มีคุณสมบัติ มีวิธีการ มีนโยบายที่ดีมากขึ้นเรื่อยๆ หลังๆ นี้ เมื่อเราไปพบผู้ว่าราชการจังหวัด ไปเห็นการทำงานของผู้ว่าราชการจังหวัด จะเห็นว่ามีความทันสมัย เหมาะสมกับสถานการณ์ มีการประสานเชื่อมโยงกับภาคส่วนต่างๆ มากขึ้น และทำดีขึ้น ฉะนั้น ก็หวังว่าผู้ว่าราชการจังหวัดทุกแห่งจะเล่นบทในฐานะผู้ประสานกลางที่จะส่งเสริม สนับสนุนเพื่ออำนวยให้ทุกฝ่ายในพื้นที่ที่ผู้ว่าราชการจังหวัดดูแล ร่วมมือกัน นำไปสู่การมียุทธศาสตร์ มีแผนงาน มีวิธีการที่เหมาะสม เพื่อให้พื้นที่และประชาชนในพื้นที่บรรลุผลสำเร็จ ท้ายสุดก็คือความอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกันนั่นเอง

โดยสรุป ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นกลไกสำคัญในการที่จะทำให้จังหวัดและกลุ่มจังหวัดเจริญก้าวหน้าอย่างมั่นคงและสมบูรณืยั่งยืน แต่ทั้งนี้ต้องคำนึงอยู่เสมอว่าผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้ประสานให้ทุกๆ ฝ่ายที่อยู่ในพื้นที่ได้มาร่วมมือกัน โดยมีประชาชนเป็นผู้รับผลสุดท้ายของการพัฒนาซึ่งก็คือ ความอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน

 

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/260975

<<< กลับ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *