การพัฒนาชีวิตครู (แก้ปัญหาหนี้สินครู) ที่จังหวัดสมุทรปราการ
ได้บรรยายโดยมีสาระสำคัญดังนี้
แนวทางสำคัญในการพัฒนาชีวิตครู (แก้ปัญหาหนี้สินครู) ระดับจังหวัด
1. การมีทัศนคติพึ่งตนเองและร่วมมือกัน บนฐานของ “ความดี” และ “ความสามารถ”
2. การเรียนรู้และพัฒนาร่วมกันผ่านการปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง
3. การเชื่อมโยงเป็นเครือข่ายเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้และประสานความร่วมมืออย่างสร้างสรรค์
4. การมีกลไก กระบวนการ และปัจจัยเอื้ออำนวยที่เหมาะสมและมีคุณภาพพร้อมประสิทธิภาพ
5. การมีนโยบายในด้านต่างๆทุกระดับที่เกื้อกูลต่อการพัฒนาชีวิตครู (แก้ปัญหาหนี้สินครู) ทั้งทางตรงและทางอ้อม
ข้อเสนอแนะวิธีดำเนินการ (ในระดับจัหวัด)
1. อาศัยเครือข่ายระดับจังหวัดที่มีอยู่แล้วเป็นฐานดำเนินการ
2. จัดให้มี “คณะทำงาน” ที่มุ่งมั่นจริงจังอย่างต่อเนื่องในการที่จะนำความสำเร็จมาสู่ขบวนการพัฒนาชีวิตครูของจังหวัดสมุทรปราการ
3. ดำเนินการ “จัดการความรู้” อย่างมีคุณภาพ ให้บังเกิดผลดีอย่างเป็นรูปธรรมพร้อมกับการเชื่อมโยงขยายวงไปเรื่อยๆ ทั้งภายในจังหวัดและข้ามจังหวัด
4. จัดให้มีงบประมาณสนับสนุนกิจกรรม “จัดการความรู้” และอื่นๆโดยมุ่งพึ่งตนเองเป็นหลักก่อน เช่นนำเงิน 5% ของ 1% ที่ได้จากธนาคารออมสินมาใช้เพื่อการนี้และอาจเสนอให้ ธนาคารธนาคารออมสินร่วมสมทบในจำนวนใกล้เคียงกันหรือมากกว่ากับขอให้ สกสค. และหรือกระทรวงศึกษาธิการสมทบเป็นเงินหรืออย่างอื่นอีกทางหนึ่งด้วย
5. จัดให้มีการศึกษาข้อเท็จจริง สถานการณ์ ปัญหา ฯลฯ อยู่เป็นประจำ พร้อมกับการหารือเจรจากับผู้ที่เกี่ยวข้องในกรณีที่เป็นประเด็นหรือปัญหา เพื่อหาข้อยุติที่พึงพอใจหรือยอมรับได้ร่วมกัน
6. ดำเนินการให้มีการเชื่อมโยงปฏิสัมพันธ์กับขบวนการพัฒนาชีวิตครู (แก้ปัญหาหนี้สิ้นครู) ในระดับกลุ่มจังหวัด ระดับภาค และระดับชาติ
7. เข้าไปมีส่วนร่วมในการดำเนินการระดับชาติเท่าที่มีโอกาส เป็นไปได้ และเหมาะสม
เอกสารประกอบการบรรยาย
ได้นำบทสัมภาษณ์ในวารสาร “NewSchool” (สานปฏิรูป) ฉบับธันวาคม 2548 คอลัมน์ “ชีวิตกับการเรียนรู้ 091” เรื่อง ไพบูลย์วัฒนศิริธรรม ‘ฟันธง’ ทางออกของปัญหาหนี้สินครู “เงินไม่ใช่ปัญหา หากเป็นสินเชื่อที่มีคุณภาพ ปล่อยแล้วได้คืน” ซึ่งมีข้อความในบทสัมภาษณ์ดังนี้คอลัมน์ ชีวิตกับการเรียนรู้ 091เรื่อง ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ‘ฟันธง’ ทางออกของปัญหาหนี้สินครู
“เงินไม่ใช่ปัญหา หากเป็นสินเชื่อที่มีคุณภาพ ปล่อยแล้วได้คืน”
หนี้สินครูเป็นปัญหาเรื้อรังที่รัฐบาลทุกยุคสมัยต่างหาเสียงว่าจะแก้ไขให้ได้ เมื่อพูดมากกว่าทำ เมื่อสร้างหนี้มากกว่าชำระหนี้ ปัญหาจึงหมักหมมมานานนับสิบปี และตกทอดมาจึงถึงรัฐบาลปัจจุบัน
คุณไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ผู้หักเหชีวิตจากนายธนาคารเอกชนมาทำงาน “เอ็นจีโอ” พัฒนาสังคม สั่งสมประสบการณ์ทำงานพัฒนาคุณภาพชีวิตคนยากไร้ทั้งหลาย เมื่อกลับเข้าสู่เส้นทางธนาคารอีกคำรบหนึ่งในฐานะผู้อำนวยการธนาคารออมสิน ในปี 2542 ได้ริเริ่มโครงการ “พัฒนาชีวิตครู” ร่วมกับเครือข่ายครูและกระทรวงศึกษาธิการ มุ่งมั่นที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิตครูจากที่เคยติดลบให้เป็นบวก เพื่อทำงานสร้างสรรค์ให้กับเด็กและวงการศึกษาได้อย่างมั่นคง
บัดนี้ โครงการพัฒนาชีวิตครูได้ดำเนินงานมาแล้ว 5 ปี ธนาคารออมสินปล่อยสินเชื่อไปแล้วกว่าสี่หมื่นล้านบาท ให้กับครูประมาณห้าหมื่นชีวิต ทว่ายังมีครูอีกนับแสนที่ต้องการสินเชื่อเพื่อปลดเปลื้องหนี้สินรวมกว่าแสนล้านบาท
ปัจจุบัน คุณไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม เป็นที่ปรึกษาโครงการพัฒนาชีวิตครูและมีความห่วงใยการดำเนินงานแก้ไขปัญหาหนี้สินครู จึงให้เกียรติสัมภาษณ์ทีมงานวารสาร NewSchool เพื่อเสนอแนะทางออกที่เบ็ดเสร็จเด็ดขาดสำหรับการแก้ไขปัญหาหนี้ครู ดังความตอนหนึ่งที่ท่านฟันธงว่า “เงินไม่ใช่ปัญหา หากเป็นสินเชื่อที่มีคุณภาพ ปล่อยแล้วได้คืน”
และต่อไปนี้คือแนวทางและข้อเสนอแนะในการจัดการสินเชื่อสำหรับครูอย่างมีคุณภาพ
คุณไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม เป็นผู้ที่ตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษาเป็นพิเศษ ท่านได้ให้เหตุผลที่น่าสนใจว่า
หนี้ครูถือว่าสำคัญ เพราะครูเป็นบุคลากรสำคัญต่อสังคม เป็นผู้ที่ดูแลให้เด็กและเยาวชนเติบโตอย่างมีคุณภาพทั้งสติปัญญา อารมณ์ จิตใจ และสุขภาพด้วย ดังนั้นครูจึงมีความสำคัญมาก ครูจะทำหน้าที่ได้ดีก็ต่อเมื่อครูมีสุขภาพดีทั้งกายและใจ มีชีวิตมั่นคง มีจิตใจมั่นคง การมีจิตใจที่ดีจะช่วยให้ปัญญาดี ทำหน้าที่ได้อย่างเต็มที่ สิ่งที่ส่งไปถึงเด็กไม่ใช่แค่คำพูดที่ไปจากบทเรียนหรือคำสอน แต่จะไปทั้งตัวของครู ทั้งกิริยาท่าทางการแสดงออก สิ่งที่มาจากส่วนลึกของหัวใจครูจะดีไม่ได้ถ้าข้างในของครูยังมีความเดือดร้อน ครูควรจะเป็นตัวอย่างที่ดีไม่ใช่เฉพาะคำสอน แต่ต้องเป็นแบบอย่างในการดำเนินชีวิต ครูควรจะเป็นผู้ที่ประสบความสำเร็จกับชีวิต จึงจะเป็นตัวอย่างให้กับเยาวชนได้
…ดังนั้นการที่ครูมีปัญหาหนี้สินมาก จนกลายเป็นความทุกข์ยากของครูจำนวนแสนๆ คงต้องถือเป็นวิกฤตไม่ใช่เฉพาะของครู แต่ต้องถือว่าเป็นวิกฤตของการศึกษาไทย ควรต้องช่วยกันหาทางแก้ไข และพัฒนาให้ครูมีชีวิตความเป็นอยู่ที่มั่นคง มีจิตใจปลอดโปร่ง เพื่อให้ทำหน้าที่ครูได้อย่างดีที่สุด
ล้อมกรอบ “หนี้ครู…ถือว่าเป็นวิกฤตของการศึกษาไทย ควรต้องช่วยกันหาทางแก้ไข และพัฒนาให้ครูมีชีวิตความเป็นอยู่ที่มั่นคง มีจิตใจปลอดโปร่ง เพื่อให้ทำหน้าที่ครูได้อย่างดีที่สุด”
มุมมองต่อสาเหตุที่ปัญหาหนี้ครูมีการสั่งสมหมักหมมมานานคุณไพบูลย์ได้วิเคราะห์ด้วยความเข้าใจว่า
…ครูจำนวนมากมาจากครอบครัวที่อัตคัด ฐานะพื้นฐานไม่ดี เมื่อเกิดปัญหาหรืออุบัติเหตุในชีวิต เช่นเจ็บไข้ได้ป่วย ประสบปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย หรือบางครั้งต้องจำเป็นใช้รถ ก็จะทำให้ตกอยู่ในบ่วงของหนี้สินได้ง่าย ส่วนอีกประเภทหนึ่งคือผู้ที่ไม่ระมัดระวังเรื่องการใช้จ่ายใช้จ่ายเกินความสามารถในการหารายได้ ทำให้เกิดปัญหาหนี้สิ้น เมื่อพอกพูนขึ้นก็หยิบตรงนี้ไปให้ตรงโน้น ยืมที่นั่นมาใช้ตรงนี้ไปคืนที่นั่น หนี้สินจึงพอกพูนมากขึ้นๆ
…ครูเป็นอาชีพที่มีรายได้ไม่สูงอยู่แล้ว ถ้าจะอยู่ได้ต้องประหยัดมัธยัสถ์ใช้จ่ายอย่างพอประมาณ ขยันหมั่นเพียร แล้วต้องมีอาชีพเสริมบ้าง ซึ่งแล้วแต่สถานการณ์และโอกาสที่เหมาะสมของแต่ละคน โดยทั่วไปต้องยอมรับว่าอาชีพครูเป็นอาชีพที่รายได้ไม่สูงเลย ทำให้ครูสามารถตกหลุมวังวนของหนี้สินได้ง่าย เป็นภาวะที่น่าเห็นใจ
ล้อมกรอบ “หนี้ที่มีปัญหาคือหนี้ที่สะสม กดดันชีวิตครู ประเภทชักหน้าไม่ถึงหลัง เงินเดือนไม่พอใช้ …มีประมาณแสนล้านบาท”
ก่อนที่จะเข้าไปร่วมแก้ไขปัญหาหนี้ครูนั้น คุณไพบูลย์มองว่า ที่ผ่านมามีความพยายามที่จะแก้ปัญหาหนี้ครูน้อยและยังไม่เป็นระบบ เพราะ
…รัฐบาลในอดีตพยายามแก้ปัญหาหนี้สินครูด้วยการสร้างกองทุนแต่จำนวนไม่มาก เริ่มต้นไม่ถึงพันล้าน ตอนหลังเติมเข้ามารวมเป็นพันกว่าล้าน ซึ่งไม่พอที่จะแก้ปัญหาหนี้ครูได้
…หนี้ครูนั้นมีสองประเภท คือหนี้ที่มีปัญหา กับหนี้ปกติหรือหนี้ที่สามารถจัดการได้ หนี้ที่มีปัญหาคือหนี้ที่สะสม กดดันชีวิตครู ประเภทชักหน้าไม่ถึงหลัง เงินเดือนไม่พอใช้ หนี้ที่มีปัญหาในวงการครูมีประมาณแสนล้านบาท อาจจะบวกลบประมาณสองสามหมื่นล้าน
ดังนั้น การที่รัฐบาลตั้งกองทุนขึ้นมาเมื่อหลายปีก่อนเพียงหลักพันล้านบาทจึงเทียบไม่ได้กับขนาดของปัญหา กองทุนนั้นใช้บรรเทาการแก้ไขเฉพาะหน้าได้เพียงเล็กน้อย โดยให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธกส.) ดูแลให้ครูได้กู้ยืมไป เข้าใจว่าคนหนึ่งอาจได้ประมาณหมื่นสองหมื่น แล้วก็ต้องชำระคืนซึ่งทำมาหลายปีแล้ว มีส่วนช่วยผ่อนคลายปัญหาได้บ้าง แต่ไม่ได้แก้ปัญหา
…ที่จริงสหกรณ์ออมทรัพย์ครูควรจะเป็นสถาบันการเงินของครูเพื่อครู ป้องกันปัญหา สร้างความมั่นคงทางการเงินและทรัพย์สินให้กับครู แต่ในความเป็นจริง สหกรณ์ออมทรัพย์ครูไม่สามารถทำให้ครูมีความมั่งคงทางการเงินได้มากนัก อาจจะมีครูจำนวนหนึ่งที่ทำได้บ้าง ครูจำนวนมากทำไม่ได้ แต่กลับมาเป็นหนี้สหกรณ์ออมทรัพย์ครู เหตุที่เป็นหนี้เพราะครูใช้สหกรณ์ออมทรัพย์เป็นแหล่งกู้ยืมในยามขัดสน แต่อาจไม่พอเพียงต้องไปกู้นอกระบบ หนี้สินยิ่งพอกพูนมากขึ้น ทำให้หนี้สหกรณ์ออมทรัพย์ก็ใช้คืนไม่ได้ หรือไม่ก็หมุนไปหมุนมา ไม่สามารถเป็นไทแก่ตัว
…รวมความแล้วยังไม่มีระบบการแก้ปัญหาหนี้ครูที่จริงจังและมีพลังพอ จึงเป็นเหตุให้ครูต้องใช้ความพยายามดิ้นรนแก้ปัญหากันเอง
คุณไพบูลย์ เล่าถึงจุดเริ่มต้นที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาหนี้ครู เมื่อครั้งที่ท่านเป็นผู้อำนวยการธนาคารออมสิน ว่า
…วันหนึ่งทางกระทรวงศึกษาธิการมาขอคำปรึกษากับธนาคารออมสิน ซึ่งเป็นช่วงที่ผมเข้ามาเป็นผู้อำนวยการได้ไม่นาน ทางเจ้าหน้าที่ธนาคารออมสินเห็นว่าคงจะยาก เพราะเป็นปัญหาใหญ่มาก ไม่เคยมีธนาคารที่ไหนรับอาสาทำ
…ในช่วงนั้นผมกำลังทำงานเกี่ยวกับหนี้สินของชาวบ้าน ซึ่งมีมากพอๆ กับหนี้ครู ได้เห็นการทำงานของชาวบ้านในการแก้ปัญหาเรื่องหนี้ของตัวเองโดยการรวมตัวกันจนเกิดพลังกลุ่ม ได้เห็นการจัดตั้งสถาบันการเงินเพื่อแก้ปัญหาทางการเงินของชาวบ้านจนประสบความสำเร็จ กลุ่มออมทรัพย์ของชาวบ้านก็เทียบเท่ากับกลุ่มออมทรัพย์ของครู นั่นเอง เพียงแต่ว่าเป็นสถาบันที่ไม่ได้จดทะเบียน ผมจึงมีความคิดว่าน่าจะมีทางแก้ปัญหาหนี้สินครูได้ ถ้ามีการรวมพลังแก้ปัญหาหนี้สินครู ทำนองเดียวกันกับที่ชุมชนรวมพลังกัน แล้วให้ครูมีบทบาทให้การแก้ปัญหา ไม่ใช่ให้ใครไปแก้ปัญหาให้ คือต้องช่วยให้ครูแก้ปัญหาของครู ไม่ได้ไปแก้ปัญหาให้เขา
…ด้วยความคิดเช่นนี้จึงชวนครูมาพูดคุยกันว่าเรามาช่วยกันหาทางแก้ปัญหา โดยครูเป็นหลักในการแก้ปัญหา กระทรวงศึกษาธิการต้องเข้ามาช่วยบริหารในฐานะเป็นหน่วยงานต้นสังกัด ธนาคารออมสินจะสนับสนุนด้านการเงิน แต่สามฝ่ายจะต้องรวมตัวกันอย่างเหนียวแน่นและต่อเนื่อง ครูเองยิ่งจำเป็นต้องรวมพลังกันอย่างเหนียวแน่น เป็นกลุ่มเล็ก กลุ่มใหญ่ ทำกันเป็นเครือข่ายแล้วเชื่อมโยงกัน การคิดเช่นนี้ถือเป็นเรื่องใหม่ เพราะที่แล้วมาการแก้ปัญหาหนี้สินจะมองปัญหาเป็นรายบุคคล ไปช่วยแก้เป็นรายบุคคล โดยเอาตัวเงินเป็นหลัก ไม่ได้เอาคนเป็นหลัก
…ทั้งสามฝ่ายได้พูดคุยกันประมาณ 6 เดือน จนกระทั่งตกผลึกความคิดเกี่ยวกับปรัชญา ความคิด หลักการ และวิธีการดำเนินงาน กฎกติกาต่างๆ จากนั้นได้ทำบันทึกข้อตกลงกันสามฝ่าย โดยส่วนของการกู้หนี้ยืมสินจะเป็นไปตามข้อบังคับของธนาคารออมสิน ส่วนการหักเงินเดือนและการสร้างระเบียบวินัยเป็นหน้าที่ของกระทรวงศึกษาธิการ จากนั้นเราจึงเริ่มโครงการพัฒนาชีวิตครู ซึ่งจะใช้วิธีการแบบค่อยเป็นค่อยไป เพื่อให้เกิดความชัดเจน โดยเริ่มจากจังหวัดหนึ่งก่อน ทยอยเพิ่มทีละจังหวัดจนครบ 4 ภาค แล้วค่อยๆ ขยายไปทีละจังหวัด เริ่มจากจังหวัดที่พร้อม คือมีครูที่เข้าใจโครงการ รวมกลุ่มกันเป็นกลุ่มย่อยประมาณ 10 คน หลายๆ กลุ่มย่อยรวมกันเป็นเครือข่าย เราเรียกว่าว่ากลุ่มใหญ่ระดับอำเภอและระดับจังหวัด เราใช้เวลา 2 ปีแรกในการขยายจากจังหวัดหนึ่งไปสู่อีกจังหวัดหนึ่งจนครบทั้งประเทศ เป็นการเริ่มที่ช้าแต่มั่นคง ปีแรกปล่อยเงินกู้ไปนับล้านบาท พอปีที่สองและสามเริ่มขยายตัวเร็ว จนกระทั่งปัจจุบันได้ปล่อยเงินกู้ไปแล้วถึงสี่หมื่นกว่าล้านบาท ให้กับครูประมาณกว่าห้าหมื่นคน
คุณไพบูลย์ ได้อธิบายหลักการสำคัญของโครงการพัฒนาชีวิตครูหลายประการ มีพื้นฐานวิธีคิดอยู่ที่การพัฒนาตัวเองเพื่อไม่ให้กลับมาเป็นหนี้อีกครั้ง ซึ่งคุณไพบูลย์ชี้ว่าเป็นเรื่องสำคัญที่สุด และน่าเป็นห่วงเนื่องจาก
…เรื่องสำคัญที่ได้เน้นไว้ตั้งแต่เบื้องต้นคือ กิจกรรมพัฒนา รวมถึงการพัฒนาตัวเอง พัฒนากลุ่ม พัฒนาเครือข่าย กิจกรรมพัฒนานี้ต้องมีกระบวนการ มีวิธีการ มีการจัดการ และมีงบประมาณ น่าเสียดายว่ากระบวนการพัฒนาไม่ได้เป็นไปอย่างราบเรียบและต่อเนื่อง คือเริ่มต้นทำไปบ้างแล้ว แต่ไม่ได้ทำอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเมื่อเริ่มโครงการนี้ได้ไม่นาน ผมก็พ้นจากตำแหน่งผู้อำนวยการธนาคารออมสิน จึงไม่ได้ดูแลกำกับต่อไป ความเข้มข้นเรื่องนี้ก็ลดลงไปบ้างตามธรรมชาติ
…การที่จะให้ครูรวมตัวกันเป็นปึกแผ่นหลายหมื่นคนไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องใช้ความพยายามและต้องมีกลไกทำงานเรื่องนี้อย่างจริงจังและต่อเนื่อง ประกอบกับเกิดการปรับเปลี่ยนโครงสร้างของทางฝ่ายกระทรวงศึกษาธิการ ทั้งหน่วยงานส่วนกลางและเขตพื้นที่ก็ยังไม่ลงตัว ทำให้ไม่มีสมาธิกับการแก้ปัญหาหนี้ครูเท่าที่ควร ดังนั้นการที่จะทำให้ 3 ฝ่ายคือ ฝ่ายครู ฝ่ายกระทรวงฯ และธนาคารออมสินประสานกันเป็นระบบ ช่วยกันทำกิจกรรมพัฒนา จึงทำไม่ได้มากนัก ในขณะเดียวกันกิจกรรมสินเชื่อก็ทำงานเดินหน้าไปเรื่อยๆ ดังนั้นจึงเกิดปัญหาขึ้น ในเชิงปริมาณมีการเติบโตไปเรื่อย แต่กิจกรรมพัฒนาของครู กลุ่มครู และเครือข่ายครู ยังไม่เข้มแข็ง ไม่ทันกับการเติบโตทางปริมาณสินเชื่อ ซึ่งปัจจุบันนี้ยังคงเป็นจุดอ่อนของโครงการนี้ล้อมกรอบ “ สินเชื่อที่ธนาคารออมสินให้กับครูนั้นถือว่าเป็นสินเชื่อที่ดีที่สุด เป็นสินเชื่อที่ใหญ่ที่สุดที่ให้กับคนกลุ่มเดียว ”
หัวใจสำคัญของการบริหารสินเชื่อคือ ทำให้ลูกหนี้เข้มแข็ง มีกำลังที่จะชำระหนี้ และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น คุณไพบูลย์เปิดเผยเคล็ดลับความสำเร็จของโครงการดังนี้
…หลักการของโครงการนี้มุ่งที่จะให้ครูแก้ปัญหาของตนเองได้อย่างแท้จริงและยั่งยืน โดยการสร้างคุณภาพของการเป็นหนี้ให้ครูสามารถชำระหนี้สินคืนได้ ส่งเสริมให้เกิดการออม ให้ครูทำงานเป็นเครือข่ายดูแลซึ่งกันและกัน ค้ำประกันซึ่งกันและกัน ชำระคืนด้วยระบบหักเงินเดือน แต่ละกลุ่มจะต้องจัดตั้งกองทุนของกลุ่มเพื่อสะสมเงินทุกเดือน เวลาคนในกลุ่มมีปัญหาก็จะใช้เงินส่วนที่สำรองไว้จุนเจือ เช่นหากครูหนึ่งคนมีปัญหา แทนที่จะให้ครูคนนั้นประสบกับสภาพที่ชำระหนี้ไม่ได้ กลุ่มจะไปช่วยให้ครูคนนั้นแก้ปัญหาได้ ด้วยการเอาเงินสำรองให้ครูคนนั้นนำไปชำระหนี้ได้ชั่วคราว แล้วก็ช่วยให้ครูคนนั้นกลับมาดีได้
…ทางออมสินยังได้สร้างระบบแรงจูงใจ คือกลุ่มที่มีตั้งแต่ 50 คนขึ้นไปซึ่งเป็นกลุ่มใหญ่หากมีการชำระหนี้คืนได้ 100% ในรอบปี ธนาคารจะคืนดอกเบี้ยให้ 1% เป็นแรงจูงใจ ซึ่งมีกลุ่มเครือข่ายครูจำนวนไม่ใช่น้อย หรือเกือบทั้งหมดที่ทำได้ จำนวนเงินที่คืนให้นับเป็นร้อยล้านๆ บาทต่อปี ทำให้ครูมีแรงจูงใจที่จะทำดี แล้วก็ได้งบที่จะไปทำกิจกรรมการพัฒนา แต่เนื่องจากระบบการพัฒนายังไม่ดีเท่าที่ควร ในบางพื้นที่งบนี้จึงกลายเป็นสาเหตุให้ทะเลาะกัน ซึ่งน่าเสียดาย เพราะเรื่องเหล่านี้ไม่น่าจะเกิดขึ้น ส่งผลให้กระบวนการพัฒนาที่น่าจะราบรื่นมั่นคงดีแล้ว เกิดสะดุดขึ้น แต่ปัญหานี้ไม่ถึงกับวิกฤต ยังพอแก้ไขได้
…การดำเนินงานทั้งหมดเหล่านี้ทำให้การที่ธนาคารออมสินปล่อยกู้ให้ครูเป็นหนี้ที่ดี ธนาคารออมสินได้ผลตอบแทน แม้จะคิดดอกเบี้ยต่ำกว่าปกติเล็กน้อย กล่าวคือมีสูตรว่าถ้าคิดกับคนอื่นเท่าไรก็จะคิดครูน้อยกว่าคนอื่น 1% หรือน้อยกว่านั้น แล้วยังคืนให้อีก 1 % ถ้ากลุ่มนั้นชำระหนี้ได้ดี เป็นแรงจูงใจเพื่อแลกกับการที่ออมสินไม่ต้องเป็นภาระหนี้สูญ ผู้ตรวจสอบจากแบงก์ชาติได้พูดทำนองว่าสินเชื่อที่ธนาคารออมสินให้กับครูนั้นถือว่าเป็นสินเชื่อที่ดีที่สุด เป็นสินเชื่อที่ใหญ่ที่สุดที่ให้กับคนกลุ่มเดียว โดยให้ไปแล้วตั้งสี่หมื่นกว่าล้านบาท
เมื่อพิจารณาจากปริมาณครูและเงินที่เป็นหนี้แล้วยังมีความต้องการอีกมาก ทีมงานวารสาร NewSchool จึงเรียนถามถึงความเป็นไปได้ที่จะการแสวงหาแหล่งสินเชื่อใหม่ให้กับครู
…เป็นไปได้ครับ ถ้าธนาคารออมสินทำได้ ธนาคารอื่นก็น่าจะทำได้เช่นกัน เพียงแต่ว่าควรจะใช้หลักการและวิธีการคล้ายๆ กับที่โครงการนี้ทำ คือเน้นให้ครูเป็นคน แก้ปัญหาให้ตัวเอง มีการรวมกลุ่ม ค้ำประกันและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เป็นต้น เพียงแต่ว่าขณะนี้ยังไม่มีธนาคารใดสนใจที่จะเข้ามาร่วม เคยถามธนาคารกรุงไทยแล้ว เขาเห็นว่าเมื่อออมสินทำได้ดีอยู่แล้วน่าจะปล่อยให้ออมสินทำต่อไป…
…ผมว่าถ้าการปล่อยสินเชื่อประเภทนี้คุ้มกับธนาคารออมสิน ธนาคารอื่นก็คุ้ม เพราะทุกวันนี้ธนาคารออมสินกับธนาคารอื่นต่างแข่งขันกันบนพื้นฐานที่ใกล้เคียงกัน อยู่แล้ว แม้ว่าธนาคารออมสินไม่ต้องเสียภาษี แต่ถ้ามีกำไรก็ต้องจ่ายให้รัฐ จึงไม่ต่างจากธนาคารพาณิชย์ทั่วไป
…ในช่วงไม่นานมานี้ทาง รมช. ดร.รุ่ง แก้วแดง ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลให้แก้ปัญหาหนี้สินครูให้หมด ในขณะนี้ออมสินได้แก้ไปส่วนหนึ่งคือห้าหมื่นกว่าคนแล้ว มีการประมาณว่าจำนวนครูที่เป็นหนี้มีไม่ต่ำกว่าแสนคน บางคนประมาณว่าถึงสองแสนคนด้วยซ้ำไป นั่นหมายถึงว่าถ้าจะแก้ปัญหาให้หมดก็ต้องเพิ่มความพยายามเข้าไปให้มากขึ้น จึงมีการพิจารณากันว่าน่าจะมีธนาคารอื่นหรือสถาบันการเงินอื่นเข้ามาร่วมอีก…
…ทางกระทรวงศึกษาธิการได้ขอให้สหกรณ์ออมทรัพย์เข้ามาร่วมให้สินเชื่อกับครู ซึ่งผมเห็นด้วยว่าน่าจะเพิ่มสหกรณ์ออมทรัพย์ครูเข้ามาร่วมมือกันในการแก้ปัญหาหนี้ และร่วมกันสร้างความมั่นคงให้กับครู เพราะเป็นสถาบันของครู เป็นแหล่งเงินทุนที่ครูกู้ยืมเงินกันอยู่แล้ว ถ้ามาทำโครงการด้วยกันจะได้เป็น 4 ฝ่าย คือกระทรวงศึกษาธิการ เครือข่ายครู ธนาคารออมสิน โดยเพิ่มสหกรณ์ออมทรัพย์ครูเข้าไป
…สหกรณ์ออมทรัพย์ครูมีข้อดีคือเป็นสหกรณ์ของครู บริหารโดยครู เพื่อครู ใกล้ชิดกับครู มีสหกรณ์อยู่ในทุกจังหวัด ซึ่งเป็นจุดแข็ง ถ้ามาทำความตกลงกันร่วมกันได้จะเป็นพลังที่สำคัญ เริ่มต้นต้องคิดหลักการสำคัญให้ชัดเจนก่อน เช่น หลักการที่ให้ครูพึ่งตัวเอง ครูร่วมมือกัน มีการพัฒนาเป็นกิจกรรมสำคัญ แล้วค่อยคิดวิธีการ ส่วนรายละเอียดที่ว่ากลุ่มครูจะไปทำสัญญากับสหกรณ์ออมทรัพย์อย่างไร สหกรณ์ออมทรัพย์จะหาแหล่งเงินกู้จากที่ไหนเพิ่มเข้ามา ทั้งหมดนี้อยู่ในวิสัยที่ทำได้ เพียงแต่ต้องใช้เวลาบ้าง
ล้อมกรอบ “กองทุนหมู่บ้านถือเป็นโครงการใหญ่ที่ทำทั่วประเทศ เจ็ดหมื่นกว่าหมู่บ้าน แต่ว่าเป็นงานที่ง่ายกว่าการแก้ปัญหาหนี้ครู ซึ่งสะสมเรื้อรังมานาน เวลาแก้ปัญหาจึงต้องออกแรงมาก”
จากการย้อนทบทวนโครงการพัฒนาชีวิตครู คุณไพบูลย์เห็นว่าสภาพการณ์ได้เปลี่ยนแปลงจากเมื่อแรกเริ่มทำโครงการไปมาก ควรที่จะมีการปรับปรุงการดำเนินงานหลายด้านด้วยกัน
…โครงการพัฒนาชีวิตครูได้ทำมาประมาณ 5 ปีแล้ว สถานการณ์เริ่มเปลี่ยนไป ขณะเดียวกันได้มีประสบการณ์และบทเรียนมากขึ้น จึงมีการเสนอให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) พิจารณาปรับปรุงระเบียบ ข้อบังคับใหม่ ขณะนี้กำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณา…
…ข้อบังคับที่ปรับปรุงใหม่จะสะท้อนปรัชญาและแนวคิดบางอย่างให้ดีขึ้นชัดเจนขึ้น นำสู่การปฏิบัติได้ดีขึ้น และหวังว่าจะมีการปรับปรุงกลไกให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น มีสำนักงานบุคลากร และงบประมาณที่จะไปดูแลกิจกรรมการพัฒนาให้ทำได้อย่างจริงจังและกว้างขวางต่อเนื่อง…
…ผมอยากให้ลองเปรียบเทียบกับเรื่องกองทุนหมู่บ้าน ซึ่งง่ายกว่าเรื่องครู ยังต้องมีการออกกฎหมายมารองรับ แล้วตั้งสำนักงานขึ้นมาเป็นองค์การพิเศษที่มีบุคลากรเป็นสิบๆ คน มีงบประมาณเป็นร้อยล้านบาทที่จะบริหารกองทุนหมู่บ้านถือเป็นโครงการใหญ่ที่ทำทั่วประเทศ เจ็ดหมื่นกว่าหมู่บ้าน แต่ว่าเป็นงานที่ง่ายกว่าการแก้ปัญหาหนี้ครูซึ่งสะสมเรื้อรังมานาน เวลาแก้ปัญหาจึงต้องออกแรงมาก
…จุดที่ผมอยากจะชี้คือว่าโครงการใหญ่อย่างนี้จำเป็นต้องมีคณะบุคคลดูแลต่อเนื่อง เพราะที่ผ่านมาถือว่าโครงการพัฒนาชีวิตครูเป็นโครงการที่บริหารโดยกลไกปกติ ซึ่งคนทำงานนี้ต่างมีงานประจำอื่นๆ อยู่แล้ว เอาเวลามาประชุมกันเป็นครั้งคราว ไม่สามารถทำงานต่อเนื่องได้ ทำให้มีเรื่องเล็กๆ น้อยๆ สะสม พอมากเข้าก็กลายเป็นปัญหา อีกทั้งคนทำงานของทุกฝ่ายต่างมีการเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา งานจึงไม่เดินหน้า
…ผมคิดว่ามีเหตุผลมากมาย และคุ้มเกินคุ้มที่จะลงทุนจัดตั้งหน่วยงานพิเศษที่ว่าให้เกิดขึ้นจริงจัง ใช้งบประมาณไม่ต้องมาก แม้กระทั่งจะใช้งบประมาณจากโครงการนี้ โดยกันส่วนหนึ่งจากที่ธนาคารออมสินคืนให้ ซึ่งมีตั้งหลายร้อยล้านบาท มาใช้เพื่อการพัฒนา ก็ย่อมมีเหตุผล เพราะว่าเกิดประโยชน์กับครูโดยตรง หรือใช้งบประมาณจากรัฐบาลก็ยังได้ เพราะใช้เงินเพียงแค่หลักสิบล้านบาท ที่เกิดประโยชน์ต่อครูนับแสนคน
คุณไพบูลย์ ได้เสนอแนะว่า หน่วยงานที่จะจัดตั้งขึ้นมาเพื่อดูแลรับผิดชอบการ แก้ไขปัญหาหนี้สินครูเป็นการเฉพาะควรจะมีภารกิจหลักๆ 3 ด้าน และควรมีคนระดับ “อธิบดี” มาดูแล ดังนี้
…หากจะพัฒนากลไกการทำงานโครงการพัฒนาชีวิตครูให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ผมคิดว่ามีงานหลักๆ อยู่ 3 ด้าน
หนึ่ง การสร้างความเข้มแข็งกลุ่มครูและเครือข่ายครู เพื่อส่งเสริมให้กลุ่มรวมตัวกันได้ดี แข็งแรงสามัคคี พึ่งตัวเอง ร่วมมือกันทั้งในเรื่องของการแก้ปัญหาหนี้สินโดยตรงและในเรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของครู พัฒนาวิชาชีพ หรือแม้กระทั่งช่วยพัฒนาชุมชนได้ การที่กลุ่มจะเข้มแข็งต้องมีการเชื่อมโยงเป็นเครือข่าย สานต่อจากระดับกลุ่มย่อยเป็นกลุ่มใหญ่ จากระดับตำบลมาเป็นอำเภอ จากอำเภอมาเป็นจังหวัด จังหวัดมาเป็นภาค จากภาคมาเป็นประเทศ ต้องการกระบวนการพัฒนา มีการเก็บข้อมูล มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน มีการจัดการความรู้ เป็นต้น ทั้งหมดนี้จะต้องมีทีมกลางเข้ามาดูแล ไปส่งเสริมให้เกิดทีมในจังหวัด ต้องไปสร้างกระบวนการดูแลพัฒนากลุ่มต่างๆ ให้ เข้มแข็งให้สามารถทำกิจกรรมพัฒนาได้ดี…
สอง งานด้านสินเชื่อ ต้องมีการพัฒนาระบบการให้สินเชื่ออย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่แค่เรื่องการปล่อยกู้ แต่ต้องคอยดูแลเงื่อนไขข้อปฏิบัติต่างๆ ให้เป็นไปได้ด้วยดี มีการปรับปรุงให้ทันกับสถานการณ์ งานส่วนนี้จะต้องเก็บข้อมูล วิเคราะห์ข้อมูล ทำการปรึกษาหารือ สร้างข้อตกลงร่วมกัน อะไรที่เป็นปัญหาเล็กๆ ก็แก้กันในจุดที่เป็นปัญหา อะไรที่เป็นปัญหาด้านหลักการก็ต้องมาปรึกษาหารือที่จะแก้หลักการร่วมกัน เป็นงานที่ต้องอาศัยกระบวนการ เพราะว่าครูบางกลุ่มอาจต้องการยืดหยุ่นขยายเวลาชำระหนี้ ที่แล้วมาเป็นว่าธนาคารออมสินก็วางกติกาไป ทำได้ก็ทำ พอทำไม่ได้ก็มีการเรียกร้อง แล้วเกิดข้อขัดแย้งกัน ทำให้พลังที่จะเดินไปข้างหน้าอ่อนแอลง เพราะฉะนั้น จะต้องมีการดูแลพัฒนาเงื่อนไขต่างๆ เกี่ยวกับงานด้านสินเชื่อให้เหมาะสมอยู่ตลอดเวลา ไม่ให้กระทบกับกิจกรรมการพัฒนา…
สาม งานด้านกระทรวงศึกษาธิการ เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ระหว่างครูกับกระทรวงฯ ครูกับโรงเรียน ครูกับชุมชน โยงมาถึงนโยบายจากกระทรวงฯ เรื่องเหล่านี้ต้องมีการติดตามวิเคราะห์สถานการณ์ ต้องดูแลเป็นอย่างดีเพื่อจะได้ไม่เกิดปัญหา เพราะระบบทั้งหลายสัมพันธ์กัน ทางฝ่ายกระทรวงฯ โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) จะดำเนินการปรับปรุงพัฒนาสวัสดิการครูได้มากน้อยเพียงใดขึ้นกับนโยบายของรัฐบาลด้วย…
…ปัจจุบันงานทั้งสามด้านหลักนี้ไม่มีใครดูแลจริงจัง ดูแลกันเป็นครั้งคราว แก้ไขปัญหาเฉพาะหน้ามากกว่า คือตามหลังปัญหา ไม่นำหน้าปัญหา หากมุ่งมั่นที่จะแก้ไข ปัญหาหนี้ครูอย่างจริงจังต้องทำงานล้ำหน้าปัญหา โดยสร้างความเข้มแข็ง สร้างระบบ สร้างโครงสร้าง สร้างกติกา สร้างเงื่อนไขที่ดี สร้างความเข้าใจ สร้างความสามัคคี สร้างนวัตกรรมให้ก้าวหน้าอยู่เรื่อย ในการนี้ต้องการทีมตรงกลางที่จะมาดูแล ต้องได้คนระดับอธิบดีหรือเทียบเท่ามาดูแล คือต้องเป็นผู้ใหญ่หน่อยว่างั้นเถอะ เพราะต้องทำงานสัมพันธ์กับกระทรวงและรัฐบาล ฉะนั้นจึงไม่ใช่เรื่องความรู้ความสามารถทางเทคนิคอย่างเดียว แต่จะต้องมีสถานภาพเหมาะสม มีคุณวุฒิ วัยวุฒิ ประสบการณ์ ความรู้ความสามารถเพียงพอ แล้วก็มีทีมงานที่เหมาะสม ซึ่งไม่ต้องใหญ่มาก เพราะเน้นการประสานงาน เน้นความเป็น ผู้นำในเชิงหลักการ หลักคิด นโยบาย ยุทธศาสตร์ที่ดี และกระจายงานไปในระดับภาค ระดับจังหวัด ระดับท้องถิ่น…
ต่อข้อซักถามที่ว่า สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) ควรจะมีบทบาทอย่างไรในโครงการแก้ไขปัญหาหนี้สินครู คุณไพบูลย์มีความเห็นดังนี้
สกสค. เป็นหน่วยงานที่ตั้งจขึ้นมาเพื่อดูแลสวัสดิการและสวัสดิภาพครู โดยเจตนารมย์นี้ ถ้าสกสค.จะสร้างทีมตรงกลาง
อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/17911