กระบวนการนโยบายสาธารณะในระดับท้องถิ่นกับความเข้มแข็งของชุมชน

กระบวนการนโยบายสาธารณะในระดับท้องถิ่นกับความเข้มแข็งของชุมชน


         (บทสัมภาษณ์ เพื่อทำเอกสารประกอบการประชุมเวทีนโยบายสาธารณะ เรื่อง “กระบวนการนโยบายสาธารณะในระดับท้องถิ่นกับความเข้มแข็งของชุมชน” เมื่อ 19 สิงหาคม 2548 จัดโดย “แผนงานพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี” ซึ่งดำเนินการภายใต้มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) และสนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.))

“ถ้าชุมชนอ่อนแอ ผู้มีอำนาจจะได้ประโยชน์”

การปกครองในประชาธิปไตยของไทยที่ก้าวมาจวนเจียนจะครบ 8 ทศวรรษ หากจะเทียบกับช่วงอายุของคนคนหนึ่งก็ต้องนับว่าชราภาพเต็มที่ แต่หากลองเทียบกับประเทศอื่นๆร่วมโลกใบเดียวกัน เวลาเกือบ 8 ทศวรรษก็นับว่าเข้าสู่วัยหนุ่มสาว ซึ่งมักจะเป็นวาระแห่งการริเริ่มก่อเกิด

แม้จะจริงที่ว่าประชาธิปไตยของไทยอาจจะโตช้าไปเสียหน่อยในบริบทและวิวัฒนาการของเศรษฐกิจสังคมโลกที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน โดยเฉพาะหากจะนับเริ่มต้นที่การเกิดขึ้นของ “องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น” ที่มีอำนาจบริหารจัดการท้องถิ่นตามความต้องการของคนท้องถิ่น และโดยคนของท้องถิ่นเองที่เพิ่งจะมีขึ้นก็เพียงช่วงทศวรรษที่ผ่านมาเท่านั้น

กล่าวเฉพาะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ด้วยอายุที่ยังไม่ถึงรอบทศวรรษดี จึงต้องนับว่าเด็กอย่างยิ่ง กระนั้นอย่าไปคิดว่าเด็กคนนี้จะเติบโตเตาะแตะไปตามเวลาอย่างมนุษย์คนหนึ่ง แท้ที่จริงเราไม่อาจมองข้ามต้นทุนที่สะสมในท้องถิ่นมาหลายช่วงทศวรรษหรืออาจจะหลายศตวรรษก่อนหน้านี้ ทั้งภูมิปัญญา วัฒนธรรม บุคลากร ที่รวมอยู่ใน “ชุมชน”

แม้ว่าชุมชนในท้องถิ่นจะถูกทำให้อ่อนแอ อ่อนเปลี้ยและถึงกับแตกสลายไปก็มากตลอดช่วงการพัฒนาประเทศที่ผ่านมา แต่ภายใต้การทำงานพัฒนาชุมชนของฝ่ายต่างๆ ในสังคมเพื่อตั้งยันรับการเปลี่ยนแปลง ชุมชนหลายชุมชนได้ฟื้นตื่นและเติบโตขึ้นอย่างเข้มแข็ง พร้อมๆไปกับการสร้างเครือข่ายโยงใยเป็นพลังทางสังคม และสิ่งเหล่านี้นี่เองจะผลักดันให้องค์กรปกครองท้องถิ่นเข้มแข็งเพื่อสร้างนโยบายพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับชุมชนต่อไป

ปัญหามีอยู่ว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เพิ่งเริ่มต้นจะสร้างนโยบายสาธารณะเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ชุมชนเข้มแข็งได้อย่างไร และอะไรเป็นปัจจัยสู่ความสำเร็จนั้น

ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม คนทำงานพัฒนาชุมชนที่คนไทยรู้จักในระดับต้นๆ มีบทเรียนและประสบการณ์เพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้  

นโยบายสาธารณะในท้องถิ่น จริงๆมีไหม แล้วมันคืออะไรกันแน่ในสังคมไทย เพราะที่ผ่านมาดูจะมีแต่การพูดถึงนโยบายของรัฐบาลกลาง

ผมต้องตอบว่ามี เพราะผู้บริหาร อบจ. (องค์การบริหารส่วนจังหวัด) หรือเทศบาล หรือแม้แต่ อบต. (องค์การบริหารส่วนตำบล) ก็น่าจะมีแนวคิดมีนโยบายอยู่ อยากเห็นท้องถิ่นเป็นอย่างไร จะมีวิธีการแบบไหน อันนั้นแหละคือนโยบาย แต่จะประกาศเป็นทางการหรือไม่ ไม่รู้ ตอนหาเสียงก็น่าจะพูดนะว่า “เราจะให้ท้องถิ่นเป็นอย่างนั้นอย่างนี้” สิ่งที่หาเสียง สิ่งนั้นก็อาจจะเทียบเท่านโยบายได้

เพราะฉะนั้นก็ต้องถือว่ามีสิ่งที่เรียกว่า “นโยบายสาธารณะ” ในระดับท้องถิ่นเพียงแต่รูปแบบอาจจะไม่ชัดเจน หรือไม่ได้พูดว่าเป็นนโยบาย หรือชาวบ้านไม่ได้คิดว่าเป็นนโยบาย แต่รู้ว่าคณะนี้จะทำแบบนี้ หรือรู้ว่าถ้าเรามีปัญหาอะไรในท้องถิ่น เขาจะแก้แบบนั้น

ในระดับท้องถิ่น การออกข้อบังคับหรือข้อบัญญัติก็คือวิธีหนึ่งที่จะแปลงนโยบายออกมาเป็นรูปธรรม หรือว่าเขาอาจจะคิดออกมาเป็นโครงการ เป็นมาตรการต่างๆซึ่งอาจจะคิดโดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยคณะกรรมการหรือโดยผู้บริหาร หรืออาจจะร่วมกันกับชุมชน สิ่งเหล่านี้ก็เป็นวิธีต่างๆที่เป็นการแสดงตัวตนของนโยบาย

  นโยบายสาธารณะของท้องถิ่นที่น่าจะเป็นควรมีหน้าตาอย่างไร

ถ้าจะเทียบกับการบริหารประเทศ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก็คือประเทศเล็กๆ เขามีคณะกรรมการ หรือที่เขาเรียกว่า สภา ก็เหมือนกับรัฐสภา เดี่ยวนี้มีนายก อบจ. นายก อบต. นายกเทศบาลหรือนายกเทศมนตรี ก็เหมือนนายกรัฐมนตรีในระดับประเทศ หรือถ้าจะเทียบกับธุรกิจเป็นบริษัท สภาก็เหมือนคณะกรรมการ นายกฯก็เหมือนผู้จัดการใหญ่

ทั้งหมดนี้ มีวิธีการทั่วไปที่เรียกว่าการกำหนดนโยบาย วิธีการก็คือต้องสำรวจสถานการณ์ความเป็นจริง ดูว่าความเป็นจริงอย่างไร ถ้าเป็นประเทศ เราก็ดูว่าความเป็นจริงในประเทศเราเป็นอย่างไร เป็นบริษัทเราก็ดูว่า ความเป็นจริงของธุรกิจแขนงนี้ การแข่งขัน ผู้บริโภคเป็นอย่างไร พอดูสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องแล้วก็มากำหนดว่าเราอยากได้ผลอะไร ถ้าเป็นประเทศจะอยากให้เกิดความอยู่เย็นเป็นสุขของประชาชนแค่ไหน เศรษฐกิจโตเท่าไร รายได้กระจายแค่ไหน สิ่งแวดล้อมเป็นอย่างไร สุขภาพประชาชนดีอย่างไร การศึกษาควรจะได้แค่ไหน ซึ่งก็คือมาดูว่าต้องการอะไร ในท้องถิ่นก็น่าจะคล้ายกันไม่ว่าจะเป็นจังหวัด เทศบาล หรือตำบล

พอรู้ว่าอยากให้เป็นอย่างไรแล้ว ถ้าอย่างนั้นเราต้องทำอะไรกันบ้าง ทำอย่างไรถึงจะทำให้คนมีช่องทางทำมาหากินได้เพียงพอ สุขภาพอนามัยดี เด็กๆได้เรียนหนังสือดี ศีลธรรมดี วัฒนธรรมดี อาชญากรรมน้อย อุบัติเหตุน้อย ก็กำหนดวิธีการให้บรรลุผลเหล่านั้น ทั้งหมดนี้คือนโยบาย

  ใครหรือกลุ่มคนไหนที่จะกำหนดเรื่องพวกนี้

ผู้บริหารนั่นแหละจะต้องเป็นตัวตั้งตัวตีในการกำหนด ใครบริหารท้องถิ่นไหนก็กำหนดให้ท้องถิ่นนั้น คนบริหารนั้นมี 2 ระดับ คือ สภากับผู้บริหาร สภามีหน้าที่ออกข้อบัญญัติ ซึ่งข้อบัญญัตินี่แหละสะท้อนนโยบาย ผู้บริหารต้องกำหนดมาตรการ โครงการ กิจกรรม ใช้งบประมาณให้สะท้อนนโยบาย ฉะนั้นเริ่มต้น ไม่ว่าจะเป็นสภาหรือผู้บริหารก็ต้องคิด และควรจะคิดเชิงนโยบาย คือต้องดูความเป็นจริง ดูสถานการณ์ที่เป็นจริง กำหนดสภาพที่พึงปราถนา กำหนดวิธีการไปสู่สภาพที่พึงปรารถนา

ทีนี้การคิดเรื่องพวกนี้ หากไปคิดกันเองก็อาจจะได้สิ่งที่ไม่ดีพอ อาจจะอาศัยนักวิชาการมาช่วยวิเคราะห์ วิจัยสภาพความเป็นจริง ช่วยศึกษาถึงทางเลือก ทางเดินต่างๆที่จะนำไปสู่สภาพที่พึงปรารถนา แต่สภาพที่พึงปรารถนา ประชาชนต้องคิดเอง นักวิชาการจะมาคิดให้ไม่ได้ อาจจะยกตัวอย่างว่า ที่อื่นเขาทำอย่างไร แต่ผู้บริหารไม่ว่าจะเป็นสภาหรือคณะผู้บริหารซึ่งรวมถึงนายกเทศมนตรี นายก อบจ. หรือนายก อบต. ต้องเป็นคนคิดหรือกำหนดสภาพที่พึงปรารถนา

และถ้าให้ดีกว่านั้นก็คือกำหนดร่วมกับประชาชน ยิ่งในท้องถิ่นเล็กๆ สามารถเชิญประชาชนทั้งหมด 100 เปอร์เซ็นต์ ก็ยังได้ ถ้าไม่ได้ 100 อาจจะสัก 90 หรือ 75 เปอร์เซ็นต์ ก็สามารถให้ประชาชนมาร่วมกำหนด แม้กระทั่งกำหนดแนวทางไปสู่สภาพที่พึงปรารถนา เพราะประชาชนก็สามารถคิดได้เหมือนกันว่า ถ้าเราต้องการให้เกิดสภาพแบบนี้ เราน่าจะใช้วิธีการแบบนี้ ประชาชนคิดได้ เพราะประชาชนเองจะมีนักคิด มีผู้นำ มีคนที่รู้เรื่องรวมอยู่ในหมู่ประชาชน คนทั่วไปอย่างน้อยเขาก็รู้ว่าขาอยากได้อะไร ทำอย่างไร เขาอาจจะคิดบางส่วน แต่พอรวมประชาชนทั้งหมด ความคิดจะดีขึ้น

ฉะนั้นถ้ารวมประชาชนที่อยู่ในท้องถิ่น รวมผู้ที่อยู่ในสภา รวมผู้บริหารท้องถิ่น รวมการวิเคราะห์วิจัยของนักวิชาการ สิ่งที่ได้มาย่อมสมบูรณ์กว่า ครอบคลุมกว้างขวางลึกซึ้งกว่าจะให้คนใดคนหนึ่งหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งไปคิดเพียงลำพัง

สภาพความเป็นจริงของสังคมไทย ท้องถิ่นมีอิสระแค่ไหนในการคิดเรื่องนี้

ขณะนี้ได้มีขบวนการเกิดขึ้นอย่างน้อย 2-3 แนวทางที่น่าจะถือว่าเป็นการพัฒนาในทางบวก ทางที่หนึ่งคือ ชุมชนท้องถิ่นมีการรวมตัวกันทำสิ่งที่เรียกว่า “แผนแม่บทชุมชน” หรือ “แผนชีวิตชุมชน” จะมีผู้นำในชุมชนซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นผู้นำโดยธรรมชาติเป็นตัวตั้งตัวตีชักชวนประชาชนให้มาวิเคราะห์สภาพของตนเอง เช่นดูว่า ในบรรดาครัวเรือนต่างๆในแต่ละหมู่บ้านมีค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง มีรายได้อะไรบ้าง เป็นหนี้สินเท่าไร ชุมชนที่ก้าวหน้าอาจจะสำรวจไปถึงว่าเขามีทรัพย์สินอะไร มีที่ดิน มีต้นไม้ มีบ้านเรือน มีเงินออม มีทุนทางปัญญา ทุนทางสังคมอะไร ชุมชนที่ก้าวหน้าอาจจะคิดไปได้ถึงขั้นนั้นเลย

พอสำรวจความเป็นจริงแล้ว เขาก็มากำหนดว่า เขาอยากได้อะไร อยากมีหนี้สินลดลง อยากทำมาหากินได้ดี ขึ้น อยากมีสวัสดิการดีขึ้น เจ็บไข้ได้ป่วยน้อยลง สภาพแวดล้อมดีขึ้น ทรัพยากรสมบูรณ์ขึ้น อย่างนี้เขาคิดได้ ต่อจากนั้นก็มาคิดวิธีการโครงการ มาตรการที่จะทำต่อไป ซึ่งชุมชนจำนวนมากทำได้

ไม่เท่านั้น ยังได้มีสิ่งที่เรียกว่า เครือข่ายแผนแม่บทชุมชน 4 ภาคขึ้น ชื่อเต็มๆคือ “เครือข่ายแผนแม่บทชุมชนพึ่งตนเอง 4 ภาค” มีผู้นำชุมชนที่ก้าวหน้าจนสามารถทำแผนแม่บทชุมชนได้แล้วรวมตัวกันเป็นเครือข่ายโยงใยกันทั้งประเทศ เริ่มจากจำนวนตำบลที่ทำได้ดี รวมตัวเป็นเครือข่ายแล้วก็เผยแพร่ช่วยเป็นวิทยากรไปแนะนำชุมชนอื่นๆที่สนใจ ซึ่งผู้ที่ไปแนะนำก็คือผู้นำชาวบ้านด้วยกันเอง เป็นวิทยากรชาวบ้านเองที่ไปเป็นผู้แนะนำ หรือไม่ก็ชุมชนที่ทำได้ดีทำตัวคล้ายๆเป็นพี่เลี้ยงให้ชุมชนใกล้เคียง หรือเป็นศูนย์การเรียนรู้ให้กับชุมชนที่สนใจโดยเฉพาะชุมชนที่อยู่ไม่ไกล ขณะนี้จากชุมชนหรือตำบลที่ทำแผนชุมชนได้ดีไม่กี่สิบแห่ง ได้ขยายไปเป็นประมาณ 1,000 แห่ง หรือ 1,000 ตำบล

ที่บอกว่าทำได้ดีคือชุมชนร่วมกันทำ ชาวบ้านจากครัวเรือนจากทุกหมู่บ้านร่วมกันทำ ร่วมกันคิดแผนในหมู่บ้าน เอามารวมกันเป็นตำบล หรือจะคิดทีเดียวพร้อมกันทั้งตำบล แล้วยังไปคิดร่วมกันกับ อบต. กำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน เป็น 3 แกนหลักเป็นแกนสำคัญที่ร่วมกันทำแผนแม่บทชุมชน ตำบลที่ทำได้ดีจะรวม 3 แกนหลักนี้ ขณะนี้เขาได้ขยายไป บางแห่งทำไปแล้ว บางแห่งกำลังทำ รวมแล้วประมาณ 1,000 ตำบล คงจะขยายตัวต่อไปอีก

นี้คือหนึ่งกระบวนการที่เป็นการริเริ่มจากผู้นำชุมชน ผู้นำชุมชนบางคนเป็นกำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน บางคนเป็นนายกหรือกรรมการ อบต. ฉะนั้นจึงทำให้การประสาน 3 แกนหลัก คือผู้นำชุมชน อบต. กำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน ไม่ถึงกับยากนัก บางแห่งโชคดีที่ความสัมพันธ์ระหว่าง 3 แกนหลักดีอยู่แล้ว ทำให้การร่วมกันทำงานง่ายขึ้น บางแห่งอาจจะต้องใช้ความพยายามตอนต้น แต่เนื่องจากผลสำเร็จหรือผลประโยชน์มีร่วมกันเพราะถ้าทำได้ดี ท้องถิ่นดี ก็ถือเป็นผลดีของกำนันผู้ใหญ่บ้านเป็นผลดีของ อบต. และเป็นผลดีของชุมชน เมื่อมีผลประโยชน์หรือวัตถุประสงค์ร่วมกันเช่นนี้ทำให้การทำงานร่วมกันไม่ถึงกับยาก

อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่ามีอีกหลายต่อหลายตำบลที่ 3 แกนหลักนี้ไปด้วยกันไม่ค่อยได้ ไม่ค่อยดี เพราะว่าวิวัฒนาการของการปกครองท้องถิ่นของเราเป็นมาอย่างลุ่มๆดอนๆ แล้วก็เป็นมาอย่างค่อนข้างแบ่งแยกมากกว่ารวมกำลัง ทั้งนี้เพราะสมัยหนึ่งมีกำนัน-ผู้ใหญ่บ้านเป็นหลัก ต่อมามี อบต. ก็หันมาให้ความสำคัญกับ อบต. แต่กำนัน-ผู้ใหญ่บ้านยังอยู่ ซึ่งอาจจะมีกองหนุนคนละกอง พี่เลี้ยงคนละชุด เลยทำให้แทนที่จะร่วมกันกลับมาแข่งกันเสียมากกว่า แต่คิดว่า ต่อไปข้างหน้าน่าจะค่อยๆดีขึ้น

ต้องเข้าใจด้วยว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นเกิดขึ้นมาไม่นาน เทียบอายุแล้วต้องถือว่ายังเด็ก เทศบาลเองที่ใหม่ก็เยอะ อบต.เป็นเรื่องใหม่ อบจ. นี่ก็ปรับใหม่ ถึงแม้จะชื่อเก่า แต่โครงสร้างและสีสันเปลี่ยนใหม่ ยิ่งเดี๋ยวนี้ เลือกนายก อบจ. นายก อบต. นายกเทศมนตรี โดยตรง ทำให้การปกครองท้องถิ่นมีชีวิตชีวา มีความสำคัญมากยิ่งขึ้น แต่ต้องถือว่าเป็นเรื่องใหม่ เพิ่งจะมีการเลือกโดยตรงกันมา 1-2 ปีนี่เอง บางแห่งเพิ่งจะเริ่ม ฉะนั้นต้องให้เวลา

                อย่างไรก็ตามแม้จะวิวัฒนาการมาแบบลุ่มๆดอนๆ ยังไม่ถึงกับเป็นปึกแผ่นมาก แต่แนวทางที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญก็ชัดเจนว่า ส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น ให้ความสำคัญกับการปกครองส่วนท้องถิ่น มาตรา 78 ของรัฐธรรมนูญ พูดในเรื่องการกระจายอำนาจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้บริหารจัดการตนเองในเรื่องต่างๆ ค่อนข้างสมบูรณ์ และยังบอกด้วยว่า ถ้าท้องถิ่นไหนมีความพร้อม ควรจะเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขนาดใหญ่ซึ่งนั่นหมายถึงว่าทั้งจังหวัดเป็นองค์ปกครองส่วนท้องถิ่น

ขณะนี้จังหวัดต่างๆของเรามีการปกครอง 2 อย่างคู่ขนาน น้ำหนักยังอยู่ที่ผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งคือราชการส่วนภูมิภาค แล้วย่อยลงไปถึงจะเป็น อบจ. เทศบาล ซึ่งถ้าดูเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ น่าจะหมายถึงว่า ในอนาคต อบจ. น่าจะเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้งจังหวัดแบบ กทม. ซึ่งน่าจะหมายถึงว่า อบจ.ก็คือกลไกที่จะดูแลจังหวัดทั้งจังหวัดแทนผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้ว่าราชการจังหวัดถ้าจะมีอยู่ ก็จะเป็นเหมือนกับตัวแทนรัฐบาลส่วนกลาง ดูแลในเรื่องนโยบายให้สอดคล้องหรือสอดรับกับนโยบายหรือยุทธศาสตร์ของประเทศ หรืออาจจะมีการแบ่งสรรอำนาจหน้าที่กันอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่น้ำหนักน่าจะอยู่ที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น นี่พูดถึงในอนาคตนะ

อย่างไรก็ตาม ณ ปัจจุบัน แม้วิวัฒนาการยังเพิ่งเริ่มต้นเราก็ได้เห็นความเข้มแข็ง ความสามารถขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ทวีมากขึ้นเป็นลำดับ มีตัวอย่างหลายตำบล หลายเทศบาล และก็อาจจะหลาย อบจ. ได้มีบทบาทที่จะจัดการดูแลท้องถิ่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีคุณภาพ และหลายแห่งก็ได้พยายามจะให้ประชาชนมีส่วนร่วม โดยเฉพาะ อบต. ที่ได้ทำงานร่วมกับชุมชนในความพยายามที่จะมีแผนแม่บทชุมชนหรือแผนชีวิตชุมชน ก็ถือว่าเป็นการดำเนินงานแบบมีส่วนร่วมที่ค่อนข้างกว้างขวาง อาจจะมากกว่ารัฐบาลส่วนกลางด้วยซ้ำ เพราะตำบลมันเล็ก ทำแผนแม่บทชุมชนนี่ก็แปลว่ามากันทั้งชุมชน

หลายแห่งทำได้ดีโดยเป็นการริเริ่มหรือมีบทบาทสำคัญมาจาก อบต. ยกตัวอย่างตำบลหนึ่งในจังหวัดชัยนาท นายก อบต. จะเที่ยวไปพบปะคนนั้นคนนี้ ปรึกษาหารือ จัดประชุมทุกฝ่ายร่วมกันเดือนละครั้ง ทุกฝ่ายจะมีทั้งผู้นำชุมชนจากทุกหมู่บ้าน มีตัวแทนประชาชนจำนวนมากมาร่วมประชุม มีกลุ่มมีองค์กรอะไรก็จะมีตัวแทนมาร่วมประชุม ข้าราชการของ อบต. ข้าราชการของราชการส่วนภูมิภาค จะเป็นทางด้านอนามัย ด้านการศึกษา ด้านสวัสดิการต่างๆ ก็มาร่วมประชุมปรึกษาหารือกันทุกเดือน ทำให้สามารถคิดอะไรทำอะไรที่ดีๆให้กับท้องถิ่นได้มาก นี่ก็ถือว่าเป็นตัวอย่างของ อบต. ที่มีความก้าวหน้า ทำงานแบบมีส่วนร่วมสูง

แต่ภาพที่ปรากฏในสื่อมักจะทำให้เห็นว่านักการเมืองในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะโดนผลประโยชน์ครอบทำให้ที่สุดกลายเป็นกลุ่มผลประโยชน์ไป

นั่นเป็นสภาพที่ย่อมเกิดขึ้นได้ เหมือนระดับประเทศ เราเลือกผู้แทน ผู้แทนไปเลือกรัฐบาล แทนที่จะทำงานเพื่อประชาชนด้วยความบริสุทธิ์ ก็อาจจะทำงานเพื่อตนเองเพื่อพรรคพวก เพื่อกลุ่มเพื่อเหล่า นั่นคือไม่ได้เอาประโยชน์ของประชาชนเป็นใหญ่ อาจพยายามทำเหมือนกันแต่ในขณะเดียวกันก็เอาประโยชน์ส่วนตัวประโยชน์พรรคพวกไปด้วย

ในท้องถิ่นก็เหมือนกัน คนที่ได้รับเลือกเป็นผู้บริหารเป็นกรรมการ ก็จะมีทั้งประโยชน์ส่วนตัว ประโยชน์พวกพ้องและประโยชน์ส่วนรวม มันคู่กันไปอย่างนี้แหละ ถ้าเราเจริญมากก็แปลว่า ผู้นำที่ได้รับเลือกเข้าไปเอาประโยชน์ส่วนรวมเป็นหลัก ประโยชน์ส่วนตัว ประโยชน์พวกพ้องนี่ต้องไม่เอามาเป็นประเด็นสำคัญ หรือถ้าจะมีประโยชน์ส่วนตัวประโยชน์พวกพ้องก็จะมีอย่างที่พึงมีปกติ ไม่ใช่มีเป็นพิเศษ มีปกติก็คือว่า ทำมาหากินไป มีเบี้ยประชุม มีเงินเดือนที่เขาให้ก็รับไปแล้วก็ทำงานเพื่อส่วนรวม เพราะบทบาทของนักการเมืองคือ ทำงานเพื่อส่วนรวม นี่คือหลักการ

ผมเชื่อว่ามีผู้บริหารจำนวนมากเขาทำงานเพื่อส่วนรวมเป็นหลัก ก็จะไปได้ดี แต่ที่เป็นข่าวบ้างก็เป็นธรรมดา เราพัฒนาประชาธิปไตยมาตั้ง 73 ปีเราก็ยังมีปัญหาทุจริตคอรัปชั่น มีปัญหาเรื่องประโยชน์ตนประโยชน์พวกมีอิทธิพลมากกว่าประโยชน์ส่วนรวม ท้องถิ่นก็เหมือนกันต้องให้เวลาพัฒนาไป สิ่งที่จะทำให้พัฒนาดีที่สุดก็คือประชาชน เมื่อประชาชนมีความรู้ความสามารถ มีความฉลาดเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ประชาชนจะเป็นฐานที่ดีที่สุด และเป็นเกราะที่ดีที่สุด เป็นฐานที่ดีที่สุดที่จะให้เกิดการปกครองที่ดี มีผู้บริหาร มีนักการเมืองที่ดี ขณะเดียวกันก็เป็นเกราะป้องกันสิ่งที่ไม่ชอบมาพากลทั้งหลาย

ทีนี้การที่ประชาชนจะพัฒนาต้องใช้เวลา ค่อยๆพัฒนาไป ถ้าประชาชนยังไม่พร้อม ยังไม่ฉลาดพอ เช่นยังไม่รู้จักเลือกคนที่ดี หรือไปตัดสินใจโดยอามิสสินจ้าง หรือตัดสินใจโดยดูอะไรตื้นๆง่ายๆแล้วก็ไม่รู้จักวิธีที่จะกำกับดูแลคนที่เป็นนักการเมือง ไม่ว่าจะเป็นระดับชาติหรือระดับท้องถิ่น ถ้าประชาชนยังมีความสามารถไม่ถึงขั้น โอกาสที่จะมีนักการเมืองที่ไม่ดีก็สูง

โอกาสที่จะมีนักการเมืองดีๆทั้งๆที่ประชาชนยังไม่มีความสามารถพอนี่ต้องถือว่าโชคดีมากๆ และก็อาจจะอยู่ไม่ยั่งยืน เพราะความโลภและประโยชน์มันล่อใจคน เหมือนไก่กับไข่ ต้องหวังทั้ง 2 อย่าง หวังว่าจะมีผู้นำที่ดีขึ้น แล้วก็หวังว่าประชาชนมีความสามารถมากขึ้น

หมายความว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้มแข็ง มีผู้นำที่ดีจึงไม่พอ ต้องมีส่วนของชุมชนและประชาชนด้วย

ใช่ ต้อง 2 ส่วน เราหวังว่าจะเป็นเหมือนเท้าซ้ายเท้าขวา ซ้ายก้าวทีขวาก้าวที ต้องพยายามทั้งสองทาง พยายามที่จะหาทางทำอย่างไรให้ผู้นำท้องถิ่นก็คือนักการเมืองท้องถิ่นค่อยๆดีขึ้นพร้อมๆกับมีชุมชนและประชาชนที่เข้มแข็งสามารถมากขึ้นเรื่อยๆ ให้ได้ทั้งสองทาง ซึ่งขณะนี้เราเห็นแนวโน้มว่าน่าจะดีขึ้น แต่ต้องใช้เวลา  

การเมืองระดับชาติกับท้องถิ่นเท่าที่เห็นมีลักษณะทำงานแข่งกันไหม

ไม่ใช่แข่งกัน แต่อาจจะเป็นเรื่องที่ว่านักการเมืองระดับชาติยังไม่เข้าใจ หรืออาจจะยังไม่อยากให้อำนาจไปที่ท้องถิ่นมากนัก เพราะว่านั่นหมายถึงอำนาจและบทบาทของตนเองลดลง บางคนอาจจะเชื่อโดยบริสุทธิ์ใจว่า ส่วนกลางทำดีกว่า แต่บางคนก็เป็นห่วงว่า เดี๋ยวประโยชน์จะได้น้อยลงเพราะอำนาจน้อยลงจึงหวงเอาไว้ ก็ต้องหวังว่ารัฐบาลส่วนกลางจะพัฒนาไปมากขึ้นด้วย คือพัฒนาไปถึงขั้นที่จะเห็นว่า บทบาทที่ดีของส่วนกลางก็คือบทบาทในเชิงนโยบายและยุทธศาสตร์ระดับชาติ ส่วนการบริหารจัดการพื้นที่เล็กๆ ตำบล อำเภอ จังหวัด น่าจะเป็นของถิ่นจะดีกว่า เราก็หวังว่านักการเมืองของเราจะค่อยๆเห็นแบบนั้นมากขึ้น ซึ่งตามรัฐธรรมนูญและตามกฏหมายกระจายอำนาจบ่งบอกไปในทิศทางนั้น แล้วถ้าท้องถิ่นแสดงตนให้เห็นว่าทำได้ดี ก็จะช่วยให้ส่วนกลางเห็นสัจธรรม เห็นคุณค่าของการปกครองส่วนท้องถิ่นอย่างชัดเจนหนักแน่นมากขึ้น

เพราะฉะนั้นผมจึงต้องเติมอีกข้อ ทีแรกบอกว่านักการเมืองท้องถิ่น ประชาชนท้องถิ่น คงจะค่อยๆพัฒนาไปและเกื้อกูลเป็นแรงหนุนซึ่งกันและกัน ขณะเดียวกันเราหวังว่าการเมืองระดับชาติจะก้าวหน้าไปในทางที่เห็นความสำคัญและให้ความสำคัญกับท้องถิ่นมากขึ้น ให้บทบาทท้องถิ่นมากขึ้น รวมทั้งมีนโยบายและมาตรการที่จะส่งเสริมสนับสนุนท้องถิ่นและป้องกันแก้ไขปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นในระดับท้องถิ่น

ถ้าเราได้ 3 มุมแบบนี้ คือนักการเมืองท้องถิ่น ประชาชนในท้องถิ่น และนักการเมืองระดับชาติพัฒนาแบบเกื้อกูลกันไปเรื่อยๆ เรื่องของท้องถิ่นย่อมจะดีขึ้น พร้อมๆกับสังคมโดยรวมก็จะดีขึ้นๆเรื่อยๆ เพราะถ้าท้องถิ่นเข้มแข็ง จัดการตนเองได้ดี หมายถึงสังคมทั้งสังคมจะมีฐานที่ดี ซึ่งท้องถิ่นก็คือฐานของสังคม

  องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เกิดขึ้นมากมายและมีแนวโน้มเข้มแข็งขึ้นเรื่อยๆ ชุมชนเองซึ่งเป็นตัวกำกับการเมืองท้องถิ่นจะเข้มแข็งได้ทันไหมครับ

ที่จริงแล้วกระแสชุมชนเข้มแข็งมาก่อนด้วยซ้ำ แต่ก็เป็นไปได้ที่วันหนึ่งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะมีนโยบายมาครอบและกำหนดชุมชน ก็เหมือนกับที่เราพัฒนาประชาธิปไตยกันมา เกิดมีรัฐบาลที่ค่อนข้างเอาตัวเองเป็นหลักแล้วไปครอบประชาชน นี่ผมไม่ได้พูดถึงรัฐบาลใดรัฐบาลหนึ่ง แต่พูดถึงรัฐบาลทั่วไป สิ่งเหล่านี้ก็เป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้นในท้องถิ่น ซึ่งถ้าประชาชนดีก็คงไม่เลือกผู้บริหารที่ไม่ดีเข้าไป สอง ถ้าไม่ดีเขาก็จะมีปฏิกิริยาตอบกลับไปในการกำกับดูแล มันขึ้นอยู่กับพลังถ่วงดุล คือประชาชนมีบทบาทได้ทั้งในทางเกื้อกูลและในทางถ่วงดุล ไม่ใช่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นง่ายๆ ในท้องถิ่นมี อบต. ตั้ง 7,000 แห่ง ย่อมไม่เหมือนกันทั้งหมด เกิดได้ต่างๆนานา

ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม

23 ส.ค. 49

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ  https://www.gotoknow.org/posts/46035

<<< กลับ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *