กระบวนการนโยบายสาธารณะในระดับท้องถิ่นกับความเข้มแข็งของชุมชน (ต่อ)

กระบวนการนโยบายสาธารณะในระดับท้องถิ่นกับความเข้มแข็งของชุมชน (ต่อ)


สำหรับนักพัฒนาควรคิดอย่างไรกับสภาพเช่นนี้

สิ่งที่ควรทำ ใครที่มีหน้าที่หรือมีบทบาทในการส่งเสริมความเจริญในการพัฒนาสังคมก็ต้องพยายามค้นหาสิ่งที่ดี และส่งเสริมสิ่งที่ดีให้ได้ปรากฏตัว ไปเกื้อกูลหรือไปก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับส่วนอื่นๆมากขึ้น เช่นนี้ส่วนที่ดีจะมีฐานเข้มแข็งขึ้น ขยายตัวมากขึ้น นี่คือบทบาทของคนที่ทำงานเชิงพัฒนาสังคมหรือพัฒนาระบบ พยายามค้นหาสิ่งที่ดี คือไม่ใช่เที่ยวไปเจาะหาว่ามันเลวที่ไหนบ้างแล้วก็เอามาเป็นข่าว เพราะคนชอบอ่านเรื่องเลวๆ หรือวิพากษ์วิจารณ์กันไป

คงไม่ผิดหรอก แต่ว่ามันเสียดุล เพราะว่าสิ่งที่ดีๆมีตั้งเยอะ เราเอาสิ่งที่ไม่ดีมาพูด คนก็จะบอกว่า ไม่เห็นดีเลยท้องถิ่นนี้ เพราะฉะนั้นต่อไปก็ไม่ควรส่งเสริมเลย คนก็เสียกำลังใจ ขณะที่สิ่งดีมีตั้งแยอะแต่กลับไม่ปรากฏ ถ้าเราเอาสิ่งที่ดีๆมาส่งเสริมกัน มาทำให้ปรากฏ ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน คนที่ทำดีก็มีกำลังใจว่าเราทำดี มีคนเห็นคุณค่าจึงทำมากขึ้นหรือทำให้ดีขึ้นไปอีก คนอื่นๆได้เห็นหรือรู้ก็พยายามทำบ้าง ของดีๆก็จะมีมากขึ้นๆ คนในสังคมก็จะเห็น ว่าเขาทำได้ดี น่าจะส่งเสริมต่อ ถ้าข้อเท็จจริงเป็นเช่นนี้แล้วรัฐบาลไปบอกว่า ท้องถิ่นยังไม่พร้อมหรอก มีแต่ทุจริตคอรัปชั่น คนก็จะไม่เชื่อ ขณะนี้เนื่องจากข้อเท็จจริงไม่ปรากฎ คนจึงเชื่อตามข้อมูลที่เป็นข่าวซึ่งเสนอโดยคนที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์หรือคนที่อาจจะให้ข้อมูลโดยจงใจ เช่นไม่อยากให้ท้องถิ่นเติบโตเพราะต้องการรักษาอำนาจไว้ที่ส่วนกลาง หรือต้องการรักษาอำนาจไว้ที่ราชการส่วนภูมิภาค ซึ่งเป็นแขนขาของส่วนกลาง เช่นรักษาอำนาจไว้ที่ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ และข้าราชการส่วนภูมิภาคอื่นๆ ถ้าต้องการอย่างนี้ก็พยายามไปค้นหาว่ามีท้องถิ่นไม่ดีที่ไหนบ้างแล้วเอามาโพนทะนาว่า เห็นไหมเขายังไม่พร้อมเลย ต้องให้ราชการส่วนภูมิภาคดูแลต่อไปหรือดูแลมากขึ้น

นี่คือสิ่งที่นักพัฒนาต้องเข้าใจ และในสิ่งที่รัฐส่วนกลางหรือหน่วยงานราชการต้องเข้าใจคืออะไร

หลักทั่วไปคือ สังคมที่เข้มแข็งต้องมีท้องถิ่นที่เข้มแข็ง ท้องถิ่นเข้มแข็งมาจากการมีระบบการปกครองส่วนท้องถิ่นทีดี หมายถึงมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ดี และการจัดการส่วนท้องถิ่นนั้นก็จัดการได้ถนัดกว่าอำนาจหรือหน่วยงานที่ไปจากส่วนกลาง เพราะท้องถิ่นเขาเห็นตัวเห็นตน รู้ว่าอะไรเป็นอะไร ใครเป็นอย่างไร จะทำให้ดีขึ้นต้องทำอย่างไร ให้ได้ผลขนาดไหน จะติดตามประเมินผลก็ชัดเจน ฉะนั้นการปกครองส่วนท้องถิ่นถือว่าเป็นหัวใจในการสร้างความเข้มแข็งมั่นคงให้กับสังคม ซึ่งจะดีด้วยกันทั้งหมด คือท้องถิ่นดี สังคมทั่วไปดี ประเทศโดยรวมก็จะดี ถ้าท้องถิ่นดี

ฉะนั้นจึงควรสนองเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งรัฐธรรมนูญได้บอกเจตนารมณ์ไว้ชัดเจนแล้วว่า ท้องถิ่นสำคัญ ต้องส่งเสริมให้ท้องถิ่นเป็นตัวของตัวเอง จัดการด้วยตัวของตัวเอง หน้าที่รัฐบาลกลางคือการส่งเสริมท้องถิ่น ไม่ใช่ไปทำแทนท้องถิ่นหรือกล่าวหาท้องถิ่น ถ้าเห็นว่าท้องถิ่นมีปัญหาอะไรก็ต้องเข้าไปช่วยแก้ไข หรือช่วยสนับสนุนให้เขาแก้ไข ไม่ใช่เอามาเป็นข้ออ้างในการเก็บอำนาจไว้ ถ้ายิ่งเก็บอำนาจไว้ท้องถิ่นก็จะยิ่งอ่อนแอ พอท้องถิ่นอ่อนแอก็ยิ่งเอามาอ้างว่าเห็นไหมท้องถิ่นอ่อนแอ เลยกลายเป็นวงจรอุบาทว์ ถ้าท้องถิ่นอ่อนแอ ฐานสังคมอ่อนแอ สังคมไทยก็อ่อนแอ จะเกิดประโยชน์ก็เฉพาะคนที่มีอำนาจ คนที่มีอำนาจจะหาประโยชน์โดยมิชอบได้ง่ายถ้าประชาชนอ่อนแอ หรือสังคมอ่อนแอ แต่ถ้าสังคมแข็งแรงคนมีอำนาจจะถูกกำกับดูแลให้ต้องพยายามสร้างและรักษาประโยชน์ของส่วนรวม ไม่ใช่ประโยชน์ส่วนตนหรือของพรรคพวก

ท้องถิ่นเข้มแข็งนั้นมีอยู่แล้วและกำลังขยายมากขึ้นๆ เพราะฉะนั้นเพียงแต่ไปเชียร์คนที่เขาทำดีอยู่แล้ว เผยแพร่ให้มากขึ้นๆ ให้ความชื่นชมกับท้องถิ่นที่ดีๆ ไม่ว่าจะเป็นประชาชนดี ผู้นำดี หรือทั้งสองอย่าง ไปค้นหาเขา ไปเชียร์เขา สนับสนุนส่งเสริม ชื่นชม เผยแพร่ แล้วช่วยให้ท้องถิ่นเขาได้เป็นเครือข่ายกัน เพื่อที่เขาจะได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ร่วมกันจัดการในบางเรื่องที่เป็นประเด็นร่วม

หน่วยงานส่งเสริมต่างๆนี่เขาแยกไหมว่าจะส่งเสริมชุมชนหรือท้องถิ่น

ทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและชุมชนไปด้วยกัน เวลาส่งเสริมท้องถิ่นจะรวมทั้งชุมชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่ได้แยก คือถ้าส่งเสริมอย่างหนึ่งก็ไปช่วยอีกอย่างหนึ่ง หรือไม่ก็ส่งเสริมควบไปเลย อย่างที่ผมกล่าวไปแล้ว ที่เขาทำแผนแม่บทชุมชนพึ่งตนเอง เขาร่วมกันทั้ง 3 ส่วน คือชุมชน อบต. กำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน-ผู้ใหญ่บ้านก็คือส่วนของราชการส่วนภูมิภาค

หรือถ้ายกระดับขึ้นมาเป็นจังหวัด ขณะนี้มีหลายจังหวัดที่เขาเริ่มบริหารงานแบบบูรณาการ คือส่งเสริมให้ท้องถิ่นจัดการตนเอง มีแผนแม่บทอย่างที่ว่า ส่งเสริมให้ชุมชน อบต. กำนัน-ผู้ใหญ่บ้านทำงานร่วมกันแล้วมาบูรณาการกันถึงระดับจังหวัด หน่วยงานของจังหวัดก็ส่งเสริมหรือสนับสนุนหรือเชื่อมประสานนโยบายและมาตรการ หน่วยงานของจังหวัดคือหน่วยงานที่เป็นตัวแทนกระทรวง ทบวง กรม ทั้งหลายที่ส่วนกลาง มีหลายจังหวัดที่เขาเริ่มทำแบบนี้ ส่วนหนึ่งทำภายใต้ ศตจ. หรือ ศูนย์อำนวยการต่อสู้เพื่อเอาชนะความยากจน ที่ทำงานมาได้ 2 ปี มีการจดทะเบียนปัญหาความยากจน มีการแก้ปัญหาเรื่องที่ดิน เรื่องหนี้สิน เรื่องการทำมาหากินต่างๆ แต่โดยรวมก็คือเพื่อแก้ปัญหาความยากจน

จังหวัดที่พยายามทำเช่นนี้ คือพยายามแก้ปัญหาความยากจนแบบบูรณาการ โดยประชาชนมีบทบาทสำคัญ เขาได้ให้ความสำคัญกับชุมชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แล้วนำมาบูรณาการกันทั้งจังหวัด นับว่าเป็นเรื่องที่ดี ทำอยู่แล้วขณะนี้ 13 จังหวัดใน 4 ภูมิภาค กำลังจะขยายไปให้ครบทุกจังหวัดในที่สุด นี่ก็เป็นเรื่องดีๆที่เกิดขึ้น เป็นการร่วมมือรวมพลังระหว่างประชาชน ราชการส่วนท้องถิ่น และราชการส่วนภูมิภาค

อยากให้อาจารย์ช่วยสรุปปัจจัยที่จะช่วยสร้างนโยบายสาธารณะของท้องถิ่น

นโยบายสาธารณะระดับท้องถิ่น เริ่มจากการมีเป้าประสงค์ของท้องถิ่น ซึ่งอาจจะสรุปรวมอยู่ในคำว่า ท้องถิ่นอยู่เย็นเป็นสุข หรือท้องถิ่นมีสุขภาวะที่พึงปรารถนา นั่นคือเป้าประสงค์ของท้องถิ่น จากนั้นก็ต้องมีวิธีการที่จะบรรลุเป้าประสงค์ ซึ่งในการที่จะบรรลุเป้าประสงค์นี้ ปัจจัยสำคัญน่าจะได้แก่

ประการแรก ความเข้มแข็ง หรือความสามารถในการเรียนรู้และจัดการพัฒนาตนเองของชุมชนในท้องถิ่น

ประการที่ 2 การรวมตัวเป็นเครือข่ายของชุมชนต่างพื้นที่ ซึ่งจะช่วยให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกัน เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การพึ่งพาอาศัยกัน หรือการจัดการร่วมกัน จะช่วยยกระดับความรู้ความสามารถขึ้นไป รวมทั้งแพร่ขยายให้กว้างขวาง

ประการที่ 3 การทำงานร่วมกันระหว่างหลายๆฝ่ายในท้องถิ่น ได้แก่ ฝ่ายชุมชน ฝ่ายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และฝ่ายราชการส่วนภูมิภาค เป็นสำคัญ การทำงานร่วมกันจะช่วยให้การที่จะตระหนักถึงเป้าประสงค์ คิดหาแนวทางไปสู่เป้าประสงค์ และร่วมกันจัดการไปสู่เป้าประสงค์ สามารถทำได้ดีขึ้นสะดวกขึ้น ซึ่งการกำหนดเป้าหมายร่วมกัน และกำหนดวิธีการร่วมกัน ก็คือนโยบายสาธารณะของท้องถิ่นนั่นเอง แต่จะแปรรูปมาเป็นคำประกาศนโยบาย แปรรูปมาเป็นข้อบังคับหรือข้อกำหนดหรือข้อบัญญัติของท้องถิ่น หรือแปรรูปมาเป็นมาตรการหรือโครงการพัฒนาซึ่งรวมถึงการใช้งบประมาณต่างๆด้วย

ประการที่ 4 การมีนโยบายและมาตรการจากส่วนกลางที่เอื้ออำนวยต่อการเกิดสภาพที่กล่าวมาข้างต้น เพราะถ้ามีนโยบายและมาตรการจากส่วนกลางที่เอื้ออำนวยต่อการเรียนรู้ เอื้ออำนวยต่อการจัดการพัฒนาตนเองของชุมชนในท้องถิ่น เอื้ออำนวยต่อการเชื่อมโยงเครือข่ายระหว่างชุมชนต่างพื้นที่ เอื้ออำนวยต่อการทำงานร่วมกันระหว่างหลายๆฝ่ายในท้องถิ่น เหล่านี้จะช่วยท้องถิ่นทั้งสิ้น                ถ้ามีองค์ประกอบสำคัญ 4 อย่างนี้ น่าจะช่วยให้การกำหนดนโยบายระดับท้องถิ่น และความสามารถในการดำเนินการเพื่อให้บรรลุผลตามนโยบายเหล่านั้นสามารถทำได้ดีขึ้น

ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม

24 ส.ค. 49

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ  https://www.gotoknow.org/posts/46105

<<< กลับ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *