นักการธนาคาร ผู้นำขบวนการชุมชนไทย (คำนิยมและคำนำ)

นักการธนาคาร ผู้นำขบวนการชุมชนไทย (คำนิยมและคำนำ)


(คำนิยมและคำนำสำหรับบทความชุด “ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม : นักการธนาคาร ผู้นำขบวนการชุมชนไทย” ลงใน นสพ.สยามรัฐ ระหว่างวันที่ 20 พ.ย. 50 – 25 ธ.ค. 50 รวม 10 ตอน ซึ่งต่อมาได้จัดพิมพ์เป็นหนังสือโดย “สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.))

คำนิยม

มนุษย์ต่างจากสัตว์ที่มีจิตสำนึกรับผิดชอบชั่วดีได้

ในชีวิตของแต่ละคนล้วนต้องพึ่งคนอื่นและสิ่งอื่น ต้องพึ่งอากาศที่หายใจ แสงแดดที่ให้พลังงาน ต้นไม้ที่ให้ออกซิเจน ความร่มรื่น และอาหาร น้ำที่ให้ความชุ่มชื้นและเป็นส่วนประกอบของร่างกาย ต้องพึ่งชาวนา ต้องพึ่งคนทอผ้า ต้องพึ่งคนทำอาหาร ต้องพึ่งพ่อ แม่ ครูบาอาจารย์ และคนอื่นๆ อีกมากมายในสังคม

มนุษย์ควรมีปัญญาเห็นความเชื่อมโยงพึ่งพาอาศัยของตัวเรากับสรรพสิ่งและมีกตัญญูในหัวใจ ว่าเกิดมาแล้วต้องตอบแทนต่อธรรมชาติและสังคม ถ้าทุกคนมีแต่เอา ธรรมชาติและสังคมก็อยู่ไม่ได้ ฉะนั้นในความเป็นมนุษย์เราจึงมีหน้าที่ ที่จะให้หรือตอบแทนต่อธรรมชาติและสังคม ยิ่งเป็นบุคคลสาธารณะที่มีคนรู้จักมาก เช่น พระราชวงศ์ นักการเมือง ดารา นักกีฬา ฯลฯ ยิ่งต้องมีความรับผิดชอบสูง ในสมัยแห่งการสื่อสารใครทำอะไรหรือพูดอะไรก็รู้เห็นกันไปได้ทั่วบ้านทั่วเมือง ใครทำดีไม่ดีในที่สุดสาธารณะจะรู้ คนที่หวังดีต่อส่วนรวมด้วยความสุจริตใจจะได้รับความเชื่อถือไว้วางไจ ( Trust) จากสังคม ความเชื่อถือไว้วางใจเป็นทุนที่ยิ่งใหญ่มากที่เงินก็ชื้อไม่ได้ บุคคลสาธารณะจึงมีหน้าที่ในการทำให้ถูกต้อง ซึ่งจะทำให้อยู่ในฐานะที่จะทำประโยชน์ให้สังคมได้มาก

ผมรู้จักคุณไพบูลย์ วัฒนศิริธรรมและนายแพทย์พลเดช ปิ่นประทีป มาช้านานจนเชื่อได้สนิทใจว่าทั้งสองคนเป็นคนสุจริตที่หวังดีต่อบ้านเมือง ประกอบด้วยวิริยะอุตสาหะ ขันติธรรม และอหิงสธรรม

ในการทำงานเพื่อสังคมจะต้องฝ่าความเสียดทานมาก ต้องใช้ธรรมะพร้อมทั้งสุทธิ ปัญญา เมตตา และขันติ จึงจะสำเร็จประโยชน์ได้

คุณไพบูลย์ และคุณหมอพลเดช เป็นคนที่เข้าใจว่าการที่ประเทศของเรา เศรษฐกิจจะดี การเมืองจะดี และศีลธรรมจะดีนั้นอยู่ที่ “สังคมเข้มแข็ง” สังคมเข้มแข็งอยู่ที่ ชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็ง และความเป็นประชาสังคม ถ้าปราศจากความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่น และความเป็นประชาสังคมแล้ว ต่อให้เทศนาสั่งสอนหรือทำอย่างไรๆ เศรษฐกิจก็จะไม่มีวันดี การเมืองจะไม่มีวันดี และศีลธรรมจะไม่มีวันดี

เพราะตระหนักในข้อนี้ ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ซึ่งเคยเป็นนักการธนาคารจึงหันมาทุ่มเททำงานเพื่อส่งเสริมสังคมเข้มแข็ง หนังสือเรื่อง “ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม  : นักการธนาคารผู้นำขบวนการชุมชนไทย” ที่คุณหมอพลเดชเรียบเรียงขึ้นมาจากความบันดาลใจ ที่เห็นชีวิตและการทำงานของไพบูลย์ จะช่วยให้เห็นการทำงานบนเส้นทางสังคมเข้มแข็งของไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม

พี่น้องคนไทยครับ ประเทศไทยของเรานี้สร้างให้เป็นสวรรค์บนดินได้โดยไม่ยากเลยถ้าคนไทยเข้าใจเรื่องสังคมเข้มแข็ง ถ้าภายใน ๕ ปี จากนี้ไปเราช่วยกันส่งเสริมสนับสนุนให้ทั้ง ๗๐,๐๐๐ กว่าหมู่บ้าน และทั้ง ๗,๐๐๐ กว่าตำบลมีความเข้มแข็ง  อันหมายถึงฐานของสังคมเข้มแข็งเราจะสร้างชุมชนแห่งความพอเพียงและศานติสุขขึ้นเต็มประเทศ

คุณไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม และนายแพทย์พลเดช ปิ่นประทีป คือเพื่อนร่วมทางของพี่น้องคนไทยบนเส้นทางสังคมเข้มแข็ง ขอให้คนไทยประสบความสำเร็จในการสร้างสวรรค์บนดิน บนดินแดนอันบรรพบุรุษส่งมอบให้แก่เราผืนนี้ เพื่อลูกหลานของเราจะได้อยู่ร่วมกันด้วยความพอเพียงและศานติ  สืบไปชั่วกาลนาน

ประเวศ วะสี

๑๗ ธันวาคม ๒๕๕๐

คำนิยม

เมื่อ 30 ปีก่อน ขณะนั้นประเทศไทยเรามีปัญหาของการขาดโปรตีนและแคลลอรี่ในกลุ่มเด็กเล็ก โดยเฉพาะในชนบทที่ห่างไกล  ใครที่ไปเยี่ยมชนบท ก็มักจะพบเด็กขาดสารอาหารเป็นจำนวนมาก  เวลาพูดคุยให้ความรู้ชาวบ้านก็ทำได้ยาก  เนื่องจากพ่อแม่ของเด็ก  เห็นว่าลูกของตนเองผอมเท่ากับเด็กคนอื่นๆ ชาวบ้านไม่เข้าใจปัญหา คิดว่าเด็กผอมโดยธรรมชาติ  ประกอบกับในสมัยนั้นการสื่อสาร การเผยแพร่ความรู้เป็นไปอย่างจำกัด  หากต้องการแก้ปัญหาภาวะทุพโภชนาการ ในเด็กต้องดำเนินการอย่างบูรณาการ ทั้งทางด้านการศึกษา การสาธารณสุขการเกษตร  การส่งเสริมอาชีพ ซึ่งในแนวคิดนี้หมายถึงการมุ่งเน้นไปสู่การ “พัฒนามนุษย์” (Human Development) ซึ่งเป็นเป้าหมายที่สำคัญในการที่จะทำให้เด็กของเราเติบโต ไปเป็นเยาวชนที่มีคุณภาพของชาติต่อไป

ผมรู้จักคุณไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม เมื่อตอนที่ผมและคุณหมอสาคร ธนมิตต์ (ปัจจุบันคือ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิงคุณสาคร ธนมิตต์)  ได้ร่วมกันดำเนินโครงการ แก้ปัญหาภาวะทุพโภชนาการในเด็กเล็ก ที่ดำเนินการในจังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งเราเห็นตรงกันว่าการแก้ปัญหาภาวะทุพโภชนาการในเด็กเล็ก คือ จุดเริ่มของงาน Human Development เราทั้งสองจึงปรึกษากันว่าเราควรจะต้องให้องค์กรภาคีอื่นๆ เขามามีส่วนร่วม ขณะนั้นคุณไพบูลย์ เป็นผู้จัดการใหญ่ธนาคารออมสินเราได้ไปพบคุณไพบูลย์และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน และร่วมมือในการที่จะช่วยกันแก้ปัญหาภาวะทุพโภชนาการในเด็กเล็ก

คุณไพบูลย์ ถึงแม้จะเป็นนักการธนาคารโดยพื้นฐาน แต่ก็เป็นผู้ที่มีความสนใจ ในชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน สนใจในการที่จะส่งเสริมความเข้มแข็งของประชาชน ที่ต้องการให้ประชาชนได้พึ่งตนเอง ได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีสิ่งเหล่านี้ได้สะท้อนจากการทำงานในด้านต่างๆ  เมื่อคุณไพบูลย์พ้นจากตำแหน่งที่ธนาคารออมสิน และมาทำงานในฐานะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ก็มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนความเข้มแข็งของชุมชนในทุกๆ ด้าน

โครงการ “เด็กกินอิ่ม เรายิ้มได้” เป็นโครงการที่เกิดจากความร่วมมือของสถาบันวิจัยโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล จังหวัดศรีสะเกษ และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่มีเป้าหมายเพื่อต้องการให้มีการระดมทรัพยากรต่างๆ ทั้งภายใน และภายนอก จังหวัดศรีสะเกษให้มาลงทุนเด็กศรีสะเกษให้สามารถพึ่งตนเอง ในด้านอาหารและโภชนาการได้ คุณไพบูลย์ ซึ่งเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของ สสส. ก็ได้มีส่วนในการสนับสนุนให้โครงการประสบความสำเร็จและถือเป็นโครงการ ที่เป็นแบบอย่างให้พื้นที่อื่นๆ ได้ศึกษาเรียนรู้ต่อไป

ผมมีความเชื่อมั่นว่า คุณไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม นักการธนาคารที่ใช้ความรู้ด้านเศรษฐศาสตร์ มาประยุกต์ใช้ในงานพัฒนาคน  ในการที่จะสร้างเสริมความเข้มแข็งของชุมชนต้องการเห็นการบูรณาการความร่วมมือต่างๆ เพื่อร่วมกันแก้ปัญหาให้แก่ท้องถิ่น  โดยอยู่บนพื้นฐานของการพึ่งตนเอง ผมขอเป็นกำลังใจให้คุณไพบูลย์ ได้ดำเนินงานตามความมุ่งมั่น เพื่อร่วมกัน พัฒนามนุษย์ ( Human Development) ซึ่งเป้าหมายร่วมกันของเราทุกคนต่อไป

ศ.นพ.อารี  วัลยะเสวี

18 ธค.2550

คำนิยมและขอบคุณ

“หมอพลเดช” (นพ.พลเดช  ปิ่นประทีป) เขียนเรื่อง “ไพบูลย์  วัฒนศิริธรรม นักการธนาคาร ผู้นำขบวนการชุมชนไทย” โดยไม่ได้บอกหรือระแคะระคายให้ผมได้ทราบเลย  จนกระทั่งผมมาเห็นในรูปบทความที่ปรากฏในหนังสือพิมพ์สยามรัฐ  ซึ่งแยกลงเป็นตอนๆ ต่อเนื่องกันประมาณสัปดาห์ละ 2 ตอน ตั้งแต่วันที่ 20 พฤศจิกายน 2550

เมื่อมีโอกาสผมจึงถามหมอพลเดชเกี่ยวกับเรื่องนี้ ได้รับคำอธิบายว่า เหตุการณ์เจ็บป่วยด้วยโรคหัวใจของผม ทำให้หมอพลเดชรำลึกถึงความเกี่ยวพันที่มีกับผมมาประมาณครบ 9 ปีพอดี และเป็นความเกี่ยวพันอันเนื่องด้วยความพยามยามที่จะก่อให้เกิด “ชุมชนเข้มแข็ง” พร้อมกับการแก้ปัญหาความยากจนและอื่นๆ ในสังคมไทย

จากความรำลึกดังกล่าว หมอพลเดชจึงลงมือเขียนเรื่อง “ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม นักการธนาคาร  ผู้นำขบวนการชุมชนไทย” โดยตั้งใจให้ “…เป็นการสดุดีในความเสียสละอุทิศตนเพื่อสังคม…” ของผม ซึ่งในส่วนนี้ ผมต้องขอขอบคุณหมอพลเดชที่มีน้ำใจและให้ความเป็นกัลยาณมิตรต่อผมอย่างมากนอกเหนือไปจากการที่ได้ช่วยงานและร่วมงานกับผมมาเป็นเวลาเนิ่นนาน โดยเฉพาะในช่วงที่เราทั้งสองคนเข้ามาทำงานภายใต้รัฐบาลที่มีพลเอกสุรยุทธ์  จุลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี

อันที่จริง สาระหลักของเรื่อง “ไพบูลย์  วัฒนศิริธรรม นักการธนาคาร ผู้นำขบวนการชุมชนไทย” คือ การประมวล สรุป และวิเคราะห์ “พัฒนาการของขบวนการชุมชนไทย”อย่างเป็นขั้นเป็นตอน  โดยหมอพลเดชได้เชื่อมโยงบทบาทของผมเข้าไปในช่วงจังหวะและสถานการณ์ต่างๆ  ซึ่งผมต้องขอขอบคุณคุณหมอพลเดชที่วิเคราะห์ในเชิงให้ “เครดิต”หรือให้เกียรติกับผม โดยที่ในบางกรณีผมเองก็รู้สึกว่าอาจให้ “เครดิต” กับผมมากเกินไป  เพราะแท้ที่จริงแล้ว “พัฒนาการของขบวนการชุมชนไทย” ที่เกิดขึ้น เป็นผลมาจากความพยายามและบทบาทของบุคคล กลุ่ม องค์กร หน่วยงาน ฯลฯ จำนวนมากด้วยกัน ในขณะที่ผมเองเป็นเพียงหนึ่งในจำนวนบุคคลเหล่านั้น

“หมอพลเดช” เป็นแพทย์ที่อุทิศตนทำงานเพื่อมวลชนมาเป็นเวลานาน  ทั้งในฐานะข้าราชการสังกัดกระทรวงสาธารณสุข และในฐานะที่ได้รับการยืมตัวมาช่วยงานใน “ภาคประชาชน” (เป็นเลขาธิการสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา หรือ LDI ฯลฯ) หมอพลเดชเป็นนักเคลื่อนไหวทางสังคม พร้อมกับเป็นนักปฏิบัติ นักบริหารจัดการ นักคิด นักวิชาการ และนักเขียน  ที่มีความสามารถและมีคุณภาพมากคนหนึ่ง เขียนหนังสือได้กระชับ คม ลึก สละสลวย และรวดเร็ว ซึ่งความสามารถและคุณภาพดังกล่าว  เป็นเหตุผลสำคัญส่วนหนึ่งที่ทำให้ผมชักชวนให้หมอพลเดชมาช่วยงานรัฐบาลร่วมกับผม  ในช่วงเวลาตั้งแต่เดือนตุลาคม 2549 เป็นต้นมา

ผมเห็นว่าเรื่อง “ไพบูลย์  วัฒนศิริธรรม นักการธนาคาร ผู้นำขบวนการชุมชนไทย” ซึ่งที่จริงคือการสรุปวิเคราะห์ “พัฒนาการของขบวนการชุมชนไทย” นั้น น่าจะมีคุณค่าในฐานะเป็นเอกสารวิชาการชิ้นหนึ่งที่สั้น กระชับ น่าอ่าน น่าสนใจ เกี่ยวกับเรื่องที่มีความสำคัญมากในสังคมเรื่องหนึ่ง ได้แก่ เรื่อง “ขบวนการชุมชน” นั่นเอง ส่วนข้อที่ว่าผมมีบทบาทมากน้อยหรือสำคัญแค่ไหนอย่างไรในการสร้างเสริมขบวนการชุมชนไทย คงถือเป็นเรื่องของความคิดเห็นที่ย่อมมีได้ต่างๆ นานา และท่านผู้อ่านอาจมีความคิดเห็นที่ต่างไปจากหมอพลเดช  นั่นคือ อาจไม่เห็นด้วยเลยหรือเห็นด้วยเพียงบางส่วนก็ย่อมได้

อย่างไรก็ตาม  ผมเองต้องขอขอบคุณหมอพลเดชอีกครั้งหนึ่งในความปรารถนาดีและความเป็นกัลยาณมิตร  พร้อมกับขอชื่นชมความพยายามและความสามารถที่ได้ผลิตเอกสารเล่มกระชับซึ่งมีคุณค่าทางวิชาการ และน่าจะเป็นประโยชน์ต่อการขับเคลื่อนงานพัฒนาขบวนการชุมชนและสังคมที่หลายกลุ่มหลายฝ่ายมุ่งดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน  และคงจะพยายามดำเนินการต่อไปอีกนานในอนาคต

ไพบูลย์  วัฒนศิริธรรม

ธันวาคม  2550

คำนำผู้เขียน

ผมรู้จักกับอาจารย์ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม เป็นครั้งแรกเมื่อตอนที่ได้รับมอบหมายจากอาจารย์หมอประเวศ วะสี ให้ไปนำเสนอยุทธศาสตร์การทำ 80,000 หมู่บ้านให้เข้มแข็ง ต่อที่ประชุมผู้ทรงคุณวุฒิกลุ่มหนึ่ง จำได้ว่าวันนั้นคือวันที่ 22 ตุลาคม 2541 เขาประชุมกันที่บริษัทบางจากปิโตรเลียม และที่ประชุมดังกล่าวมีอาจารย์ผู้ใหญ่หลายท่าน อาทิ :- ประเวศ วะสี, สุเมธ ตันติเวชกุล, ธรรมรักษ์  การพิศิษฏ์, ไพโรจน์  สุจินดา, ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม, วิจารณ์ พานิช, ศรีสว่าง พั่ววงศ์แพทย์, โสภณ สุภาพงษ์, สงวน นิตยารัมภ์พงศ์, เอนก นาคะบุตร, ฯลฯ

เราทำงานผูกพันใกล้ชิดเสมือนพี่น้องและเพื่อนร่วมแนวคิด ท่านบุกเบิกงานชุมชนเข้มแข็ง ส่วนผมสนใจในงานประชาสังคม. จนเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2549 ท่านได้เข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเพื่อถวายสัตย์ปฏิญาณในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ผมจึงได้ขันอาสาร่วมทีมงานรัฐมนตรี การทำงานช่วยท่านในฐานะเลขานุการรัฐมนตรีในช่วงแรก และฐานะรัฐมนตรีช่วยว่าการฯ ในเวลาต่อมานั้น ทำให้ผมยิ่งเห็นความเอาจริงเอาจังที่เสมอต้นเสมอปลาย และความทรหดอดทนของท่านได้อย่างเด่นชัดที่สุด

การป่วยกะทันหันด้วยภาวะฉุกเฉินทางหัวใจของท่านในขณะประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2550 อันเป็นวันครบรอบ 1 ปี ของการร่วมรัฐบาลพอดีนั้น ได้รับการแพร่ภาพและรายงานข่าวเป็นการใหญ่ตลอดสัปดาห์โดยผ่านโทรทัศน์และสื่อสิ่งพิมพ์ คอลัมนิสต์ต่างพากันกล่าวขานถึงและยกย่องท่านว่าเป็นรัฐมนตรีที่ขยัน ทำงานหนัก และมีผลงานมากในรัฐบาลชุดนี้ ซึ่งผมถือว่านี่เป็นประกาศนียบัตรที่รับรองว่าท่านประสบความสำเร็จในการทำงานร่วมรัฐบาลครั้งนี้แล้วโดยพื้นฐาน ทั้งๆที่ท่านทำงานได้เพียง 12 เดือน เพราะงานพัฒนาสังคมและชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนที่ท่านรับผิดชอบในฐานะรองนายกรัฐมนตรีนั้นเป็นงานที่ไม่อาจเห็นผลสำเร็จได้ในระยะเวลาอันสั้น.

ท่านสามารถผ่านวิกฤตสุขภาพคราวนี้แบบเส้นยาแดงผ่าแปด และพักรักษาตัวเพียงแค่ 2 สัปดาห์ก็กลับเข้ามาเริ่มประชุม ครม. อีกครั้งเมื่อวันที่ 22  ตุลาคม 2550 สิ่งทั้งหลายที่กล่าวมาทำให้ผมเกิดแรงบันดาลใจที่จะเขียนบทความชิ้นนี้เพื่อเป็นการสดุดีในความเสียสละอุทิศตนเพื่อสังคมอย่างไม่รู้เหน็ดเหนื่อยของท่าน โดยพยายามประมวลภาพบทบาทและผลงานอันโดดเด่นให้สาธารณชนได้รับรู้ และให้อนุชนรุ่นหลังได้ศึกษาเป็นแบบอย่าง.

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากเรื่องราวเกี่ยวกับชีวิต ความคิด และผลงานโดยละเอียดของท่านได้มีผู้เขียนถึง และบันทึกไว้ในโอกาสต่างๆอยู่แล้ว บทความชิ้นนี้จึงมุ่งเสนอเฉพาะบางด้านที่เกี่ยวกับงานชุมชนท้องถิ่นที่ท่านมีบทบาทอย่างสำคัญเท่านั้น

ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าผู้อ่านและผู้สนใจทุกท่านจะได้รับข้อมูล แง่คิด และแรงบันดาลใจบ้างตามสมควร

พลเดช  ปิ่นประทีป

22  ตุลาคม  2550

 

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/157964

<<< กลับ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *