จดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรี เรื่อง “การนำสันติสุขและความปลอดภัยกลับสู่จังหวัดชายแดนภาคใต้”

จดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรี เรื่อง “การนำสันติสุขและความปลอดภัยกลับสู่จังหวัดชายแดนภาคใต้”


กราบเรียน            ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี

ด้วยสังคมไทยมีปัญหาความขัดแย้งเกิดขึ้นมากมาย  แต่ความขัดแย้งที่รุนแรงที่สุดเกิดในจังหวัดชายแดนภาคใต้ (จชต.) โดยในช่วงเวลากว่าเจ็ดปีที่ผ่านมา มีผู้เสียชีวิตกว่าสี่พันคนแล้วนั้น  ข้าพเจ้า คณะบุคคลตามรายชื่อข้างท้ายนี้ เห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งกับนโยบายการเร่งนำสันติสุขและความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินกลับคืนสู่พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของรัฐบาล  และเพื่อให้การดำเนินนโยบายดังกล่าวเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ข้าพเจ้าจึงมีข้อเสนอแนะ ดังต่อไปนี้

  1. ในการจัดการความขัดแย้งใน จชต. ที่ซับซ้อนมากนั้น ควรมีการจำแนกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง กระบวนการที่จะร่วมกันพิจารณา เนื้อหาสาระ จังหวะเวลาและขั้นตอน และการตัดสินใจทางการเมือง ปัจจุบันมีโอกาสที่ดีที่จะขับเคลื่อน  ด้วยรัฐบาลได้แสดงวิสัยทัศน์และปณิธานทางการเมือง และประชาชนมีความตื่นตัวในทางการเมืองและความยุติธรรมมากขึ้น  ในเบื้องต้นรัฐบาลจึงควรสนับสนุนกระบวนการที่ดี ที่ทุกภาคส่วนจะมีส่วนร่วมพิจารณาเนื้อหาสาระ เพื่อนำไปสู่การตัดสินใจทางการเมือง และการดำเนินงานในจังหวะเวลาที่เหมาะสม มากกว่าที่รัฐบาลจะตัดสินใจและดำเนินการฝ่ายเดียว
  2. ในการส่งเสริมการกระจายอำนาจการปกครองส่วนท้องถิ่น ในรูปแบบที่สอดคล้องกับลักษณะพื้นที่โดยไม่ขัดกับรัฐธรรมนูญนั้น  รัฐบาลควรพิจารณาแต่งตั้งคณะกรรมการศึกษาเรื่องการจัดการตนเองของจังหวัด ซึ่งแม้จะเน้น จชต. แต่ก็รวมถึงจังหวัดอื่น ๆ ด้วย  โดยคณะกรรมการฯ ควรเสนอรูปแบบทางเลือกหลายรูปแบบเพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการพิจารณาในลำดับต่อไป
  3. ในการมีส่วนร่วมตามข้อ 2. นั้น รัฐบาลควรสนับสนุนกระบวนการสานเสวนาในแนวกว้างและแนวลึก ในพื้นที่และนอกพื้นที่ และให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวาง โดยที่ภาคประชาสังคมอาจทำหน้าที่เป็นวิทยากรกระบวนการ และสื่อสารมวลชน โดยเฉพาะส่วนที่เป็นของรัฐ ช่วยนำเสนอการใช้เหตุผลของฝ่ายต่าง ๆ สู่การพิจารณาของสาธารณชน
  4. ในการนำสันติสุขกลับคืนมาและลดการใช้ความรุนแรงนั้น รัฐบาลควรสนับสนุนการพูดคุยกับผู้เห็นต่าง โดยให้ความสำคัญแก่การพูดคุยนี้อย่างต่อเนื่องและจริงจัง และใช้หลาย ๆ ช่องทางเท่าที่จะเป็นไปได้ รวมทั้งอาศัยความร่วมมือจากหลายฝ่าย ทั้งภาครัฐและนอกภาครัฐ และรวมถึงการขอความร่วมมือจากมิตรประเทศ แต่ควรใช้กระบวนการที่คล้ายการทูตแบบเงียบ ๆ และใช้ความระมัดระวัง มิให้มีการใช้ประโยชน์ในการยกระดับความขัดแย้งสู่สากล

จึงกราบเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณาและดำเนินการต่อไปด้วย จักขอบพระคุณยิ่ง

ขอแสดงความนับถืออย่างยิ่ง

นายโคทม  อารียา                              อาจารย์สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา ม.มหิดล

นายแพทย์วันชัย  วัฒนศัพท์            ผู้อำนวยการหลักสูตรการแก้ปัญหาความขัดแย้ง  สถาบันพระปกเกล้า

นายไพบูลย์  วัฒนศิริธรรม              ประธานมูลนิธิหัวใจอาสา

 

และในนามของ

  1. นายจอม  เพชรประดับ                              สื่อมวลชน
  2. นางสาวรุ่งรวี  เฉลิมศรีภิญโญรัช            International Crisis Group
  3. นางสาวพรเพ็ญ  คงขจรเกียรติ                 มูลนิธิผสานวัฒนธรรม
  4. นายกรรชิต  สุขใจมิตร                               มูลนิธิกองทุนไทย
  5. นางสาวราณี  หัสสรังสี                              คณะทำงานวาระทางสังคม สถาบันวิจัยสังคม  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  6. นางสาวประทับจิต  นีละไพจิตร             มูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพ
  7. นายเอกราช  ซาบูร์                                      มูลนิธิทรัพยากรเอเชีย
  8. พันเอกเอื้อชาติ  หนุนภักดี                        นักศึกษาหลักสูตรเสริมสร้างสังคมสันติสุข   สถาบันพระปกเกล้า
  9. นายเพิ่มศักดิ์  มกราภิรมย์                         สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา
  10. นายเอกพันธุ์  ปิณฑวณิช                          สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา
  11. นางสาวใจสิริ  วรธรรมเนียม                    สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา
  12. นายพลธรรม์  จันทร์คำ                              สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา
  13. นางสาวศิริพร  เพ็งจันทร์                          สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา

อ้างอิง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาย ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ใน ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
เว็บไซต์ ต้นฉบับ https://www.gotoknow.org/posts/476482

<<< กลับ

 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *